คนหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรงสานต่อโคกหนองนาครอบครัว เปิด “นาภูคาเฟ่” กลางเทือกเขาภูพาน รองรับวิถีท่องเที่ยวเชิงเกษตร ชูโฮมสเตย์กลางทุ่ง อาหารอร่อยผลผลิตจากเกษตรออแกนิก เรียนรู้วิถีโคกหนองนา มุดเล้าเก็บไข่ไก่ ปีนต้นผักหวานป่าอายุ 40 ปี ปั่นจักรยานชมวิวเกษตรครบวงจร พื้นที่กว่า 80 ไร่
ที่บ้านเลขที่ 199 หมู่ 1 บ้านนาบอน ตำบลนาบอน อำเภอคำม่วง จ.กาฬสินธุ์ ที่ตั้งของศูนย์เกษตรอินทรีย์เพชรจินดา ซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้ ฝึกอบรม ชาวโคกหนองนา จ.กาฬสินธุ์ กว่า 2,000 ราย ปัจจุบันนอกจากจะเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้โคกหนองนา เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร แหล่งผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ปลอดสารเคมี ได้ถูกพัฒนาจากรุ่นลูกปรับเปลี่ยนให้เป็นที่จำหน่ายเครื่องดื่มและอาหารอร่อย บริการนักท่องเที่ยวและนักเดินทางที่แวะเวียนมาตลอดทั้งวันภายใต้ชื่อ นาภูคาเฟ่ โดยศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์เพชรจินดา ที่มีนายเพชรินทร์ วาดสีดา อายุ 30 ปี เป็นผู้บริหาร ซึ่งลงมือทำเองทั้งเครื่องดื่มเย็น ร้อน มีบริการเมนูอาหารเพื่อสุขภาพหลายรายการ รับประกันอร่อยทุกเมนู มีพี่เลี้ยงเป็นส่วนราชการอำเภอคำม่วงบูรณาการร่วมกันทั้ง พัฒนาชุมชน เกษตร ประมง ปศุสัตว์ และส่วนราชการต่าง ๆ ในระดับอำเภอและจังหวัด สนับสนุน จนทำเป็นจุดเช็คอินยอดฮิตอีกแห่ง ของ จ.กาฬสินธุ์ มีนักเดินทางแวะเวียนไปใช้บริการอย่างต่อเนื่อง
นาภูค่าเฟ่ หรือ ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์เพชรจินดา ตั้งอยู่กลางหุบเขาเทือกเขาภูพาน ทัศนียภาพรอบ ๆ จะมองเห็นทิวเทือกเขาโอบล้อม มีเนื้อที่ทั้งหมด 80 ไร่ แบ่งสัดสวน 20 ไร่ เป็นโคกหนองนา 5 ไร่ จัดสร้างเป็นคาเฟ่ บริการอาหารเครื่องดื่ม ห้องประชุม อบรมสัมมนา และโฮมสเตย์ รองรับนักเดินทาง 20 – 50 คน ส่วนที่เหลือมีทั้งนา หนองน้ำ และป่าไม้ยืนต้น โดยส่วนของคาเฟ่ ได้ตกแต่งในแบบอีสานอาคารผู้ไทย แยกส่วนบริการเครื่องดื่มและโซนรับประทานอาหาร กับเมนูยอดนิยมทั้งอเมริกาโน่มะพร้าวอ่อน ปลานึ่งตำแจ่วผู้ไทย ตำทะเล ต้มไก่บ้าน และตำลาวแบบแซ่บนัวส์ กับราคาเบา ๆ นอกจากนี้ยังสามารถจองโฮมสเตย์และร่วมทำกิจกรรมกับเจ้าบ้านได้มีทริปเบา ๆ หลากหลายทั้งเรียนรู้วิถีโคก หนอง นา เก็บไข่ในเล้า ลอดซุ้มมัลเบอรี่ เช็คอินสะพานแขวน และปั่นจักรยานเลาะชมทุ่ง
นายเพชรินทร์ วาดสีดา หรือน้องเพชร กล่าวว่า ครอบครัวเริ่มทำโคก หนอง นา มาหลายปีโดยแม่ได้ไปเรียนรู้กับ อ.ยักษ์ และกลับมาทำในที่ตัวเอง มีรายได้ตลอดทั้งปีในอาชีพของเกษตรกร ขนกระทั่งสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้เลือกเอาศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์เพชรจินดา เป็นสถานที่ฝึกอบรมบ่มเพาะความรู้ของกลุ่มโคกหนองนา จ.กาฬสินธุ์ ได้มีการจดและจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ในส่วนตัวชื่นชอบเรื่องการชงชา กาแฟ จึงได้เรียนรู้และเปิดเป็นคาเฟ่เล็ก ๆ ใช้ชื่อ นาภู คาเฟ่ เพราะสถานที่ตั้งเป็นนาอยู่กลางเทือกเขาภูพาน วัตถุดิบในร้านอาหาร 80% มาจากผลผลิตภายในโคก หนอง นา ที่ช่วยลดต้นทุนได้อย่างมาก ที่สำคัญปลอดภัยไร้สารเคมีแน่นอน แม้จะยังเป็นช่วงสถานการณ์โควิด19 รุนแรง และอยู่กลางเทือกเขาภูพาน ที่ห่างไกล นาภูคาเฟ่ และศูนย์เกษตรฯ ยังมีรายได้รายวันต่อเนื่อง เฉลี่ยวันละ 3,000 – 5,000 บาท ต่อวัน
“คาเฟ่เล็ก ๆ แต่นักท่องเที่ยวนักเดินทางแวะเวียนมาตลอดทั้งวัน เป็นธุรกิจครัวเรือนที่มีแรงงานช่วยกันเพียง 5 คน ทั้งชงชา กาแฟ และอาหาร สุดท้ายต้องลาออกจากครูลูกจ้างมาทำคาเฟ่เต็มตัว ในขณะนี้ถือว่าอยู่ตัวมีรายได้หมุนเวียนทุกวัน นอกเหนือจากจากนั้นยังมีรายได้จากโฮมสเตย์ ที่จะเปิดเป็นทริป แบบ 2 วัน 1 คืน หัวละ 200 บาท และ 3 วัน 2 คืน หัวละ 400 บาท ไม่รวมค่าอาหาร แต่สามารถเที่ยวชมสวน ร่วมปลูกต้นไม้ ที่โคก หนอง นา กิจกรรมปั่นจักรยานเข้าสวนฟรีซึ่งได้จัดจักรยานไว้รองรับรับนักท่องเที่ยวไว้จำนวนมาก เป็นกิจกรรมยอดนิยมที่หลายคนชื่นชอบ ทั้งที่มาแบบครอบครัว และแบ็กแพ็ค อีกจุดเช็คอินคือสะพานข้ามห้วยที่มักจะเป็นไฮไลท์หลายคนชื่นชอบมาถ่ายภาพ อย่างไรก็ตามยังคงจะพัฒนาคาเฟ่กลางนาในเทือกเขาภูพานแห่งนี้ไปเรื่อย ๆ เพื่อจอบโจทย์คนทุกเพศทุกวัย” นายเพชรินทร์ กล่าว
นายอภิชาติ คำตานิตย์ พัฒนาการอำเภอคำม่วง กล่าวว่า เดิมศูนย์เกษตรอินทรีย์เพชรจินดา เป็นศูนย์บ่มเพาะอบรมเครือข่ายโคก หนองนา ภายใต้นโยบายของรัฐบาล เป็นเรื่องของเกษตรที่ปรับพื้นที่ให้เข้ากับภูมิศาสตร์เพื่อให้เกิดสมดุลในพื้นที่เกษตรกร และมีการต่อยอดโดยรุ่นลูก “เพชรจินดา” จากศูนย์เกษตรอินทรีย์ ในวันนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ สถานที่พักผ่อน จากอากาศในเทือกเขาภูพาน แหล่งอาหารเครื่องดื่มอร่อย และเป็นสถานที่ท่องเที่ยว จากเดิมที่แม่บุญเรือง วาดสีดา ได้ทำเกษตรเพียงทางเดียว มาถึงรุ่นลูกวิถีเกษตรยังสานต่อ และต่อยอดด้วยการสร้างอาชีพสร้างรายได้จากงานท่องเที่ยว งานบริการด้านอาหารและเครื่องดื่ม
“ศูนย์เกษตรอินทรีย์เพชรจินดา หรือ นาภูคาเฟ่ เป็นศูนย์เรียนรู้ของหน่วยงานต่างๆในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วยเช่นปฎิรูปที่ดิน (พด.) , ประมง, ปศุสัตว์, เกษตรและศูนย์วิจัยพันธุ์ข้าว หน่วยงานเหล่านี้มีงบประมาณไปสนับสนุนให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของหน่วยงาน ซึ่งเป็นการบูรณาการระหว่างเกษตรกร และหน่วยงานภาครัฐที่เกิดผลสัมฤทธิ์ อีกทั้งยังเป็นการทำธุรกิจในแนวทางวิถีเกษตรผสมผสานกับการแบ่งปันแบบเอื้ออาทร พร้อมจะเป็นผู้ให้ถ่ายทอดความรู้ และพร้อมให้บริการอย่างดี สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจอยากแวะเวียนมาเที่ยวรับประทานเครื่องดื่มหรืออาหารอร่อย ๆ หรือจะมาเรียนรู้ ศึกษาดูงานแบบคณะใหญ่ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานพัฒนาชุมชน อ.คำม่วง หรือที่ศูนย์เกษตรอินทรีย์เพชรจินดา ได้ที่ 0960237765 และ 087-225-4468” นายอภิชาติ กล่าว
ภาพ/ข่าว ชมพิศ ปิ่นเมือง จ.กาฬสินธุ์