วันที่ 21 มิถุนายน 2564 แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 แถลงสถานการณ์โควิด-19 ชุมชนมัรกัส อำเภอบ้านเปาะยานิ จังหวัดยะลา ที่มีโรงเรียนและสถานประกอบศาสนาพิธีว่า ปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อคลัสเตอร์นี้ 402 ราย แพร่กระจายรวม 12 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส 111 รา ยะลา 102 ราย สตูล 46 ราย ปัตตานี 46 ราย สงขลา 36 ราย กระบี่ 18 ราย พัทลุง 13 ราย นครศรีธรรมราช 10 ราย สุราษฎร์ธานี 9 ราย พังงา 5 ราย ตรัง 3 ราย และภูเก็ต 3 ราย โดยขณะนี้ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กำลังเร่งหาข้อสรุปเชื้อกลายพันธุ์ในจังหวัดทางภาคใต้ คาดว่าจะได้ผลสรุปในสัปดาห์นี้
แพทย์หญิงอภิสมัย กล่าวว่า รายงานพบผู้ป่วยที่มีอาการป่วยรายแรก เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน แต่จากการสอบสวนโรค คาดว่าผู้ติดเชื้อรายแรกน่าจะพบเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม รายละเอียดพบว่า ชุมชนมีประชากร 3-4 พันราย ในจำนวนนี้เป็นนักเรียน 500 รายจาก 17 จังหวัด นักเรียนมีการรวมกลุ่มรับประทานอาหาร และทำกิจกรรมพิธีศาสนา โดยไม่สวมหน้ากากอนามัย ใช้ถาดอาหารและแก้วน้ำร่วมกัน ขณะนี้ทางพื้นที่จัดการปิดโรงเรียน พื้นที่เสี่ยง และสอบสวนโรค คัดกรองเชิงรุกในชุมชน ออกประกาศให้ผู้ที่สงสัยว่าเกี่ยวข้องกับนักเรียนหรือชุมชน ให้มารายงานกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือฝ่ายปกครองในพื้นที่ เพื่อรับการตรวจหาเชื้อ นอกจากนั้นประสานไปยังทุกจังหวัด เพราะเมื่อปิดโรงเรียน นักเรียนก็เดินทางกลับบ้าน จึงเร่งประสานไปยังจังหวัดปลายทางให้รับทราบข้อมูล เฝ้าระวังสอบสวนโรค และต้องทำความเข้าใจกับประชาชนว่า ระยะนี้จะเห็นการเดินทางข้ามพื้นที่บ่อย และพฤติกรรมเสี่ยง การรวมกลุ่ม ดังนั้นต้องมีการเฝ้าระวังเข้มงวด
แพทย์หญิงอภิสมัย ระบุอีกว่า ที่ประชุม ศบค. หารือกรณีที่โรงเรียนปิดตัวลง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในยะลา แต่ยังพบในพิษณุโลก และมหาสารคาม ต้องมีการทบทวนมาตรการ เรื่องการพิจารณาปิดโรงเรียนต้องหารือร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดก่อนที่จะมีการประกาศปิด และเมื่อปิดแล้วต้องมีมาตรการ มีระบบดูแล ทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง จังหวัดปลายทาง เช่น กรมควบคุมโรค เสนอว่า ปิดโรงเรียนแล้วต้องเดินทางกลับบ้าน ให้กลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงและต่ำ ให้กักตัวที่บ้าน ไม่ให้พบกับผู้อื่นหรือเข้าตลาดชุมชน เพราะจะกลายเป็นความเสี่ยง ขณะนี้ได้แจ้งไปยังจังหวัดต้นทางและปลายทางแล้ว เบื้องต้นทุกองค์กรให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี อย่างไรตามมีความเป็นห่วงอีกอย่างคือ ในเดือนกรกฎาคม จะมีเทศกาลวันตรุษ อีฎิ้ลฟิตริ ซึ่งจะมีการร่วมกันจัดเลี้ยง เดินทางข้ามจังหวัด ซึ่งนายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และให้ประชาชนติดตามประกาศของจังหวัดอย่างใกล้ชิดเช่นกัน ทั้งนี้ขอให้ทุกคนเข้าใจและไม่เกิดอคติกับผู้ติดเชื้อ