ตามต่อเนื่องกับปัญหาการคัดเลือกเอกชน ในการจัดให้เช่า/บริหาร ระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ซึ่งถือเป็นจุดสำคัญในการดูแลรับผิดชอบ พื้นที่หลัก ๆ ประกอบด้วย เขตจังหวัด ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี , ระยอง ซึ่งตามสัญญาสัมปทานเดิม บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด หรือ อีสท์ วอเตอร์ คือ ผู้รับผิดชอบโครงการ ในกรอบระยะเวลาโครงการ 30 ปี หรือ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2537 ถึง 31 ธันวาคม 2566 ภายใต้ความรับผิดชอบการดูแลเรื่องระบบน้ำ ในพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก ซึ่งมีความสำคัญโดยตรงต่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC
เพราะหลังจากที่ศาลปกครอง มีคำสั่งเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2565 ยกคำขอเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราว ของอีสท์ วอเตอร์ เพื่อรอการพิพากษาคดีแล้ว โดยให้เหตุผลประกอบว่า
1.ยังรับฟังไม่ได้ว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้อง ที่แจ้งยกเลิกการคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนเอกชน เพื่อบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ลงวันที่ 16กรกฎาคม 2564 และประกาศเชิญชวนเอกชน เพื่อบริหาร และดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ลงวันที่ 10 กันยายน 2564 เป็นคำสั่งที่ไม่น่าจะชอบด้วยกฎหมาย
2.กรณีผู้ฟ้องคดีอ้างว่าได้รับความเดือดร้อนเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การแก้ไขเยียวยานั้น พิจารณาแล้วเห็นว่า โครงการที่พิพาทในคดีนี้ ผู้ถูกฟ้องทั้งสาม ประกอบด้วย 1. คณะกรรมการคัดเลือกฯ 2. กรมธนารักษ์ และ 3. คณะกรรมการที่ราชพัสดุ
เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และ เป็นหน่วยงานทางปกครองใช้อำนาจหน้าที่ ในการคัดเลือกเอกชนเข้ามาเป็นคู่สัญญา ในการบริหารและดำเนินการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก โดยอาศัยอำนาจตามพ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2562 กฎกระทรวงการจัดหาประโยชน์ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2564 และ ระเบียบการกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการคัดเลือกเอชนเพื่อจัดหาประโยชน์ที่ราชพัสดุ ที่มีราคาเกินห้าร้อยล้านบาท พ.ศ. 2564 โดยมิได้ใช้อำนาจตามพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 จึงมิอาจนำมาตรา 119 แห่งพ.ร.บ.ดังกล่าว มาบังคับใช้แก่การนี้ได้
และถึงแม้ต่อมาจะได้มีการลงนามเพื่อเข้าทำสัญญาในโครงการที่พิพาทแล้ว แต่หากปรากฎว่า การดำเนินการเพื่อคัดเลือกคู่สัญญาไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลย่อมพิจารณาเพิกถอนการดำเนินการดังกล่าวได้
3.หากผู้ฟ้องคดีเห็นว่าได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม ผู้ฟ้องคดีก็ชอบจะใช้สิทธิฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ให้ชดใช้ค่าเสียหายได้
ดังนั้น เมื่อคำขอวิธีการชั่วคราวก่อนคำพิพากษาของผู้ฟ้องคดี ไม่เข้าเงื่อนไขที่ศาลจะมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับด้วยเหตุดังกล่าวแล้ว ศาลจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การทุเลาการบังคับคำสั่งทางปกครองที่พิพาทนั้น ไม่เป็นอุปสรรคแก่การบริหารงานของรัฐหรือแก่การบริการสาธารณะหรือไม่ เพราะมิได้ทำให้ผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม กับคำสั่งศาลปกครองดังกล่าว มีข้อสังเกตุพิจารณาประกอบว่า แม้ศาลจะยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว กรณีที่บอร์ดที่ราชพัสดุ มีมติให้กรมธนารักษ์ ดำเนินการเซ็นสัญญากับบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง ตามผลการประมูลครั้งที่ 2 แล้วก็ตาม แต่ในหน้า 13 ของคำสั่งเกี่ยวกับการวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา มีข้อความสำคัญ ระบุว่า คำร้องของอีสท์ วอเตอร์ เรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์ตามประกาศเชิญชวน ฉบับลงวันที่ 10 กันยายน 2564 ถือเป็นข้อเท็จจริงที่ศาลต้องพิจารณาว่า มีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปตามหลักเกณฑ์เดิมอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่
แปลตามตัวอักษร คือ ท้ายสุดการตัดสินจะดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด ต้องรอคำวินิจฉัยในคดีหลักที่อีสท์ วอเตอร์ ยื่นคำร้องและศาลปกครองรับคำฟ้องไว้พิจารณา ตั้งแต่ เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 กรณีคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนฯ ซึ่งแต่งตั้งโดยกรมธนารักษ์ มีคำสั่งยกเลิกการคัดเลือกเอกชน เพื่อบริหารและดำเนินกิจการ ระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ซึ่งปรากฎว่า อีสท์ วอเตอร์ เป็นผู้ชนะการประมูลหรือการคัดเลือกเอกชน ครั้งที่ 1 อันเป็นเหตุให้ อีสท์ วอเตอร์ ได้รับความเสียหาย