วันที่ 26 มิ.ย. 64 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กหัวข้อ “โควิด 19 สายพันธุ์เดลต้า แพร่ระบาดได้ง่าย” ทราบกันดีว่า สายพันธุ์ เดลต้า หรือ อินเดีย ระบาดได้ง่าย เดิมสายพันธุ์ อัลฟา (อังกฤษ) รอบกระจายได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ G มาก จึงระบาดไปทั่วโลก สายพันธุ์ เดลต้า (อินเดีย) ก็ได้ง่ายกว่า สายพันธุ์อังกฤษอีก จึงมีแนวโน้มระบาดมาแทนที่สายพันธุ์อังกฤษอย่างแน่นอน
ตำแหน่งการกลายพันธุ์ที่ทำให้ระบาดได้ง่าย คือจุดตัดของโปรตีนหนามแหลม spike ให้ขาดจากกัน (S1 & S2) โดยอาศัย enzyme จากตัวเรา การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งมาเป็นกรดอะมิโน arginine (R) ที่เป็น Basic amino acid บริเวณจุดตัด ทำให้ enzyme Furin ขอมนุษย์เข้าไปตัดได้ง่ายขึ้น หลังจากที่ ไวรัส ใช้หนามแหลมเกาะบนเซลล์ทางเดินหายใจ ที่จุดรับ ACE2 เมื่อเกาะติดแน่นแล้ว จำเป็นจะต้องมีการตัด เพื่อให้ตัวไวรัสเข้าเซลล์ได้ง่ายขึ้น เมื่อกรดอะมิโน เปลี่ยนแปลงในตำแหน่งนี้ ทำให้ enzyme Furin เปรียบเสมือนเป็นกรรไกรตัด เพื่อปลดปล่อยให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์ จึงทำให้มีการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น เพราะตำแหน่งที่ตัดถ้าเปลี่ยนกรดอะมิโนเป็น ด่าง(base) arginine แล้ว จะตัดได้ง่ายขึ้น ไวรัสก็จะเข้าสู่เซลล์ได้ง่ายขึ้น ทำให้ติดได้ง่ายขึ้น ดังแสดงในรูป
สำหรับ นักเรียนวิทยาศาสตร์ ที่ควรจะได้เรียนรู้ เมื่อติดง่าย ก็จะระบาดได้เร็วขึ้นกว่าสายพันธุ์อังกฤษ ที่เกิดขึ้นในรอบที่ 3 ขณะนี้ แนวโน้มของสายพันธุ์ เดลต้า ในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด และจะทำให้เกิดการระบาดง่ายขึ้น การควบคุมก็จะยากขึ้น
การที่จะลดการระบาดของโรคในขณะนี้ สามารถทำได้โดย ระเบียบวินัยที่เคร่งครัด ในการป้องกันตนเองอย่างที่ปฏิบัติกันมา ไม่ว่าจะใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ กำหนดระยะห่างต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ ลดการเคลื่อนย้าย ของแรงงานอย่างเด็ดขาด ให้วัคซีนให้มากที่สุด และเร็วที่สุด ในการลดความรุนแรงของโรค และการแพร่กระจาย ให้ได้มากที่สุด