นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมแถลงข่าว “Update การระบาดของสายพันธุ์ Delta (อินเดีย) และจะมีผลกระทบต่อการได้รับวัคซีนหรือไม่” ณ ห้องประชุม 110 อาคาร 100 ปี การสาธารณสุขไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.นนทบุรี ว่า กรมวิทย์ฯ มีการเฝ้าระวังทุกสัปดาห์ กว่า 300 ตัวอย่าง หลักๆ จะมีการเก็บตัวอย่างมาจากพื้นที่กรุงเทพฯ และพื้นที่ที่สนใจ โดยจํานวนผู้ติดเชื้อที่พบจากการจำแนกตามสายพันธุ์สำคัญ ในรอบวันที่ 14 -20 มิ.ย ที่ผ่านมานั้น พบว่า สายพันธุ์อัลฟ่า พบเพิ่ม รวม 1,113 ราย โดยกรุงเทพฯ พบมากที่สุดถึง 387 ราย ทำให้ยอดสะสมสุ่มตรวจตั้งแต่การระบาดระลอกเดือนเมษายนจนถึงปัจจุบัน พบ 5,641 ราย หรือ คิดเป็นร้อยละ 88.93
“สายพันธุ์เดลต้า” พบเพิ่ม 170 ราย มากสุด ในกรุงเทพฯ พบเพิ่ม 89 ราย รองลงมาคือเขตสุขภาพที่4 จำนวน 65 ราย เขตสุขภาพที่ 8 จำนวน 10 ราย มีความเชื่อมโยงกับกรุงเทพฯ โดยเฉพาะในแคมป์คนงานก่อสร้าง เขตสุขภาพที่ 9 จำนวน 3 ราย เขตสุขภาพที่ 1 จำนวน 2 ราย และเขตสุขภาพที่ 5 จำนวน 1 ราย ทำให้ยอดสะสมสุ่มตรวจตั้งแต่การระบาดระลอกเดือนเมษายนจนถึงปัจจุบัน พบสายพันธุ์เดลต้า 664 ราย หรือ คิดเป็นร้อยละ 10.4 7
“สายพันธุ์เบต้า” พบเพิ่ม 7 ราย ในพื้นที่ภาคใต้ แบ่งเป็น 2 ราย ที่ จ.ภูเก็ต เป็นนักเรียนที่กลับมาจากโรงเรียนมัรกัสจังหวัดยะลา โดยในเคสโรงเรียนนี้ พบผู้ติดเชื้อโควิดกว่าครึ่ง ซึ่งเข้าสู่กระบวนการรักษาที่สถานพยาบาลเรียบร้อยแล้ว จ.ปัตตานี 4 ราย จ.ยะลา 1 ราย รวม ยอดสะสม 38 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 0.60 ทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการรักษาเป็นที่เรียบร้อย โดยที่พบเพิ่มส่วนใหญ่มาจากชุมชน จ.ยะลา แต่จะมีความเชื่อมโยงจากจ.นราธิวาส หรือไม่ ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ต้องไปถอดรหัสพันธุกรรม เพื่อหาความเชื่อมโยงที่แน่ชัดต่อไป
สรุปได้ว่า “สายพันธุ์เดลต้า” หรือ “สายพันธุ์อินเดีย” เริ่มมีสัดส่วนมากขึ้น ร้อยละ 10.5 ส่วน “สายพันธุ์เบต้า” เพิ่มจำนวนขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน เนื่องจากพบในพื้นที่นอก จ.นราธิวาส แล้ว แต่ยังอยู่ในพื้นที่ภาคใต้
ทั้งนี้ “สายพันธุ์เบต้า” แพร่กระจายได้ช้ากว่าเดลต้า และอัลฟ่า หากพื้นที่คุมโรคได้เร็ว หยุดการแพร่ระบาดได้ สถานการณ์ก็จะคลี่คลายไม่แพร่กระจายไปที่อื่น
ส่วนการเปิดประเทศ 120 วัน หรืออีก 4 เดือน อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า การฉีดวัคซีนต่อจากนี้ จะต้องครอบคลุมประชาชนจำนวนมาก หรือกว่าครึ่งของประชาชนคนไทย โดยเฉพาะพื้นที่เป้าหมายหรือพื้นที่ sand box ที่ตอนนี้ได้มีการจัดสรรวัคซีนไปแล้ว รวมถึงมาตรการลดการระบาดของสายพันธุ์ที่น่ากังวล ลดจำนวนผู้ติดเชื้อในแต่ละพื้นที่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเปิดประเทศในอีก 120 วัน
ด้าน นพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า จากการประชุม EOC ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เสนอการเฝ้าระวังโควิดสายพันธุ์เบต้า คือ ให้พื้นที่ส่งตัวอย่างมาตรวจได้ โดยไม่จำกัดจำนวน อีกทั้งกรณีนักเรียนจากโรงเรียนมัรกัส จ.ยะลา ที่หยุดเรียน และได้มีการกลับภูมิลำเนานั้น เบื้องต้นได้ให้พื้นที่แจ้งข้อมูลไปที่จังหวัดนั้นๆ เพื่อให้ติดตามเฝ้าระวัง โดยพบว่า ตอนนี้สามารถติดตามได้หลายรายแล้ว
ขณะที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์จุฬาฯ ระบุว่า สายพันธุ์ใดก็ตามแต่ที่มีการแพร่ระบาดได้ง่ายก็จะทำให้กลบสายพันธุ์ดั้งเดิม จากการพยากรณ์โรคพบใน 3-4 เดือนหลังจากนี้ ประเทศไทยจะพบการระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้ามากขึ้น เพราะสายพันธุ์นี้แพร่ง่ายกว่าสายพันธุ์อัลฟ่า 1.4 เท่า ทำให้ต้องควบคุมโรคให้ได้มากที่สุด
ส่วนความรุนแรงของโรค ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ไหนไม่ได้แตกต่างกัน ทั้งนี้ที่เชื้อหลายพันธุ์ส่งผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีน เพราะว่าเชื้อไวรัสที่นำมาทำวัคซีนเป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมที่มีการระบาดในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน โดยขณะนี้ผู้ผลิตหลายบริษัทกำลังพัฒนาวัคซีนรุ่นที่ 2 เพื่อตอบสนองต่อเชื้อกลายพันธุ์
ส่วนไทยการพิจารณาฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ยังอยู่ในระหว่างการศึกษา เน้นย้ำความปลอดภัยของประชาชน ต้องดูผลข้างเคียงจากการเปลี่ยนสลับฉีดวัคซีนคนละยี่ห้อ โดยต้องขอรอดูผลการศึกษาให้ชัดเจนก่อนจึงจะปรับกลยุทธ์การฉีดวัควัคซีนในไทย
ทั้งนี้ การจะเปิดประเทศในอีก 120 วัน จะทันกับแนวทางการปรับการฉีดวัคซีนหรือไม่นั้น นพ.ยง ย้ำว่า จะต้องลดจำนวนตัวเลขผู้ป่วยลง ซึ่งขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวของประชาชนอย่างเคร่งครัด ควบคู่กับการปูพรมฉีดวัคซีน เพื่อควบคุมโรค พร้อมกันนี้ ยังได้แนะนำประชาชนคนไทย ให้ปฏิบัติตัวตามมาตรการสาธารณสุข และต้องเคร่งครัดเหมือนเดิม