วันนี้(24 มิ.ย.64) นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยกับ “TOPNEWS” ว่า ได้เข้าพบนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสํานักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ( สภาพัฒน์) เพื่อเสนอมาตรการช่วยเหลือเยียวยา ฟื้นฟูร้านอาหารที่ได้ผลกระทบจากไวรัส โควิด-19
ขณะที่สัปดาห์หน้า น่าจะมีความชัดเจนเรื่องการแก้ไขในรายละเอียดมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งธปท. จะให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงิน เพื่อนำไปให้กู้ยืมแก่ผู้ประกอบธุรกิจต่อ ซึ่งปัจจุบัน ร้านอาหารและเอสเอ็มอี เข้าถึงแหล่งเงินทุนส่วนนี้ได้ไม่มากนัก โดยอาจจะมีการนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมครม.ในสัปดาห์หน้า
นอกจากนี้ ยังคาดว่าในส่วนของพ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท น่าจะมีมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการออกมาจากรัฐบาล ซึ่งทางสภาพัฒน์ อยากเห็นตัวเลขของลูกจ้าง ซึ่งตอนนี้กระจัดกระจาย ไม่ได้ส่งประกันสังคม หากว่ารัฐบาลไม่สามารถเห็นตัวเลขของคนที่อยู่ในระบบประกันสังคม การเยียวยารัฐบาลก็ไม่สามารถทำได้ เพราะไม่มีตัวเลข จึงอยากเชิญชวนให้กลุ่มนี้เข้าสู่ระบบประกันสังคม มาตรา 33
สำหรับมาตรการเร่งด่วนที่ขอให้สภาพัฒน์ พิจารณาเพื่อนําข้อเสนอนี้ถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ ร้านอาหาร ประกอบด้วย
- ขอตั้งวงเงินเป็นโครงการพิเศษ 30,000 ล้านบาท โดยใช้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำ 100 % รายละไม่เกิน 5 ล้านบาท พิจารณาจากรายได้ในปี 2561-2562 โดยมีนิติบุคคล ( ภ.ง.ด.50) จํานวน 15,000 ราย( ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจ การค้า กระทรวงพาณิชย์) และการจ่ายภ.ง.ด.90 ประเภทบุคคล จํานวน 100,000 ราย
- ตั้งคณะทํางานร่วมแก้ปัญหาธุรกิจอาหารเพื่อเสนอแนวทางฟื้นฟู ทั้งวงจรธุรกิจอาหาร เนื่องจากธุรกิจอาหารมีความ แตกต่างที่หลากหลาย รัฐบาลสามารถติดตามให้การช่วยเหลือและพัฒนาต่อไปได้อย่างยั่งยืน ซึ่งยังไม่เคยมี คณะทํางานชุดนี้เกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย โดยสภาพัฒน์ เป็นผู้ดําเนินการหลัก เชิญทุกภาคส่วนร่วมเป็นคณะทํางาน
- ในระยะเวลาอันเร่งด่วน ขอเสนอให้ใช้ศูนย์ บสย.FA Center ภายใต้การกํากับของกระทรวงการคลัง เพื่อเป็นที่ปรึกษาแก่ร้านอาหาร ทําบัญชีภาษีให้ถูกต้อง และมีโอกาสยกระดับจากบุคคลเป็นนิติบุคคลต่อไป