วันนี้ (5 พ.ค.65) เวลา 11.00 น. นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย นำพยานหลักฐานมายื่นให้กับ ป.ป.ช.เพิ่มเติม เพื่อสอบสวนเอาผิดคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนในการจัดให้เช่า บริหารระบบท่อส่งน้ำน้ำสายหลักในภาคตะวันออก อธิบดีกรมธนารักษ์ และคณะกรรมการที่ราชพัสดุ ที่มีนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคลัง เป็นประธาน กรณีมีข้อพิรุธการเปลี่ยนแปลง TOR โครงการประมูลท่อส่งน้ำ EEC ซึ่งสมาคมฯได้เคยร้องเรียนและยื่นเอกสารหลักฐานให้ป.ป.ช. ไว้ก่อนหน้านี้แล้วเมื่อปลายปี 2564
"ศรีสุวรรณ" ยื่นข้อมูลเพิ่มให้ป.ป.ช. เร่งรัดสอบเอาผิดประมูลท่อส่งน้ำ EEC
ข่าวที่น่าสนใจ
แต่ปรากฏว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม ยังคงเดินหน้าเปิดการประมูล ทั้งๆ ที่มีข้อพิรุธมากมายจนนำไปสู่การฟ้องร้องกันในศาลปกครองปัจจุบัน อันเนื่องมาจากมีการปรับปรุง TOR ใหม่ โดยกำหนดเงื่อนไขหรือหลักเกณฑ์ใหม่ อันเป็นข้อพิรุธ คือ 1.ยกเลิกลักษณะต้องห้ามของผู้ยื่นข้อเสนอ 2. ปรับลดทุนจดทะเบียนของผู้ยื่นข้อเสนอจาก 500 ล้านบาท เป็น 300 ล้านบาท 3. ปรับลดหนังสือรับรองวงเงินสินเชื่อจาก 800 ล้านบาท เป็น 300 ล้านบาท และ 4. เปลี่ยนข้อกำหนดทางเทคนิคของผู้ยื่นเสนอจาก ต้องเป็นนิติบุคคลผู้มีอาชีพและประสบการณ์ในการประกอบธุรกิจ และหรือบริหารจัดการระบบท่อส่งน้ำ เป็น ต้องเป็นนิติบุคคลที่ดำเนินธุรกิจสาธารณูปโภคเกี่ยวกับการจัดการน้ำ และมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การพิจารณาซองข้อเสนอ โดยในครั้งแรกจะนับคะแนนจากซองที่ 2 และซองที่ 3 รวมกัน จนกระทั่งมีการประกาศผู้ชนะการประมูลด้วยมูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท
นอกจากนั้น ยังมีความผิดปกติหรือเป็นข้อพิรุธอีก นอกจากการเปลี่ยนเงื่อนไขหรือหลักเกณฑ์ใหม่ในครั้งที่ 2 อันเป็นข้อพิรุธ คือ เหตุใดไม่มีการเปิดประมูลโครงการแบบอีบิดดิ้งให้ทุกบริษัทเข้ามาแข่งขันกัน แต่กลับใช้วิธีเรียกมาแค่ 5 บริษัท ในการแข่งขันเสนอราคา และสรุปให้บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้ชนะ จนเรื่องดังกล่าวนำไปสู่การกำหนดให้เป็นประเด็นที่จะใช้อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องหลายคน กระทั่งนายกรัฐมนตรีต้องสั่งการให้กระทรวงการคลัง ตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการฯ โดยให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบโดยเร็วในทุกขั้นตอน ทำให้กรมธนารักษ์ ต้องประกาศเลื่อนการเซ็นสัญญาโครงการดังกล่าวกับผู้ชนะการประมูลออกไปก่อนเพื่อให้รอผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน
กรณีดังกล่าว ชี้ให้เห็นข้อพิรุธหลายประการ หลังจากที่กรมธนารักษ์และคณะกรรมการที่ราชพัสดุ พยายามเดินหน้าลงนามในสัญญาการประมูลที่มีพิรุธ ไม่ยอมฟังเสียงทักท้วงจากหลาย ๆ ฝ่าย แม้จะมีการฟ้องร้องกันอยู่ในศาลปกครอง ซึ่งมีความเสี่ยงว่าในที่สุดศาลอาจมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าการประมูลดังกล่าวเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบด้วยกฎหมายก็เป็นไปได้ และสมาคมฯได้ร้องเรียนให้ ป.ป.ช.ทำการตรวจสอบอยู่ก่อนหน้านี้แล้วก็ตาม และเพื่อให้การตรวจสอบของ ป.ป.ช.มีผลสัมฤทธิ์โดยเร็ว สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จึงได้นำข้อมูลใหม่มายื่นให้กับ ป.ป.ช.เพิ่มเติมเพื่อเอาผิดผู้ถูกกล่าวหา ที่อาจใช้อำนาจและดุลยพินิจไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายในวันนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
-