"สิทธิบัตรทอง" กทม.ย้ำถือบัตรประชาชนใบเดียว สามารถรับบริการจากหน่วยปฐมภูมิได้ทุกที่ โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว
ข่าวที่น่าสนใจ
“สิทธิบัตรทอง” สำนักอนามัย กทม. ย้ำ ประชาชนใน กทม. และประชาชนในพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงที่ทำงานใน กทม. สามารถถือบัตรประชาชนใบเดียวไปรับบริการในหน่วยบริการปฐมภูมิได้ทุกที่ ทั้งศูนย์บริการสาธารณสุขและคลินิกชุมชนอบอุ่น โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว
พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวถึงภาพรวมการดำเนินงานตามนโยบายยกระดับบัตรทอง 30 บาท รักษาทุกที่ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นของขวัญปีใหม่ 2565 ที่รัฐบาลมอบแก่ประชาชนโดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมาว่า ในส่วนของพื้นที่ กทม. มีการนำร่องมาตั้งแต่ปี 2564 ให้ผู้ใช้สิทธิ บัตรทองสามารถรับบริการในหน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ในบางพื้นที่อยู่แล้ว ซึ่งในช่วงแรกประชาชนยังยึดติดกับระบบเดิมและการประชาสัมพันธ์อาจยังไปไม่ถึงมากนัก แต่เมื่อดำเนินการไประยะหนึ่งพบว่าประชาชนมีความพึงพอใจมาก เพราะ สามารถไปรับบริการที่ไหนก็ได้
“ลักษณะคน กทม. พักอาศัยอยู่พื้นที่หนึ่งแต่ไปทำงานอีกพื้นที่หนึ่ง ไม่สะดวกไปรับบริการในหน่วยบริการใกล้ที่พัก ก็สามารถไปรับบริการในศูนย์บริการสาธารณสุขหรือคลินิกชุมชนอบอุ่นที่อยู่ใกล้ที่ทำงานได้ ทำให้สะดวกสามารถเข้าถึงบริการได้มากขึ้น” เนื่องจากในปี 2564 ยังอยู่ในระยะนำร่อง การรับบริการข้ามเขตที่ไหนก็ได้ จึงยังมีจำนวนหนึ่งแต่ยังไม่มากนัก
ส่วนในปี 2565 หลังจากมีการประกาศนโยบายยกระดับบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกที่ทั่วประเทศแล้ว ในส่วนของ กทม.เอง ได้ขยายให้ประชาชนที่มีบ้านอยู่จังหวัดรอบ ๆ พื้นที่ กทม. และเข้ามาทำงานใน กทม. แบบไปกลับ สามารถเข้ามารับบริการจากศูนย์บริการสาธารณสุขหรือคลินิกชุมชนอบอุ่นได้ด้วย จากเดิมอยู่ที่ไหนก็ต้องรักษาที่นั่น หรือถ้าจะมารับบริการใน กทม. ต้องย้ายสิทธิมาหรือใช้ใบส่งตัว แต่ปัจจุบันไม่ต้องใช้แล้ว สามารถเข้าสู่ระบบบริการได้เลย ถือเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ “สิทธิบัตรทอง” ในพื้นที่เหล่านี้มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ จากสถิติการรับบริการในศูนย์บริการสาธารณสุขพบว่า จำนวนผู้รับบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี
- ปี 2562 ใช้บริการ 1.38 ล้านคน
- ปี 2563 เพิ่มเป็น 1.5 ล้านคน
- ปี 2564 มีการระบาดของโควิด-19 จำนวนผู้รับบริการลดเหลือ 1.3 ล้านคน
- แต่คาดว่าปี 2565 จำนวนผู้รับบริการน่าจะกลับมาเพิ่มขึ้น เพราะ การระบาดของโควิด-19 เริ่มน้อยลง ประชาชนต่างจังหวัดก็อาจกลับเข้ามาทำงานใน กทม. จำนวนผู้รับบริการก็น่าจะเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์ ซึ่งสำนักอนามัยจะได้ประเมินสถานการณ์ต่อไป
พญ.ป่านฤดี ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ปัจจุบัน กทม. มีศูนย์บริการสาธารณสุขทั่วกทม. รวม 69 แห่ง มีบุคลากรทั้งแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร ฯลฯ ถือเป็นหน่วยบริการที่ค่อนข้างครบถ้วนอยู่แล้ว และยังมีการอบรมเพิ่มเติมในเรื่องแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว เพื่อดูแลประชาชนในโรคที่พบบ่อย ไม่ซับซ้อน และเน้นเรื่องการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันควบคุมโรค
นอกจากนี้ยังขยายคลินิกพิเศษต่าง ๆ เช่น
- คลินิกกายภาพบำบัด
- คลินิกยาเสพติด
- เบาหวาน
- ความดันโลหิตสูง เป็นต้น
ช่วยให้ประชาชนไม่ต้องเดินทางไปแออัดที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลก็สามารถดูแลผู้ป่วยที่มีความซับซ้อนได้ดีขึ้น ในส่วนของประชาชน “สิทธิบัตรทอง” ที่ต้องการเข้ามารับบริการ แม้จะไม่ได้ลงทะเบียนหน่วยบริการประจำในพื้นที่นั้น ๆ ก็สามารถถือบัตรประชาชนมารับบริการที่ศูนย์บริการสาธารณสุขได้ทุกที่ เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบสิทธิแล้วให้บริการได้เลย
ขณะเดียวกัน นอกจากศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่งแล้ว ในแต่ละเขตแต่ละพื้นที่ยังมีหน่วยบริการปฐมภูมิที่เป็นคลินิกชุมชนอบอุ่นที่ผู้ใช้สิทธิ บัตรทองสามารถเข้ารับบริการได้เช่นกัน โดยทางศูนย์บริการสาธารณสุขจะทำงานร่วมกับคลินิกชุมชนอบอุ่นในลักษณะเครือข่าย คอยสนับสนุนคลินิกชุมชนอบอุ่นให้ดำเนินการไปได้ตามที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำหนด ตามสิทธิที่ประชาชนต้องได้รับ รวมทั้งมีบริการรับส่งต่อ เช่น ถ้าคลินิกชุมชนอบอุ่นไม่มีคลินิกพิเศษ อาทิ คลินิกกายภาพบำบัด คลินิกทันตกรรม ก็สามารถส่งต่อมารับบริการที่ศูนย์บริการสาธารณสุขได้ อีกทั้งยังร่วมมือกันทำงานด้านการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคแก่ประชาชนในพื้นที่ด้วยเช่นกัน
ข้อมูล : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง