นายธีรัจชัย กล่าวต่ออีกว่า ปลัดกระทรวงต่างประเทศได้ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบหรือไม่ ตามกฎหมายวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องของระบบไต่สวนที่เป็นระบบที่ศาลมีหน้าที่แสวงหาข้อเท็จจริงเอง ไม่เหมือนกระบวนการกล่าวหาในศาลยุติธรรมที่มีโจทก์และจำเลย คดีปลัดกระทรวงต่างประเทศไม่ยอมส่งจึงมีข้อสงสัยว่าปลัดกระทรวงต่างประเทศได้ปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ เรื่องนี้ไม่มีในสำนวนพิพากษา โดยในวันนี้กมธ.ได้มีมติเชิญปลัดกระทรวงต่างประเทศทั้ง 2 คนมาชี้แจง ตั้งแต่ปลัดกระทรวงต่างประเทศในปี 2540 ที่ได้เดินทางกลับมาจากประเทศออสเตรเลียว่าได้ส่งหนังสืออะไรบ้างไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และปลัดกระทรวงต่างประเทศคนปัจจุบันเข้ามาให้ข้อมูล” นายธีรัจชัย กล่าว
ทั้งนี้ กมธ.ป.ป.ช.ได้ทำเรื่องไปยังเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย เพื่อขอให้ทางออสเตรเลียช่วยประสานขอสำเนาคำพิพากษาและเอกสารต่างๆ แล้ว โดยสถานราชทูตออสเตรเลียได้ยินดีจะช่วยประสานขอข้อมูลทุกอย่างให้ แต่เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบของทางออสเตรเลีย จึงขอให้ทางกมธ.ทำเรื่องผ่านกระทรวงต่างประเทศไปยังสถานทูตไทยประจำกรุงเทมเอราเท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทางออสเตรเลียไม่มีปัญหาในการให้ข้อมูลอย่างไรเลย แต่เหตุใดกระทรวงต่างประเทศจึงไม่ดำเนินการ จึงขอให้กระทรวงต่างประเทศดำเนินการเรื่องนี้ด้วย และทางกมธ.จะเรียกปลัดกระทรวงต่างประเทศมาถาม เพื่อให้เรื่องนี้คืบหน้าจริงๆ โดยในวันนี้กมธ.ได้เชิญเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับมาตรฐานจริยธรรมของร.อ.ธรรมนัส ซึ่งได้ส่งรองเลขาธิการฯ มาแทน
❝ หากปลัดกระทรวงต่างประเทศทำผิดสามารถร้องเรียนป.ป.ช.ได้ และมาตรฐานจริยธรรมของนักการเมืองในขณะที่ดำรงตำแหน่งแล้ว ถ้ามีพฤติกรรมทุจริตประพฤติมิชอบสามารถดำเนินคดีร้องเรียนกับป.ป.ช.ได้ หากศาลรัฐธรรมนูญละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ เข้าองค์ประกอบกฎหมายโดยไม่ใช่เรื่องดุลพินิจของศาลก็สามารถร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.ได้ ดังนั้นในทั้ง 3 เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่กมธ.ป.ป.ช.พยายามจะสอบโดยที่ไม่มีธง หากมีอะไรที่เข้าข่ายก็จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป กมธ.จะตรวจสอบเพื่อวางบรรทัดฐานของกระบวนการยุติธรรม กระบวนการตรวจสอบประพฤติมิชอบให้เป็นมาตรฐานสากล ไม่มีการเลือกปฏิบัติว่าใครเป็นใคร ไม่มีการช่วยเหลือใครทั้งสิ้น ❞ นายธีรัจชัย กล่าว