“โรคอัลไซเมอร์” กรณีศึกษา หลวงปู่แสง เป็นยังไง ป้องกันได้ไหม

โรคอัลไซเมอร์

"โรคอัลไซเมอร์" ภาวะสมองเสื่อม กรณีศึกษาจากประเด็นดราม่า หลวงปู่แสง ญาณวโร พระเกจิชื่อดัง จ.ยโสธร อาการของโรคนี้เป็นอย่างไร ป้องกันได้หรือไม่

“โรคอัลไซเมอร์” ภาวะสมองเสื่อม โรคสมองเสื่อม เป็นอีกหนึ่งเป็นประเด็นร้อนที่ทำให้ชาวเน็ตแห่ให้ความสนใจอยู่ไม่น้อย สำหรับเรื่องราวดราม่าของ หมอปลา ที่มีการบุกไปตรวจสอบ หลวงปู่แสง ญาณวโร พระเกจิชื่อดัง จ.ยโสธร ก่อนที่ต่อมาจะมีการแสดงหลักฐานว่าหลวงปู่แสงนั่นป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ โดยโรคนี้มีอาการอย่างไร มีวิธีการดูแลแบบไหน และสามารถป้องกันได้หรือไม่ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ แนะแล้ว ดูได้ที่นี่ TOP News

 

 

 

ข่าวที่น่าสนใจ

  • ภาวะสมองเสื่อมคืออะไร

สมองเสื่อม เป็นภาวะที่สมรรถภาพการทำงานของสมองถดถอยบกพร่องในด้านการรู้คิด ได้แก่ ความจำ การตัดสินใจ การวางแผน และบริหารจัดการ การรับรู้รูปทรง และการกะระยะ การใช้ภาษา สมาธิ หรือ ความใส่ใจ ความสามารถในการรับรู้เกี่ยวกับสังคมรอบตัว โดยมีผลกระทบต่อความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวันและการเข้าสังคม แต่ต้องไม่มีภาวะเพ้อ โรคซึมเศร้า โรคทางจิตเวชเรื้อรัง หรือ วิตกกังวลรุนแรงขณะวินิจฉัย ซึ่งการวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมอาศัยข้อมูลจากประวัติทั้งจากผู้ป่วยและญาติที่อยู่ใกล้ชิดรู้จักผู้ป่วยเป็นอย่างดี การตรวจร่างกายทั่วไป การตรวจร่างกายทางระบบประสาท การตรวจทางห้องปฏิบัติการ รวมไปถึงการตรวจทางประสาทจิตวิทยา

 

สมองเสื่อมเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งสาเหตุที่แก้ไขได้และแก้ไขไม่ได้ เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคหลอดเลือดสมอง โรคพาร์กินสัน เนื้องอกสมอง โพรงน้ำในสมองขยายตัว โรคขาดฮาร์โมนต่อมไทรอยด์ โรคติดเชื้อบางชนิด เช่น ชิฟิลิสและเอดส์ เป็นต้น ปัจจบันพบโรคอัลไซเมอร์เป็นสาเหตุของภาวะสมองเสื่อมที่พบบ่อยที่สุด

 

  • โรคอัลไซเมอร์คืออะไร

โรคอัลไซเมอร์ เป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะสมองเสื่อม และเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด โดยความชุกของโรคจะเพิ่มขึ้นตามช่วงอายุ พบความชุกร้อยละ 10-15 ในประชากรที่อายุมากกว่า 65 ปี และพบร้อยละ 20-30 ในประชากรที่อายุมากว่า 80 ปี

 

 

โรคอัลไซเมอร์

 

 

  • สาเหตุของโรค

เกิดจากการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในสมองจนบางส่วนของสมองทำหน้าที่ลดลง เกิดการฝ่อ ทำให้กระทบกับการทำงานของสมองส่วนนั้น และแสดงอาการต่าง ๆ ออกมา เช่น หลงลืม ถามซ้ำ ๆ ฯลฯ อย่างไรก็ตามยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดของโรคนี้ มีการศึกษาพบว่าในสมองของผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มีการสะสมของโปรตีนบางชนิด เช่น อะไมลอยด์ (amyloid) และ ทาว (tau) มากกว่าปกติ

 

  • อาการเป็นอย่างไร

ผู้ป่วยจะมีปัญหาด้านความจำเป็นอาการหลัก ผู้ป่วยจะไม่สามารถจดจำ และเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้ จึงมักจะลืมว่าวางของไว้ที่ไหนทั้งที่พยายามจำ ถามซ้ำ ๆ พูดซ้ำ ๆ เป็นต้น เมื่อโรคดำเนินไปจะทำให้เกิดความบกพร่องของการรู้คิดด้านอื่นร่วมด้วย เช่น หลงทาง คิดเลขไม่ได้ ไม่สามารถจัดการกิจวัตรประจำวันขั้นพื้นฐานได้เอง มีปัญหาด้านอารมณ์ ปัญหาพฤติกรรม และความผิดปกติทางจิตตามมา เช่น หงุดหงิด เฉื่อยชาและเฉยเมย ขาดการยับยั้งชั่งใจ มีอาการหลงผิด ประสาทหลอน เป็นต้น

 

  • เมื่อไหร่จึงต้องพบแพทย์

เมื่อปัญหาด้านความจำที่เกิดขึ้นหรืออาการหลงลืมนั้น ส่งผลให้เกิดความยากลำบากในการจัดการชีวิตประจำวัน เช่น ทำได้ช้าลง ทำผิดบ่อยขึ้น หรืออาการหลงลืมนั้นส่งผลให้เกิดปัญหาในการจัดการชีวิตประจำวันด้วยตนเอง เช่น ต้องการผู้ช่วยเหลือในการจ่ายเงิน ต้องการผู้ช่วยเหลือในการบริหารยาที่ทานประจำ เป็นต้น

 

 

 

  • ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค
  1. อายุที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุด โดยพบว่าหลังอายุ 65 ปี ผู้ป่วยจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเพิ่มเป็น 2 เท่าในทุก ๆ 5 ปีที่อายุมากขึ้น อย่างไรก็ตามมีผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า 65 ปีด้วยเช่นกัน
  2. พันธุกรรม เช่น มีญาติสายตรงในครอบครัวที่ป่วยด้วยโรคนี้หลายคน , มียีนบางอย่างเช่น ApoE4 เป็นต้น
  3. โรคดาวน์ซินโดรม (Down’s syndrome) ผู้ป่วยถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรค เนื่องจากพบว่าผู้ป่วยโรคนี้มีความผิดปกติของการสะสมของโปรตีนบางชนิดที่ทำให้เกิดโรคนี้เช่นกัน
  4. การได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะ มีรายงานการศึกษาทางระบาดวิทยาหลายรายงานพบว่า ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อมจากสาเหตุอื่น ๆ มีประวัติเคยได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะมากกว่าคนที่ไม่มีสมองเสื่อม อย่างไรก็ตามในบางการศึกษาไม่พบว่าการได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะมาก่อนเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะสมองเสื่อม
  5. พบว่าโรคนี้มีส่วนที่เกิดจากโรคของหลอดเลือด รวมถึงพบร่วมกับโรคหลอดเลือดในสมองได้บ่อย ดังนั้นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองจึงอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคนี้ด้วย ดังนี้
    • น้ำหนักเกินมาตรฐาน 
    • การขาดการออกกำลังกาย             
    • การสูบบุหรี่
    • ความดันโลหิตสูง                   
    • ไขมันในเลือดสูง                           
    • โรคเบาหวาน

 

  • การป้องกัน

เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคนี้ การป้องกันโรคจึงเป็นการลดปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคดังนี้

  1. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว และโคเลสเตอรอลสูง
  2. รักษาน้ำหนักตัวไม่ให้เกินมาตรฐาน
  3. ไม่สูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีควันบุหรี่
  4. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  5. ระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุต่อสมอง การพลัดตกหกล้ม
  6. ดูแลสุขภาพร่างกายให้ดี ตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจติดตามโรคประจำตัวที่เป็นอยู่เป็นระยะ ๆ หากมีอาการเจ็บป่วยควรไปพบแพทย์แต่เนิ่น ๆ

นอกจากนี้ การฝึกฝนสมอง เช่น คิดเลข อ่านหนังสือ เล่นเกมส์ ฝึกการใช้อุปกรณ์ใหม่ๆ การพบปะพูดคุยกับผู้อื่นบ่อย ๆ การมีความสัมพันธ์ทางสังคม เช่น ไปวัด ไปงานเลี้ยง เข้าชมรมผู้สูงอายุ ฯลฯ นอกจากนี้อาจช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้ยังช่วยให้ผู้สูงวัยคุณภาพชีวิตที่มีและมีความสุขอีกด้วย

 

 

โรคอัลไซเมอร์

 

 

  • การดูแลรักษาผู้ป่วย

ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานการรักษาโรคให้หายขาด จึงมุ่งเน้นการดูแลรักษาเพื่อช่วยลดความพกพร่องทางการรู้คิด และสนับสนุนให้ผู้ป่วยสามารถประกอบกิจวัตรประจำวันและเข้าสังคมได้มากที่สุด โดยแบ่งเป็น

  1. การรักษาโดยไม่ใช้ยา (Non-Pharmacological Management)

การรักษาด้วยวิธีนี้มีอยู่หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับภาวะความรุนแรงของโรคและขีดความสามารถในการเรียนรู้ของผู้ป่วยแต่ละราย โดยมุ่งเน้นให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสมตามระยะของโรค ดังนี้

1.1 การดูแลเรื่องกิจวัตรประจำวันและการฝึกทักษะการเข้าสังคม

  •  ให้ผู้ป่วยได้ร่วมดูแลเรื่องกิจวัตรประจำวันของตนเองโดยมีผู้ดูแลคอยสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือตามขีดความสามารถของผู้ป่วย
  •  สนับสนุนให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมที่มีส่วนร่วมในสังคมครอบครัวและสังคมภายนอกตามความเหมาะสม

1.2 การดูแลปรับสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม

  •  ลดสิ่งกระตุ้นที่ทำให้อาการแย่ลง เช่น เสียงรบกวน รวมถึงการปรับสภาพที่อยู่อาศัยให้ปลอดภัยง่ายต่อการใช้งาน เช่น ให้พื้นเรียบ ไม่มีของเกะกะทางเดินและแสงสว่างเพียงพอ เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ

1.3 การให้ความรู้กับผู้ดูแลผู้ป่วย

  •  เนื่องจากผู้ป่วยจะเข้าสู่สภาวะที่ต้องพึ่งพา ผู้ดูแลเป็นบุคคลสำคัญที่สุดที่ต้องเข้าใจการดำเนินของโรค และความรู้เกี่ยวการดูแลผู้ป่วยในแต่ละระยะของโรค รวมไปถึงสนับสนุนการดูแลตนเองของผู้ดูแลผู้ป่วย

1.4 การฟื้นฟูผู้ป่วยสมองเสื่อมด้านกายภาพ

  •  เนื่องจากผู้ป่วยที่มีอาการสมองเสื่อมอาจมีขีดความสามารถในการใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ลดลง การปรับอุปกรณ์ให้ง่ายต่อการใช้งานหรือปรับกิจกรรมให้เรียบง่ายและปลอดภัย รวมไปถึงการฝึกการกระตุ้นระบบประสาทสัมผัสโดยการบีบ จัด นวด การกระตุ้นกิจกรรมการเคลื่อนไหวจะทำให้ผู้ป่วยได้ฝึกสมรรถภาพทางกายภาพได้ดียิ่งขึ้น

1.5 การดูแลด้านพฤติกรรมและจิตบำบัด

  •  ปัญหาเรื่องพฤติกรรมและอารมณ์เป็นความผิดปกติที่พบได้บ่อย อาจต้องใช้การรักษาควบคู่ทั้งการรักษาด้วยยาและพฤติกรรมและจิตบำบัด อาจใช้การให้ความรู้แก่ผู้ดูแลเพื่อให้เข้าใจผู้ป่วยและมีวิธีการดูแลได้อย่างเหมาะสม เช่น การเบี่ยงเบนความสนในผู้ป่วยออกจากเรื่องที่กำลังหงุดหงิดหรือโมโห การเสริมสร้างด้านอารมณ์ด้วยดนตรีบำบัด เป็นต้น

 

  1. การรักษาด้วยยา (Pharmacological Management)

ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานว่ามียาที่สามารถรักษาโรคให้หายขาดได้ แต่อาจมียาบางกลุ่มที่สามารถใช้รักษาบรรเทาอาการ และการรักษาประคับประคอง ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก

2.1 ยาที่ใช้รักษาตามอาการด้านการรู้คิด

  •  ได้แก่ยากลุ่มที่ยับยั้งสารที่ทำลายสารสื่อประสาทในสมอง (acetylcholine esterase inhibitor) ทำให้มีสารสื่อประสาทเพิ่มขึ้น เช่น ยา donepezil, galantamine, rivastigmine เป็นต้น สามารถใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยถึงรุนแรง
  •  นอกจากนี้ยังมียากลุ่ม NMDA receptor antagonist เช่น memantine ทำให้ glutamate ไม่สามารถจับกับ receptor ได้ทำให้ลดการเกิดพิษต่อเซลล์ประสาท ใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางถึงรุนแรง

2.2 ยาที่ใช้รักษาปัญหาพฤติกรรม อารมณ์ และความผิดปกติทางจิต

  •  ปัญหาพฤติกรรม อารมณ์ และความผิดปกติทางจิตเกิดได้บ่อยในผู้ป่วยสมองเสื่อม ซึ่งอาจต้องใช้ยาตามอาการทางจิตร่วมรักษา เช่น ยาต้านเศร้า ยาลดอาการหลงผิดประสาทหลอนและอาการกระวนกระวาย ยาคลายกังวลหรือยานอนหลับ โดยแพทย์อาจจะปรับยาตามอาการเพื่อให้สมดุลโดยพิจารณาถึงประโยชน์และผลข้างเคียงของการใช้ยา

 

 

โรคอัลไซเมอร์

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

"ทนายบอสพอล" เผยเป็นไปตามคาด "เอก สายไหม" ถูกจับ จ่อดำเนินคดีหมิ่นประมาท เรียกค่าเสียหาย 100 ล้าน
ศาลออกหมายจับ 'เจ๊หนิง' พร้อมสามีและหลาน ร่วมกันแจ้งความเท็จ 'ภรรยาบิ๊กโจ๊ก'
อิสราเอลถล่มเลบานอนดับครึ่งร้อย
หมายจับ ICC กระทบอิสราเอลอย่างไร
เปิดวิสัยทัศน์ประธานเครือข่ายธุรกิจ Bizclub นครราชสีมาคนใหม่ “กิม ฐิติพรรณ จันทร์ประทักษ์”
เกาหลีใต้ชี้รัสเซียส่งระบบป้องกันภัยทางอากาศให้เกาหลีเหนือ
สหรัฐเมินไฮเปอร์โซนิครัสเซียลั่นไม่หยุดหนุนยูเครน
เมียเอเย่นต์ค้ายาบ้า ร้องถูกตร.รีด 5 แสน แลกปล่อยตัว พ่วงเรียกเก็บเงินรายเดือน
สถาปนาเขตพื้นที่คุ้มครองฯ ชาติพันธุ์ชุมชนชาวเลโต๊ะบาหลิว
ผบ.ตร.สั่งสอบคลิปแก๊งต่างด้าว แสดงพฤติกรรมเย้ยกม. กำชับคุมเข้ม ใช้ยาแรง

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น