วันที่ 11 พฤษภาคม 2565 เวลา 14.00 น. นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี เดินทางมายังสถานที่ “ขุดค้นโบราณวัตถุเบื้องต้น” ของสำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น บริเวณพื้นที่เตรียมสร้างปั้มน้ำมัน และอู่ซ่อมรถ ริมถนนทางหลวงหมายเลข 2022 ม.7 บ.ท่าเสียว ต.สร้างคอม อ.สร้างคอม จ.อุดรธานี ได้พบกับนายดุสิต ทุมมากรณ์ ผอ.กลุ่มงานโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น หัวหน้าคณะทีมขุดค้น โดยมีนายสกนธ์ กรกฎ นายอำเภอสร้างคอม พ.ต.อ.กฤติเดช ปทุมมาวัฒนานนท์ ผกก.สภ.สร้างคอม. ร่วมอำนวยการติดตาม
นายสกนธ์ กรกฎ นายอำเภอสร้างคอม แนะนำนายธนกฤต ศรีวงษ์รัตน์ อายุ 54 ปี เจ้าของที่ดินพื้นที่ราว 6 ไร่ ได้เข้ามาลงทุนปรับพื้นที่สร้างปั้มน้ำมัน ขณะใช้เครื่องจักรหนัก ปรับพื้นที่ให้ลงมาเท่ากับถนน หรือลดต่ำลงมาราว 1 เมตร พบวัตถุโบราณคล้ายสมัยบ้านเชียง จึงแจ้งไปยัง สนง.วัฒนธรรม จ.อุดรธานี แจ้งต่อให้กรมศิลปากรส่งเจ้าหน้ามาตรวจสอบ พบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ , กระดูกสัตว์ , อาวุธ-เครื่องใช้-เครื่องประดับ ทำจากหิน เช่น ใบขวาน ปลายหอก ปลายธนู กำไลข้อมือ และหม้อดินลวดลายคล้ายกับไหบ้านเชียง จึงมีคำสั่งให้หยุดการปรับพื้นที่รอการตรวจสอบ
นายดุสิต ทุมมากรณ์ ผอ.กลุ่มงานโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น นำผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี พร้อมคณะตรวจสภาพพื้นที่ พร้อมกับชี้แจงและตอบข้อซักถาม ตั้งแต่แนวปิดกั้นปิดประกาศห้ามเข้า ป้ายแสดงภาพชั้นวัฒนธรรมที่ค้นพบจากความบังเอิญ ไม่มีเจตนาทำลายพื้นที่ ราว 2 งาน , ดูหลักฐานทางโบราณคดี เรียงลำดับตั้งแต่ยุคหินเก่า-หินใหม่ มาจนถึงยุคบ้านเชียงตอนต้นและกลาง , จุดที่มีการขุดค้นจุดที่ต้อง “ปักเสา” ติดตั้งผนังคอนกรีต เพื่อป้องกันดินพังทลายในพื้นที่ 2 งาน และพื้นที่เนินดินด้านข้าง-ด้านหลัง สันนิษฐานว่าคนในยุคหินเก่า-หินใหม่-จนถึงยุคบ้านเชียง ปักหลักกันอยู่ที่นี่
ผอ.กลุ่มงานโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น อธิบายว่า บริเวณนี้เป็นเนินดินใช้ทำเกษตรกรรม ไม่เคยพบร่องรอยโบราณวัตถุ หลังขุดค้นพบว่าชั้นวัฒนธรรม จะเริ่มเมื่อลึกลงไปราว 1 เมตรเศษ และชั้นวัฒนธรรมจะทับถมกันอยู่อีกราว 1 เมตร จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบ สันนิษฐานว่าที่นี่คือชุมชนโบราณ อยู่บนเนินดินใกล้กับลำห้วยบ่อ ลำน้ำสาขาของลำห้วยหลวง ที่จะไหลไปบรรจบแม่น้ำโขง และยังอยู่ใกล้กับ “บ่อเกลือโบราณ” เป็นพื้นที่เหมาะจะปักหลักเป็นชุมชน
“ หลักฐานพบมีตั้งแต่ยุคหินเก่า เป็นหินกรวดจากแม่น้ำโขง พบเฉพาะที่นี่ใกล้เคียงไม่พบ น่าจะนำมาใช้ในการล่าสัตว์ เมื่อทุบให้แตกจะเกิดเป็นคม และดัดแปลงเป็นอาวุธ , จากนั้นมาเป็นยุคหินใหม่ จากการใช้หินกรวดธรรมดา ก็มาใช้หินอื่นๆเมื่อรู้วิธีทำ พบมีอุปกรณ์ขัดทำรูปทรง ให้เป็นอาวุธ และเครื่องประดับ , ต่อมาเป็นกระดูกมนุษย์ ที่ถูกฝังแบบมีพิธีกรรม กระดูกสัตว์ขนาดใหญ่ และมาถึงหม้อดินเผายุคเดียวกันบ้านเชียงตอนต้น โดยยังไม่พบเหล็ก หรือสำริด ”
นายดุสิต ทุมมากรณ์ ผอ.กลุ่มงานโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 8 ขอนแก่น ตอบข้อซักถามว่า ได้รายงานให้อธิบดีกรมศิลปากรแล้ว ท่านมีคำสั่งให้ทำแผนการขุดค้น เพื่อศึกษาลำดับการพัฒนาการ หลักการศึกษาจะอธิบายได้ชัดเจน โดยในช่วงฤดูฝนจะได้เตรียมการ สำหรับพื้นที่ 2 งานที่บังเอิญไปพบ เจ้าของที่ดินได้สร้างแนวเขต กันดินที่สูงกว่าพังลงมา และถมดินทับบริเวณที่พบ เพื่อจะประกอบกิจการการค้าได้ ส่วนเนินดินที่มีแผนขุดค้นใหม่ เจ้าของสามารถทำการเกษตรกร แต่หากจะมีกิจกรรมขุดเกินกว่า 1-2 เมตร ให้ขอคำแนะนำจากกรมศิลปากรก่อน
นายสยาม ศิริมงคล ผวจ.อุดรธานี เปิดเผยว่า ในห้วงที่ผ่านมาได้รับรายงานว่าพบโบราณวัตถุในพื้นที่ อ.สร้างคอม ได้มอบหมายให้นายอำเภอทำความเข้าใจกับเจ้าของที่ดินตรงจุดที่ขุดค้นพบและที่ดินบริเวณใกล้เคียง ในเรื่องการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ว่าควรจะได้รับคำปรึกษาจากกรมศิลปากรก่อน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากเจ้าของที่ดินเป็นอย่างดี ส่วนพี่น้องประชาชนส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ให้ระมัดระวังการเข้ามาในจุดนี้ ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของพื้นที่และทาง อ.สร้างคอม เพื่อที่จะรักษาไว้
“ เท่าที่สอบถามถามกรมศิลปากร ทราบว่าจะมีการขยายการขุดค้นให้กว้างมากขึ้น เพื่อศึกษาพื้นที่ ศึกษาโบราณวัตถุในพื้นที่แห่งนี้ จังหวัดอุดรธานีเองจะให้ความร่วมมือในทุกๆเรื่อง ส่วนที่เป็นห่วงคือเรื่องบุคคลภายนอกที่จะเข้ามาหาประโยชน์ในพื้นที่ เจ้าของที่ดินเองก็ให้ความร่วมมือ แต่เนื่องด้วยเป็นพื้นที่ว่างเปล่า ไม่มีรั้วรอบขอบชิด ก็ได้ขอความร่วมมือจากกำนันผู้ใหญ่บ้านและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลพื้นที่ในเบื้องต้น ”
ภาพ/ข่าว กฤษดา จันทร์ดวง ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.อุดรธานี