โบว์ ณัฏฐา แนะ 4 เรื่องรัฐบาลต้องทำก่อนเปิดประเทศ 120 วัน

ระบุเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุขและบริการ อำนวยความสะดวกให้สถานบริการต่างๆพร้อมเปิดบริการนักท่องเที่ยว คัดกรองนักท่องเที่ยวอย่างรัดกุมพร้อมมีแผนสำรองทุกรูปแบบทุกสถานการณ์ ลดระดับการระบาดในประเทศให้ลดลง สำรองเตียงว่างรองรับผู้ป่วยให้ได้มากกว่า 5 พันเตียง เร่งฉีดวัคซีนในพื้นที่ท่องเที่ยว สื่อสารกับคนไทยอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้รับรู้สถานการณ์

น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือ โบว์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟชบุ๊กส่วนตัว “Bow Nuttaa Mahattana” ในหัวข้อเรื่อง “นับถอยหลัง 120 วัน อะไรที่ต้องมีก่อนเปิดประเทศ?” โดยมีเนื้อหาสำคัญความว่า

การประกาศเป้าหมาย 120 วัน เพื่อนำสู่การเปิดประเทศ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมาโดยนายกรัฐมนตรี เป็นเป้าหมายที่ได้รับการตอบรับจากภาคเอกชน … แน่นอนว่ากลุ่มผู้ประกอบการระดับบริหารล้วนเข้าใจว่าการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเคยทำรายได้เป็นสัดส่วนสูงถึง 10% ของ GDP คิดเป็นเงินนับล้านล้านบาทในแต่ละปี และสำคัญมากสำหรับระบบเศรษฐกิจโดยเฉพาะในวันที่เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจดับแทบครบทุกตัว แต่ในอีกทางเสียงของประชาชนจำนวนหนึ่งกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม เพราะยังผวาและหวาดกลัวกับตัวเลขผู้ติดเชื้อ ประกอบกับความไม่มั่นใจในศักยภาพของรัฐบาลในการบริหารสถานการณ์โดยเฉพาะการจัดการวัคซีนในช่วงเวลาที่ผ่านมา ในฐานะประชาชนผู้ติดตามสถานการณ์และยุทธศาสตร์การบริหารสถานการณ์โควิด คิดว่ายังมีอีกหลายอย่างที่ต้องทำและต้องมีก่อนจะบรรลุเป้าหมายได้จริง จึงขอเสนอความเห็นถึงสิ่งที่คิดว่าขาดไม่ได้ไว้ดังนี้

1. Prioritization การจัดลำดับความสำคัญ กำหนดกลุ่มกิจการสำคัญ และเมืองท่องเที่ยว สิ่งสำคัญที่ต้องมีแน่ๆในการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนครบและผ่านการตรวจเชื้อก่อนเดินทางแล้ว คือพื้นที่และสถานบริการที่พร้อมให้บริการ ซึ่งนั่นหมายถึงความพร้อมทั้งในภาคการท่องเที่ยว และความพร้อมทางสาธารณสุขที่จะดูแลนักท่องเที่ยวได้หากเกิดมีการติดเชื้อระหว่างการท่องเที่ยวในเมืองไทย จึงควรต้องมีการจัดลำดับความสำคัญ ว่ากิจการประเภทใดบ้างที่ต้องได้รับการเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ระหว่างนี้ ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมในการให้บริการ และความพร้อมด้านสุขอนามัยของผู้ให้บริการเอง ซึ่งถ้าทำพร้อมกันทั่วประเทศไม่ได้ ก็จะต้องกำหนดโซนจังหวัดที่เป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของการท่องเที่ยวให้พร้อมก่อน

2. Preparation การเตรียมความพร้อม ให้เงินสนับสนุนกิจการที่เกี่ยวข้องให้พร้อมเปิดบริการ ฉีดวัคซีนกลุ่มเป้าหมาย เมื่อจัดลำดับความสำคัญทั้งในการทำโซนนิ่งและระบุประเภทกิจการแล้ว ก็สามารถดำเนินการตามแผนเพื่อเตรียมความพร้อม ในทางปฏิบัติอาจหมายถึงการสำรวจความพร้อมของผู้ประกอบการ และให้การสนับสนุนทางการเงินเพื่อฟื้นฟูกิจการที่ขาดความพร้อมจากวิกฤตที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารผับบาร์ โรงแรม ร้านนวด ผู้ให้บริการทัวร์ ขนส่งสาธารณะ หรือร้านค้าต่างๆสำหรับนักท่องเที่ยว ซึ่งความพร้อมเหล่านี้จะช่วยสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยวที่เป็นปกติมากที่สุด ไม่เซ็ง ซบ เซา นอกจากนี้ การระดมฉีดวัคซีนในพื้นที่ดังกล่าวรวมถึงกลุ่มเป้าหมายนอกพื้นที่ให้ได้ถึงระดับที่ตั้งเป้าไว้ก็มีความสำคัญ เพราะเมื่อมีการเปิดพื้นที่สำหรับการท่องเที่ยวแล้ว นักท่องเที่ยวชาวไทยก็จะเข้าไปร่วมใช้บริการ จึงต้องมีการป้องการการแพร่เชื้อระหว่างคนไทยด้วยกันเองด้วย

3. Precaution ความรอบคอบ ตั้งเกณฑ์กรองนักท่องเที่ยวและขั้นตอนการตรวจสอบที่รัดกุม มีแผนสำรองและการชดเชยหากต้องยกเลิก การตั้งหลักเกณฑ์ที่รัดกุมในระดับที่สมเหตุสมผลและสื่อสารล่วงหน้าจะทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรู้ตัวล่วงหน้าว่าต้องเตรียมตัวอย่างไรหรือคาดหวังอะไรได้บ้าง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่ต้องวางแผนล่วงหน้า คุณสมบัติอย่างไรบ้างที่เราจะให้ผ่านเข้าประเทศ ต้องฉีดวัคซีนล่วงหน้าให้ครบถ้วนอย่างไร การคัดกรองเชื้อก่อนบิน หรือการระบุกลุ่มประเทศปลอดภัยก็เป็นไอเดียที่เราสามารถประยุกต์จากประเทศที่เคยทำมาแล้ว นอกจากนี้ ทุกฝ่ายคงรับรู้ได้ตรงกันว่าทุกอย่างมีความเสี่ยงและเชื้อโควิดก็มีพัฒนาการใหม่ๆอยู่เสมอ ดังนั้นสิ่งที่ต้องมีเสมอคือ “แผนสำรอง” และความพร้อมที่จะยืดหยุ่น ปรับตัวรับกับสถานการณ์ได้ในทุกรูปแบบ แม้กระทั่งการยกเลิกที่จะต้องมีการชดเชยความเสียหายให้กับผู้เกี่ยวข้อง

4. Prerequisite สิ่งที่เป็นเงื่อนไขที่ต้องมีก่อน ระดับการระบาดในประเทศต้องลดลง จนมีเตียงว่างเพียงพอในระบบสาธารณสุข หัวใจของการรับมือกับโรคระบาดคือการปกป้องระบบสาธารณสุข เมื่อระบบสาธารณสุขอยู่ในภาวะที่ผ่อนคลายได้เมื่อไหร่ เราจะมีพื้นที่ให้รับความเสี่ยงและเกิดการขยับตัวทางเศรษฐกิจได้อีกมาก การตั้งเป้าหมายจำนวนเตียงคนไข้ที่ว่างลงในระยะเวลาที่เหมาะสมก่อนถึง 120 วัน (เช่น อีก 60 วันนับจากนี้เราจะต้องมีจำนวนเตียงว่างจากผู้ป่วยสะสมที่ลดลง 5,000+ เตียง) จึงเป็นอีกหมุดหมายสำคัญที่จะทำให้ทุกคนมองเห็นภาพความเป็นไปได้จริง อัตราการฉีดวัคซีนในโซนสำคัญให้ได้ตามแผนจึงเป็นอีกปัจจัยสำคัญ

เพราะความเสี่ยงที่แท้จริงของการเปิดประเทศไม่ได้เกิดจากนักท่องเที่ยวที่ผ่านการคัดกรองและฉีดวัคซีนแล้วเดินทางเข้ามา แต่คือการติดเชื้อเพิ่มขึ้นในหมู่คนไทยด้วยกันเองจากการออกไปใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติมากขึ้นระหว่างที่เศรษฐกิจกำลังจะฟื้นตัว สุดท้าย การสื่อสารกับประชาชนอย่างสม่ำเสมอถึงแผนงานและสถานการณ์ปัจจุบันตามความเป็นจริงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ทุกขั้นตอนสำคัญและมีความพร้อมกับสิ่งที่กำลังจะมาถึง เพราะหากทำได้จริง คนไทยก็จะต้องเป็นเจ้าบ้านผู้สามารถต้อนรับผู้มาเยือนด้วยรอยยิ้มอย่างมั่นใจได้อีกครั้ง ไม่ใช่ด้วยแววตาของความหวาดกลัวตั้งข้อรังเกียจจากการขาดข้อมูลและทิศทางที่ชัดเจน

ข่าวที่น่าสนใจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

บริษัท บลูสโตน ครีเอชั่นส์ จำกัด ร่วมกับ สมาคมคนพิการภาคตะวันออก จัดกิจกรรม CSR ประจำปี 2567 มอบสิ่งของแก่คนพิการ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี
2อุทยานฯ ร่วมมือปราบปราม การลักลอบขุดหาแร่ทองคำ
ปิดหีบเลือกตั้ง "นายก อบจ.สุรินทร์" เริ่มนับคะแนน รอลุ้นผล
ชาวบ้านแห่ส่องเลขเด็ดคึกคัก ในพิธีอัญเชิญ “เจ้าพ่อพระศรีนครเตาท้าวเธอ” เจ้าเมืองคนแรกของชาวอำเภอรัตนบุรี
"บิ๊กจ้าว" ลงดาบ "ผกก.สน.หนองค้างพลู" สั่งปลดออกจากราชการ ชี้มูลผิดวินัยร้ายแรง ม.157
สีกากียอมรับ "บิ๊กต่าย" ไม่หวั่นโดนบางฝ่ายบีบวางมาตรฐานแต่งตั้ง "ตร." "เอก อังสนานนท์" คือผู้ยืนยัน
"หลวงพี่น้ำฝน" แจงสั่งตามลูกศิษย์ ส่งตัวให้ตร. ยืดอกรับผิด ย้ำไม่สนับสนุนความรุนแรง เตือน "พระปีนเสา" ปากจะพาเดือดร้อน
"ศปช." ย้ำ "ภาคใต้" ฝนกระหน่ำต่อเนื่อง “ภูมิธรรม” กำชับเร่งช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
"ภรรยา-ลูกสาว" ของหมอบุญ เข้ามอบตัวกับตร. ตามหมายจับร่วมกันฉ้อโกง กว่า 7.5 พันล้านบาท
“บิ๊กก้อง” สั่ง ปอศ.ส่งสำนวน ‘หมอบุญ’ ฉ้อโกงปชช.-หลอกลวงลงทุน ให้ดีเอสไอ เป็นคดีพิเศษ

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น