ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. ได้โพสต์เฟซบุ๊กว่า ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. หลายคนยังลังเลว่าจะเลือกใครดี ? จะเลือกคนนั้นที่ดูว่าน่าจะทำงานได้ดีกว่าก็กลับเป็นผู้สังกัดพรรคการเมืองหรือฝักใฝ่การเมืองฝ่ายโน้น ดังนั้น เลือกคนนี้ดีกว่าเพราะสังกัดพรรคการเมืองหรือฝักใฝ่การเมืองที่เรานิยมชมชอบ ตกลงว่าเราจะเลือกผู้ว่าฯ กทม. ให้มาพัฒนาเมือง หรือให้มาทำงานการเมืองกันแน่ ?
"ดร.สามารถ" ตั้งคำถามคนกรุงฯ อยากเลือกผู้ว่าฯ กทม. ให้พัฒนาเมือง หรือหวังให้ไปทำการเมือง
ข่าวที่น่าสนใจ
1. การพิจารณาเลือกผู้ว่าฯ กทม.
ผมแบ่งการพิจารณาเลือกผู้ว่าฯ กทม. ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งออกเป็น 5 กลุ่มหลัก ดังนี้
1.1 พิจารณาจากแนวคิดทางการเมือง
ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งกลุ่มนี้จะเลือกผู้ว่าฯ กทม. โดยพิจารณาจากพรรคการเมืองที่ผู้สมัครสังกัดหรือแนวคิดทางการเมืองของผู้สมัครเป็นหลัก ถ้าเห็นว่าสังกัดพรรคการเมืองหรือมีแนวคิดทางการเมืองเหมือนตนก็จะตัดสินใจเลือก ในกรณีมีผู้สมัครที่มีคุณสมบัติเช่นนี้มากกว่า 1 คน ก็จะพิจารณาเลือกคนที่มีโอกาสชนะผู้สมัครที่สังกัดพรรคการเมืองหรือมีแนวคิดทางการเมืองตรงข้ามกับตน เพื่อป้องกันเสียงแตก หรือไม่ให้แข่งขันกันเอง โดยไม่คำนึงถึงศักยภาพด้านการพัฒนาเมืองของผู้สมัคร เพียงแต่หวังจะเอาชนะทางการเมืองเท่านั้น พูดได้ว่าต้องการให้ผู้ว่าฯ กทม. มาทำงานสนับสนุนพรรคการเมืองหรือแนวคิดทางการเมืองที่ตนนิยมชมชอบ เพื่อเป็นฐานเสียงการเมืองระดับประเทศ
1.2 พิจารณาจากศักยภาพด้านการพัฒนาเมือง
ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งกลุ่มนี้จะเลือกผู้ว่าฯ กทม. โดยพิจารณาจากความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ของผู้สมัครว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมกับการบริหารและพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นมหานครที่น่าอยู่ และน่าท่องเที่ยวได้หรือไม่ ? โดยไม่คำนึงถึงแนวคิดทางการเมือง และการสังกัดพรรคหรือไม่ ในกรณีมีผู้สมัครที่มีคุณสมบัติดังกล่าวมากกว่า 1 คน ก็จะตัดสินใจเลือกคนที่มีศักยภาพมากที่สุด
การทำกรุงเทพฯ ให้เป็นมหานครที่น่าอยู่และน่าท่องเที่ยว อย่างน้อยจะต้องทำให้กรุงเทพฯ เป็นดังนี้
– มีการเดินทางสะดวก รถติดน้อย โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชน และรถโดยสารสาธารณะ เช่น มีทางเท้าน่าเดิน ไม่มีสิ่งกีดขวาง ไม่มีหลุมบ่อ เป็นต้น
– สะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย มีมลภาวะน้อย มีพื้นที่สีเขียวเพียงพอ
– ไม่มีน้ำท่วมขัง
– มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีไฟแสงสว่างเพียงพอ
1.3 พิจารณาจากความชอบส่วนตัว
ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งกลุ่มนี้จะเลือกผู้ว่าฯ กทม. โดยพิจารณาจากความชอบส่วนตัว ไม่คำนึงถึงแนวคิดทางการเมือง การสังกัดพรรคหรือไม่ จะอยู่ฝ่ายไหนไม่สำคัญ และไม่คำนึงถึงศักยภาพด้านการพัฒนาเมือง จะมีความสามารถมากน้อยแค่ไหนก็ไม่เป็นไร ในกรณีมีผู้สมัครที่ตนชื่นชอบมากกว่า 1 คน ก็จะตัดสินใจเลือกคนที่ตนชอบมากที่สุด
1.4 พิจารณาจากแนวคิดทางการเมืองและศักยภาพด้านการพัฒนาเมือง
ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งกลุ่มนี้จะเลือกผู้ว่าฯ กทม. โดยพิจารณาจากแนวคิดทางการเมืองและศักยภาพด้านการพัฒนาเมือง แต่จะให้ความสำคัญต่อแนวคิดทางการเมืองเป็นอันดับแรก ถ้าเป็นผู้สมัครที่มีแนวคิดทางการเมืองเหมือนกับตนก็จะตัดสินใจเลือก ในกรณีมีผู้สมัครที่มีคุณสมบัติดังกล่าวมากกว่า 1 คน ก็จะตัดสินใจเลือกผู้สมัครที่มีศักยภาพด้านการพัฒนาเมืองมากที่สุด โดยไม่คำนึงว่าเสียงจะแตกหรือไม่
1.5 พิจารณาจากแนวคิดทางการเมืองและความชอบส่วนตัว
ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งกลุ่มนี้จะเลือกผู้ว่าฯ กทม. โดยพิจารณาจากแนวคิดทางการเมืองและศักยภาพด้านการพัฒนาเมือง แต่จะให้ความสำคัญต่อแนวคิดทางการเมืองเป็นอันดับแรก ถ้าเป็นผู้สมัครที่มีแนวคิดทางการเมืองเหมือนกับตนก็จะตัดสินใจเลือก ในกรณีมีผู้สมัครที่มีคุณสมบัติดังกล่าวมากกว่า 1 คน ก็จะตัดสินใจเลือกผู้สมัครที่ตนมีความนิยมชมชอบมากที่สุด โดยไม่คำนึงว่าเสียงจะแตกหรือไม่
2. แนวคิดของผม
ในฐานะที่ผมเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกผู้ว่าฯ กทม. คนหนึ่ง ผมต้องการให้กรุงเทพฯ ได้รับการพัฒนาเป็นมหานครที่น่าอยู่และน่าท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน นั่นหมายความว่าผมจะพิจารณาเลือกผู้สมัครจากศักยภาพด้านการพัฒนาเมืองเป็นสำคัญ
แต่อย่างไรก็ตาม ผมจะไม่พิจารณาศักยภาพของผู้สมัครจากโปรไฟล์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะโปรไฟล์ที่สวยหรูอาจถูกปรุงแต่งด้วยกลวิธีต่างๆ นานา ด้วยเหตุนี้ ผมจึงจำเป็นต้องหาข้อมูลเชิงลึกของผู้สมัครที่มีโปรไฟล์สวยหรูให้รู้ถึงภูมิหลังที่แท้จริงว่า เก่งจริงหรือคุยโม้โอ้อวดและยกตนข่มท่าน ? ดีจริงหรือเสแสร้ง ?
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
-