1. ด้านการศึกษา
เมื่อถามตัวอย่างถึงการมีสมาชิกในครอบครัวที่กำลังศึกษา พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 75.64 ระบุว่า มีสมาชิกในครอบครัวที่กำลังศึกษาอยู่ โดยเฉลี่ย 2 คน และร้อยละ 24.36 ระบุว่า ไม่มี ซึ่งตัวอย่างที่มีสมาชิกในครอบครัวที่กำลังศึกษาอยู่ ส่วนใหญ่ ร้อยละ 92.97 ระบุว่า มีผู้ที่เรียนออนไลน์ และร้อยละ 7.03 ระบุว่า ไม่มีผู้ที่เรียนออนไลน์ ซึ่งอุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียนออนไลน์ ส่วนใหญ่ ร้อยละ 82.45 เป็นโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน รองลงมา ร้อยละ 41.08 เป็นคอมพิวเตอร์/โน๊ตบุ๊ค และร้อยละ 19.13 เป็นแท็บเล็ต/ไอแพด
สำหรับการได้รับการช่วยเหลือด้านการศึกษา ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 89.18 ได้รับการช่วยเหลือด้านการศึกษา โดยร้อยละ 59.87 ระบุว่า ได้รับการช่วยเหลือเป็นเงินเยียวยาจากรัฐบาล 2,000 บาท ร้อยละ 39.52 การลดค่าเล่าเรียน/คืนเงินค่าเทอม (บางส่วน) และร้อยละ 22.07 ได้รับเงินคืนค่าอาหารกลางวัน ขณะที่ร้อยละ 10.82 ไม่ได้รับการช่วยเหลือด้านการศึกษา โดยร้อยละ 28.85 ระบุว่า ต้องการให้ช่วยเหลือสนับสนุนค่าอินเทอร์เน็ต ร้อยละ 25.96 อุปกรณ์การเรียนออนไลน์ และร้อยละ 24.04 การลดค่าเทอม
เมื่อถามถึงผลกระทบจากการเรียนออนไลน์ พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 72.23 ระบุว่า เรียนไม่เข้าใจ ไม่มีสมาธิในการเรียน ผลการเรียนลดลง รองลงมา ร้อยละ 67.77 เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์การเรียนออนไลน์ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต และร้อยละ 48.41 ผู้ปกครองมีภาระเพิ่มขึ้นในเรื่องการเรียนของบุตรหลาน ส่วนรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่ตัวอย่างต้องการมากที่สุด ในสถานการณ์ปัจจุบัน คือ การเรียนการสอนแบบ On-site (เรียนในสถานศึกษา)
สำหรับข้อเสนอแนะเพิ่มเติมด้านการศึกษา ตัวอย่างเสนอว่าควรปรับลดเวลาเรียน เนื้อหาวิชาการ และการบ้าน เพื่อลดความเครียดของนักเรียน กำหนดมาตรการหรือแนวทางป้องกัน เพื่อให้นักเรียนสามารถไปเรียนที่โรงเรียนได้ตามปกติ หรือควรจัดการเรียนการสอนแบบ On-site (เรียนในสถานศึกษา) สลับกับ การเรียน Online (เรียนออนไลน์) รวมถึงสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนออนไลน์และค่าอินเทอร์เน็ต และควรลดค่าเทอม/ไม่เรียกเก็บค่าเทอม
2. ด้านเศรษฐกิจ
เมื่อถามถึงการได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 74.02 ได้รับผลกระทบ และ ร้อยละ 18.75 ไม่ได้ผลกระทบ สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยผลกระทบที่ได้รับ มากที่สุด 3 อันดับแรก พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 30.90 ระบุว่า ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น อันดับ 2 ร้อยละ 13.27 ระบุว่า ต้องนำเงินเก็บ/ เงินออมมาใช้จ่าย และอันดับ 3 ร้อยละ 11.92 ระบุว่า การประกอบอาชีพยากลำบาก เช่น ขายของยากขึ้น
เมื่อถามถึงการปรับตัวทางด้านการเงิน ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 87.36 มีการปรับตัวในด้านการเงิน โดยร้อยละ 77.86 ระบุว่า มีการปรับตัวในเรื่องของ การประหยัดค่าใช้จ่าย รองลงมา ร้อยละ 50.60 หารายได้เพิ่ม และร้อยละ 31.04 นำเงินออมออกมาใช้จ่าย ขณะที่ร้อยละ 8.36 ตัวอย่างไม่มีการปรับตัวในด้านการเงิน และร้อยละ 4.27 ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ
สำหรับข้อเสนอแนะเพิ่มเติมด้านเศรษฐกิจ ตัวอย่างเสนอว่ารัฐบาลควรปรับลดราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ลดราคาน้ำมัน รวมถึงลดภาษี/ลดภาระค่าใช้จ่าย/ลดดอกเบี้ย และเร่งให้มีมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย และขยายระยะเวลาโครงการคนละครึ่ง เพิ่มราคาสินค้าทางการเกษตร เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ และเพิ่มมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
3. ด้านสังคม
เมื่อถามถึงเรื่องที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิต ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 มากที่สุด 3 อันดับแรก พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 17.58 สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือบ่อยขึ้น อันดับ 2 ร้อยละ 16.56 เปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานและรูปแบบการประกอบอาชีพ และอันดับ 3 ร้อยละ 14.77 ต้องปรับรูปแบบการเรียนเป็นแบบออนไลน์ (Online)
สำหรับการได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 87.11 ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ขณะที่ร้อยละ 12.89 ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ โดยส่วนใหญ่ ร้อยละ 38.80 ให้เหตุผลของการไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐว่า คุณสมบัติ ไม่เข้าเงื่อนไขในการรับสิทธิจากภาครัฐ รองลงมา ร้อยละ 29.85 ไม่ทราบข้อมูลโครงการของภาครัฐ และร้อยละ 22.39 ไม่สามารถเข้าถึงการบริการของภาครัฐ