"มาลาเรียโนวไซ" กรมควบคุมโรค เตือน อันตรายถึงตาย ย้ำ ผู้มีประวัติสัมผัสลิง รีบพบแพทย์ด่วน เผยยอดผู้ป่วยในไทยพุ่ง 70 รายแล้ว
ข่าวที่น่าสนใจ
เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ไข้มาลาเรียชนิดโนวไซ (Plasmodium knowlesi) ติดต่อจากลิงสู่คน โดยมียุงก้นปล่องเป็นพาหะ กัดลิงที่มีเชื้อแล้วมากัดคน ซึ่งในปัจจุบัน ยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนว่า ยุงสามารถนำเชื้อจากคนสู่คนได้ โดยลิงที่เป็นสัตว์รังโรคในไทย ได้แก่
- ลิงกัง
- ลิงวอก
- ลิงเสน
- ลิงแสม
- ลิงอ้ายเงี๊ยะ
ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยที่ติดเชื้อดังกล่าวในไทยครั้งแรกเมื่อปี 2547 เฉลี่ยปีละ 10 คนมาโดยตลอด จนกระทั่งปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 – 31 มีนาคม 2565 กลับพบผู้ป่วยจากเชื้อดังกล่าวแล้วถึง 70 คน โดยจังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่
- ระนอง
- สงขลา
- ตราด
ดังนั้น ผู้ที่มีประวัติสัมผัสลิงในป่าในพื้นที่จังหวัดดังกล่าว แล้วมีดังต่อไปนี้
- อาการไข้สูง
- ปวดศีรษะ
- หนาวสั่น
- เหงื่อออกมาก
ขอให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อเจาะเลือดตรวจหาเชื้อมาลาเรีย และแจ้งประวัติเข้าป่า เพื่อให้การรักษารวดเร็ว หากล่าช้าอาจจะมีอาการแทรกซ้อนร้ายแรงและเสียชีวิตได้ สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง หรือผู้ทำงานในป่า นักท่องเที่ยว ควรป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด โดยการสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด ทายากันยุง และนอนในมุ้ง
ด้านนายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเสริมว่า กองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค ได้ดำเนินมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมไข้มาลาเรียอย่างเข้มแข็ง โดยใช้เทคโนโลยีรายงานผู้ป่วยผ่านระบบมาลาเรียออนไลน์ในการเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งแจ้งเตือนภัยทุกสัปดาห์
หากพบผู้ป่วยแต่ละราย จะใช้มาตรการ 1-3-7 คือ
- รายงานผู้ป่วย ภายใน 1 วัน
- ติดตามสอบสวนการป่วย ภายใน 3 วัน
- ดำเนินการควบคุมกำจัดการแพร่เชื้อโรคไข้มาลาเรียอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใน 7 วัน รวมถึงมียารักษาที่เพียงพอ
จากการสอบสวนโรค ระหว่าง กองโรคติดต่อนำโดยแมลง ได้ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระนองและสงขลา ดำเนินการสอบสวนโรคผู้ป่วยไข้ “มาลาเรียโนวไซ” ที่พบเพิ่มมากขึ้นอย่างละเอียด เพื่อวางแผนป้องกันควบคุมโรคอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งจะได้ประสานดำเนินการกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อสำรวจและควบคุมโรคในลิงที่เป็นรังโรคด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง