ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และในฐานะที่ปรึกษาด้านการสื่อสารของ ศบค. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเรื่อง “เลิกเปรียบเทียบเพื่อหาวัคซีนที่ดีที่สุดกันเถอะครับ”
โดยระบุว่า ในภาษาอังกฤษ มีคำว่า Give and Take ส่วนในภาษาไทย มีคำว่า ได้อย่างเสียอย่าง หลายอย่างในโลกนี้ คงไม่มีอะไรที่ดีไปหมดทุกอย่างสำหรับทุกคน ดังนั้นในความคิดเห็นตน เรื่องวัคซีนโควิดก็อาจจะคล้ายกัน
ซึ่ง ผศ.ดร.วรัชญ์ ได้ อธิบายถึงวัคซีนแต่ละยี่ห้อดังนี้ * ซิโนแวคช้าแต่ชัวร์ กระตุ้นภูมิน้อยสุด แต่เป็นเทคโนโลยีเดิม ผลข้างเคียงน้อยสุด และไม่ต้องกังวลเรื่องผลกระทบระยะยาว
แอสตราเซเนกา และน่าจะรวมถึงจอห์สันแอนด์จอห์นสัน สามารถกระตุ้นภูมิได้ดี ไม่ต้องกังวลผลกระทบระยะยาว แต่มีผลข้างเคียงระยะสั้นที่เห็นได้ชัด และเกิดขึ้นกับคนจำนวนมากกว่า และมีความเสี่ยงการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน
ไฟเซอร์และน่าจะรวมโมเดอร์นาด้วยกระตุ้นภูมิได้มากที่สุด ป้องกันสายพันธุ์ต่างๆได้ดีที่สุด แต่เป็นเทคโนโลยีใหม่ ยังไม่มีการรับรองผลกระทบระยะยาวต่อร่างกาย และมีความเสี่ยงเกิดอาการกับหัวใจ
เหมือนทุกๆอย่าง จุดเด่นก็คงต้องแลกมากับอะไรบางอย่างเสมอ ฉันั้นสำหรับตนไม่ว่าจะฉีดวัคซีนอะไร มันก็ต้อง “แลก” กับอะไรบางอย่าง
การเถียงกันว่าวัคซีนตัวไหน “ดี” กว่ากัน จึงเป็นเรื่องที่คุยกันไม่รู้เรื่อง บางคนอยากได้การป้องกันเป็นหลัก และไม่ห่วงผลในอนาคต เพื่อใช้ชีวิตแบบเดิมได้ บางคนบอกว่าอยากได้อะไรแบบเดิมๆ และเขายินดีจะใส่แมสก์และระวังต่อไป หรือบางคนบอกตัวไหนก็ได้ที่ได้เร็วที่สุด เพราะทุกตัวป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ คำว่า “ดี” จึงขึ้นอยู่กับการให้ความสำคัญของแต่ละคน ไม่ใช่แค่เรื่องประสิทธิภาพการป้องกันอย่างเดียว ซึ่งก็เป็นสิทธิของแต่ละคน
เช่นวันนี้ไทยมี ซิโนแวค แอสตราเซเนกา และซิโนฟาร์ม รวมถึงวัคซีนอื่นที่ตะตามมาถ้าฉีดเร่งฉีดให้ประเทศไทยได้ 60-70% ภายในสิ้นปีนี้ และเปิดประเทศได้อย่างระมัดระวัง จะ “ดีกว่า” การรอไฟเซอร์และโมเดอร์นามาฉีดให้ได้ครบ 60-70% และเปิดประเทศในปีหน้าหรือไม่
ที่ปรึกษาด้านการสื่อสารของ ศบค. ยังขอให้หยุดวาทกรรมการเปรียบเทียบวัคซีน เพราะแต่ละตัวก็มีเด่นมีด้อย มีความเสี่ยงต่างกันไป แตาผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าวัคซีนทุกตัวป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตได้เกือบ 100% รวมถึงสายพันธุ์ต่างๆด้วย โดยเฉพาะเมื่อประกอบกับการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค ซึ่งนั่นเป็นเป้าหมายสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศควบคุมสถานการณ์ และช่วยลดภาระบุคลากรทางการแพทย์ได้ สำคัญกว่าการมามัวเสียเวลาหาคำตอบว่าวัคซีนตัวไหนดีที่สุด เพราะสุดท้ายแล้วมันอาจจะไม่มีคำตอบและเสียเวลาไปเปล่า