วันที่ 7 พ.ค. 65 ที่สตูดิโอ 1 สถานีโทรทัศน์ ท็อปนิวส์ ธนาซิตี้ ต.บางโฉลง อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ได้จัดเวทีศึกดีเบต 4 แคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. ประกอบด้วย นายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ในนามอิสระ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ในนามอิสระ และน.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. สังกัดพรรคไทยสร้างไทย โดยมีนายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ประธานกรรมการบริหาร สถานีโทรทัศน์ท็อปนิวส์ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน และมีนายวรเทพ สุวัฒนพิมพ์ ผู้ประกาศข่าว สำนักข่าว Top News เป็นผู้ดำเนินรายการ ท่ามกลางบรรยากาศกองเชียร์จากผู้สมัครทั้ง 4 คนที่มาร่วมให้กำลังใจอย่างคึกคัก
โดยคำถามที่สามเป็นคำถามของนายพัฒน์ธนชัย สระกวี นายกสมาคมประชาคมคนตาบอดไทย สอบถามถึงนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุน สิทธิ สวัสดิการ และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการอย่างไรบ้าง
ทั้งนี้พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า ตนยืนยันว่าสิทธิการเป็นมนุษย์ของทุกคนมีความเท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้นโครงสร้างพื้นฐานของกรุงเทพมหานครต้องรองรับคนพิการด้วย ซึ่งที่ผ่านมาตนได้ทำทางเชื่อมให้คนพิการสามารถขึ้นรถไฟฟ้าได้ แม้กระทั่งทางลาดหรือทางม้าลาย จากเดิมคนที่นั่งรถเข็นไม่สามารถใช้พื้นที่ได้ เพราะเป็นพื้นต่างระดับ เราก็ได้ทำทางลาดให้ผู้พิการสามารถใช้ได้ เช่นบริเวณถนนพระราม1 ได้ปรับปรุงแล้วให้ผู้พิการสามารถใช้ได้ทั้งหมด ส่วนเรื่องการศึกษาตนได้จัดห้องเรียนในกรุงเทพมหานครให้มีการเรียนร่วมกับผู้พิการทางสายตา ผู้พิการทางหู และผู้พิการทางร่างกายอื่นๆ โดยผู้พิการทางสายตาเรามีเครื่อง เปรียบเสมือนเป็นพี่เลี้ยงช่วยอ่านหนังสือให้ฟัง และมีหนังสือที่มีตัวอักษรเบลให้สามารถอ่านได้ด้วย เราไม่ได้คิดแต่เราทำแล้ว สำหรับเรื่องอาชีพของผู้พิการที่ขาดโอกาส กทม.มีโรงเรียนฝึกอาชีพ 10 กว่าแห่ง ที่ผ่านมาตนได้เชิญผู้ประกอบการเข้ามาช่วยกันออกแบบและกำหนดหลักสูตรร่วมกันระหว่างโรงเรียนและสถานประกอบการ เพื่อให้สามารถนำผู้พิการไปทำงานได้ด้วย เพื่อเป็นการสร้างอาชีพให้กับคนพิการ ส่วนเรื่องการเดินทางเราจะมีรถพิเศษให้เป็นรถตู้ ซึ่งตอนนี้มีอยู่แล้ว 30กว่าคันสามารถขึ้นได้ฟรี และต่อไปจะปรับเปลี่ยนให้เป็นรถพลังงานสะอาดที่ใช้พลังงานไฟฟ้า พร้อมทั้งเพิ่มจำนวนรถให้เพียงพอและรองรับกับผู้พิการในกทม.ด้วย ส่วนเรื่องการรักษาพยาบาล ตนจะเพิ่มโรงพยาบาลประจำเขต โดยสาธารณสุขกรุงเทพมหานครปัจจุบันมี 9 แห่ง จะขยายให้เป็นโรงพยาบาลประจำเขต ซึ่งอย่างน้อย 1 เขตต้องมี โรงพยาบาล และบางเขตอาจจะมากกว่า 1 โรงพยาบาล อีกทั้งมีเลนพิเศษ หรือฟาสเลนให้บริการ เป็นสิทธิพิเศษกับผู้พิการ จะได้ไม่ไปรอคิวกับผู้ใช้บริการทั่วไป นอกจากนี้จะส่งเสริมการศึกษาในชุมชนให้กับผู้พิการด้วย เพราะคนพิการก็เหมือนประชาชนคนทั่วไปไม่ได้มีความแตกต่างอะไร