ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “สิงห์สยามโพล” คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชาญชัย จิตรเหล่าอาพร คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยสาขารัฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็น สิงห์สยามโพล แถลงผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร เรื่อง การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและสมาชิกสภากรุงเทพมหานครครั้งที่ 2 (หลังวันรับสมัคร) โดยทำการสำรวจข้อมูลระหว่าง วันที่ 21 – 30 เมษายน 2565 ด้วยแบบสอบถามจากประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,632 ตัวอย่าง โดยใช้การสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบหลายขั้นตอน (Multi Stage Random Sampling) โดยเบื้องต้นใช้วิธีการแบบง่าย (Simple Random Sampling) โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0 เพื่อเลือกพื้นที่ในการเก็บข้อมูลในเขตกรุงเทพมหานคร ดำเนินการเก็บข้อมูลโดยการสุ่มแบบบังเอิญ (Accidental Sampling) เพื่อเก็บข้อมูลจากประชาชนที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป ผลการสำรวจ พบว่า
1) แนวโน้มในการตัดสินใจเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีแนวโน้มในการตัดสินใจเลือก ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จำนวน 604 คน คิดเป็นร้อยละ 37.0 รองลงมาคือ งดออกเสียง จำนวน 232 คน คิดเป็นร้อยละ 14.2 สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ จำนวน 220 คน คิดเป็นร้อยละ 13.5 อัศวิน ขวัญเมืองจำนวน 196 คน คิดเป็นร้อยละ 12.0 อื่นๆ จำนวน 112 คน คิดเป็นร้อยละ 6.9 วิโรจน์ ลักขณาอดิศร จำนวน 108 คน คิดเป็นร้อยละ 6.6 สกลธี ภัททิยกุล จำนวน 72 คน คิดเป็นร้อยละ 4.4 รสนา โตสิตระกูลจำนวน 60 คน คิดเป็นร้อยละ 3.7 และสุดท้ายคือ ศิธา ทิวารี จำนวน 28 คน คิดเป็นร้อยละ 1.7
2) กระแสการเมืองระดับชาติมีผลต่อการตัดสินใจเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นว่า มีผลต่อการตัดสินใจเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,180 คน คิดเป็นร้อยละ 72.3 และเห็นว่าไม่มีผลต่อการตัดสินใจ จำนวน 452 คน คิดเป็นร้อยละ 27.7
3) ตัดสินใจเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครด้วยเหตุผลใด พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ตัดสินใจเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งจาก นโยบายของผู้สมัคร จำนวน 1,076 คน คิดเป็นร้อยละ 65.9 รองลงมาคือ ชื่อเสียงของผู้สมัคร จำนวน 288 คน คิดเป็นร้อยละ 17.6 อื่นๆ จำนวน 176 คน คิดเป็นร้อยละ 10.8 ป้ายและสื่อ จำนวน 56 คน คิดเป็นร้อยละ 3.4 และสุดท้ายคือ หมายเลขผู้สมัคร จำนวน 36 คน คิดเป็นร้อยละ 2.2
4) ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ควรสังกัดพรรคการเมืองหรืออิสระ พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นว่าควรอิสระ จำนวน 1,048 คน คิดเป็นร้อยละ 64.2 และควรสังกัดพรรคการเมือง จำนวน 584 คน คิดเป็นร้อยละ 35.8
5) ตัดสินใจเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ด้วยเหตุผลใด กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ตัดสินใจเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งจาก นโยบายของผู้สมัคร จำนวน 1,072 คน คิดเป็นร้อยละ 65.7 รองลงมาคือ ชื่อเสียงของผู้สมัคร จำนวน 284 คน คิดเป็นร้อยละ 17.4 อื่นๆ จำนวน 224 คน คิดเป็นร้อยละ 13.7 หมายเลขผู้สมัคร จำนวน 28 คน คิดเป็นร้อยละ 1.7 และสุดท้ายคือ ป้ายและสื่อ จำนวน 24 คน คิดเป็นร้อยละ 1.5
6) หัวคะแนนมีบทบาทต่อการโน้มน้าวการตัดสินใจเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) หรือไม่ พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นว่า ไม่มีบทบาทต่อการโน้มน้าวการตัดสินใจ จำนวน 876 คน คิดเป็นร้อยละ 53.7 และมีบทบาทต่อการโน้มน้าวการตัดสินใจ จำนวน 756 คน คิดเป็นร้อยละ 46.3
เมื่อพิจารณาข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง พบว่า กลุ่มประชากรจำนวน 1,632 ตัวอย่าง พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศชาย มากที่สุด (ร้อยละ 59.3) รองลงมาคือ เพศหญิง (ร้อยละ 38.5) และสุดท้าย LGBTQ (ร้อยละ 2.2) ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 51 – 60 ปี (ร้อยละ 29.2) รองลงมาคือ 41-50 ปี (ร้อยละ 26.2) 21 – 30 ปี (ร้อยละ 22.3) 31 – 40 ปี (ร้อยละ 17.9) 61 ปีขึ้นไป (ร้อยละ 3.4) และสุดท้าย ต่ำกว่า 20 ปี (ร้อยละ 1.0) ด้านระดับการศึกษานั้น พบว่า ส่วนใหญ่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี (ร้อยละ 49.5) รองลงมาคือ สูงกว่าปริญญาตรี (ร้อยละ 31.1) และสุดท้ายต่ำกว่าปริญญาตรี (ร้อยละ 19.4) ด้านอาชีพ พบว่า ส่วนใหญ่เป็นพนักงานบริษัทเอกชน(ร้อยละ 30.1) รองลงมาคือ ธุรกิจส่วนตัว (ร้อยละ 25.2) ข้าราชการ (ร้อยละ 12.5) ค้าขาย (ร้อยละ 8.6) พนักงานรัฐวิสาหกิจ (ร้อยละ 8.1) รับจ้างทั่วไป (ร้อยละ 7.8) นักศึกษา และอื่นๆ (ร้อยละ 2.7) และสุดท้ายลูกจ้างหน่วยงานรัฐ (ร้อยละ 2.2) โดยมีรายได้ต่อเดือนมากกว่า 25,001 บาท (ร้อยละ 51.2) รองลงมาคือ 15,001 – 25,000 บาท (ร้อยละ 33.1) และสุดท้ายต่ำกว่า 15,000 บาท (ร้อยละ 15.7)