"โลมาอิรวดี" เตรียมรับข่าวดี ผลักดันเป็นสัตว์สงวนแห่งชาติ หลังปัจจุบันเหลือเพียง 14 ตัว ในทะเลสาบสงขลา ด้านผู้เชี่ยวชาญเร่งดูแลเต็มที่
ข่าวที่น่าสนใจ
นับเป็นข่าวดีไม่ใช่น้อย สำหรับ “โลมาอิรวดี” สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหายากจัดอยู่ในสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ (EN-Endangered) โดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ โดยก่อนหน้านี้โลมาชนิดนี้เคยเป็นสัตว์สูญพันธุ์มาก่อน แต่โชคยังดีที่มีการฟื้นฟูกลับมาได้ทันก่อนที่ตัวสุดท้ายจะจากไป
ลักษณะเด่น
- มีรูปร่างคล้ายโลมา
- หัวโปนกลมมน
- ลำตัวสีเทาล้วน ตาเล็ก ปากสั้น
- ครีบบนมีขนาดเล็ก
- น้ำหนัก 90- 200 กิโลกรัม
- มีฟัน 12-19 ซี่ ที่ขากรรไกรทั้งสองข้าง
- ตัวเมียตั้งท้อง 9 เดือน คลอดลูกครั้งละ 1 ตัว
ส่วนใหญ่ น้องต้องจากโลกไป เพราะ อวนลาก เศษซากอวนที่ถูกทิ้งในทะเลไปขวางทางพันตัวรัดเป็นแผลจนตาย หรือการสร้างเขื่อน ทำให้เกิดตะกอนลงไปในแหล่งอาหารแหล่งอาศัย จนกระทั่งปีพ.ศ.2546 น้องได้รับการคุ้มครองเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ตามข้อตกลงระหว่างประเทศจากการประชุม CITES ครั้งที่ 13 ซึ่งไทยเสนอให้น้องเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองบัญชีที่ 1 กลายเป็นสัตว์ได้รับความคุ้มครองสูงสุดในระดับนานาชาติ
และเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา อาจารย์ธรณ์ ธํารงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ได้โพสต์บน Facebook ส่วนตัว โดยระบุว่า คณะกรรมการทะเลแห่งชาติรับข้อเสนอให้ “โลมาอิรวดี” เป็นสัตว์สงวนแล้ว “วันนี้มีการประชุมคณะกรรมการทะเลชาติ (กทช.) มีท่านรองนายกเป็นประธาน ท่านรัฐมนตรีเป็นรองประธาน ผมเสนอให้โลมาชนิดนี้เป็นสัตว์สงวน ที่ประชุมเห็นชอบครับ”
การเป็นสัตว์สงวนมีประโยชน์อย่างไร เรื่องนั้นคงตอบได้ตั้งแต่เต่ามะเฟือง ฉลามวาฬ วาฬบรูด้า/โอมูระ กฏหมายชัดเจน ความสนใจเพิ่มมากขึ้นงบประมาณและการดูแลอนุรักษ์ยกระดับไปอีกขั้น ฯลฯ แต่การผลักดันให้สัตว์สักชนิดเป็นสัตว์สงวน ต้องดูทุกด้านให้ครบ โดยเฉพาะสถานภาพและการถูกคุกคาม ในกรณีโลมาชนิดนี้ ที่ถูกจัดสถานภาพ endangered เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในระดับโลก (IUCN) ยังรวมถึง 14 ตัวสุดท้าย ที่เหลืออยู่ในทะเลสาบสงขลาที่เสี่ยงมาก ๆ ๆ ต่อการสูญพันธุ์จากพื้นที่น้ำจืด 1 ใน 5 ของโลก
ขั้นตอนต่อจากนี้จะเป็นการดำเนินงานของกรมทะเลร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อนำเสนอเรื่องอีกครั้ง ผ่านคณะกรรมการก่อนเข้าคณะรัฐมตรี ไปกฤษฎีกา ฯลฯ
แน่นอนว่าคงไม่เร็ว แต่เมื่อเทียบกับความพยายามหลายหนที่ผ่านมา เรามาถึงจุดเดินหน้าได้แล้วครับ ในระหว่างนี้ เราก็ต้องช่วย 14 โลมาแห่งทะเลสาบสงขลาไปด้วย เป็นการทำงานคู่ขนาน หากน้องได้เป็นสัตว์สงวน ยังมีผลถึงโลมาในทะเลที่อื่น ๆ เช่น ดอนสัก/ขนอม อ่าวไทยตอนใน ตรัง/กระบี่ ฯลฯ
ข้อมูล : Thon Thamrongnawasawat
ข่าวที่เกี่ยวข้อง