ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า “ อินโดนีเซีย พบ “ซิโนแวคเข็ม 3” ไม่ได้ภูมิคุ้มกันเพิ่มจริงหรือ?” มีท่านหนึ่ง ส่งภาพนี้ (ภาพที่ 1) มาให้ผมดูแล้วบอกว่า ช่วยตรวจสอบหน่อยว่า จริงหรือไม่? มีการแชร์กันเยอะในทวิตเตอร์ ทำให้คนเกิดความไม่เชื่อมั่นใน Sinovac
ผมก็สงสัยเช่นกัน จึงลองไปค้นหาข่าวนี้ดู ซึ่งปกติผมชำนาญเรื่องการค้นหาข่าวอยู่แล้ว ยิ่งเป็นข่าวการวิจัยจากต่างประเทศยิ่งไม่ยาก แต่คราวนี้แปลกครับ ค้นหาข่าวการวิจัยนี้ไม่เจอเลย ใส่คำค้นไปทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ Indonesia Sinovac Third Dose ก็ไม่เจอการวิจัยนี้เลย
สุดท้าย เลยใช้วิชาของโคนันยอดนักสืบ ลองไปไล่ดูเลยครับ จากเพจของข่าวเวิร์คพอยค์ ตามเวลา 7.20.41 ที่เห็นในภาพนี่แหละครับ ไล่ย้อนไปทีละวัน ในที่สุดก็เจอข่าวนี้ครับ (ภาพที่ 2)
https://www.facebook.com/NewsWorkpoint/videos/597253264573943/ (นาทีที่ 55.05)
ซึ่งข่าวนี้ รายงานโดย คุณหยก รินรดา รวีเลิศ (ขออนุญาตเอ่ยชื่อเนื่องจากเป็นเจ้าของเนื้อหานี้) โดยเท่าที่ฟังจากการนำเสนอก็เข้าใจได้ว่า สกู๊ปนี้ คุณหยก เป็นผู้ทำเนื้อหาเอง แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นคนเขียนพาดหัวนี้เองหรือไม่
คุณหยก ก็เล่าว่า มีการวิจัยที่อินโดนีเซีย (Antibody Response to CoronaVac Vaccine in Indonesian COVID-19 Survivor https://www.medrxiv.org/…/2021.05.28.21254613v1.full-text) (รูปที่ 3) ได้ทำการทดสอบภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้น เปรียบเทียบการฉีดวัคซีนซิโนแวค “สองเข็ม” ระหว่างคนสามกลุ่ม คือ คนติดเชื้อโควิดและมีภูมิขึ้นเมื่อหายแล้ว คนที่ติดเชื้อโควิดและไม่มีภูมิขึ้นเมื่อหายแล้ว และคนที่ไม่เคยติดเชื้อโควิดมาก่อน
ซึ่งผลการวิจัยโดยสรุป พบว่า การฉีดซิโนแวคเข็มแรก ทำให้ภูมิกลุ่มที่ 1 ขึ้นสูง แต่อีกสองกลุ่มยังไม่ค่อยขึ้น แต่พอเข็มสอง กลุ่มที่ 1 กลับไม่ค่อยขึ้นไปเท่าไหร่ แต่อีกสองกลุ่มขึ้นมาได้สูงพอสมควร (แต่ก็ยังต่ำกว่ากลุ่มที่ 1 เข็มแรก)
คุณหยก ก็เลยกล่าวว่า สรุปได้ว่า กลุ่มที่ 1 มีภูมิจากการติดโควิด เท่ากับฉีดเข็ม 1 ดังนั้น พอฉีดเข็มแรก ก็เท่ากับฉีดเข็มที่ 2 ภูมิเลยขึ้นสูง (เพราะ ซิโนแวค ต้องฉีดสองเข็มถึงจะภูมิขึ้น) แต่พอฉีดเข็มที่ 2 ซึ่งนับเป็นโดสที่ 3 แล้วภูมิไม่ขึ้น เพราะฉะนั้น งานวิจัยจึงแนะนำว่า คนกลุ่มที่ 1 ฉีดซิโนแวคเข็มเดียวก็พอ
ซึ่งผมก็เข้าไป search หาอ่านบทความวิจัยนี้ ก็พบว่า มีเนื้อหาตามที่คุณหยกเล่ามาเป็นส่วนใหญ่ แต่มันผิดในจุดที่สำคัญตรงที่ว่า พาดหัวข่าวไปใช้ว่า “อินโดนีเซียพบ “ซิโนแวคเข็ม 3″ ไม่ได้ภูมิคุ้มกันเพิ่ม” มันไม่ตรงกับข้อเท็จจริงครับ
เพราะในการวิจัยนี้ ไม่มีใครได้ฉีดเข็ม 3 แม้แต่คนเดียวครับ ทั้งหมดเป็นการอนุมาน สรุปเทียบเคียงเอาเองของคุณหยก ทั้งการเทียบเคียงว่า ภูมิที่ได้จากการติดเชื้อ เทียบเท่ากับการฉีดวัคซีนเข็มแรก ไปจนถึงการฉีดเข็มแรกเท่ากับเข็มสอง และการฉีดเข็มสองเท่ากับเข็มสาม ซึ่งในการวิจัยนี้ไม่ได้มีการเปรียบเทียบอย่างนั้นเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่ได้เปรียบเทียบกับ “เข็มที่ 3” อย่างแน่นอน เพราะในบทความวิจัยนี้ ไม่มีการเอ่ยถึง “เข็มที่ 3” เลยแม้แต่ครั้งเดียว
ดังนั้น การสรุปว่า ฉีดเข็มที่ 3 แล้ว ไม่ได้ภูมิคุ้มกันเพิ่ม จึงเป็นข้อความที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญ ซึ่งเป็นคนละประเด็นว่า ถ้าต่อไปมีการวิจัยแล้วฉีดเข็ม 3 ภูมิไม่ขึ้นจริง ๆ เพราะในงานนี้ ไม่ได้มีการฉีดเข็มสามจริง
และนี่ก็คือเหตุผลสำคัญ ที่ผมหางานวิจัย “ซิโนแวค เข็มที่ 3 ที่อินโดนีเซีย” ไม่เจอตั้งแต่แรก เพราะมันไม่มีนั่นเอง และเราก็ไม่สามารถสรุปเอาได้อย่างแน่ชัดหรอกครับ ว่า ซิโนแวค เข็ม 3 จะมีผลอย่างไร จนกว่าจะมีการวิจัยที่ฉีดเข็ม 3 จริง ๆ
ซึ่งถ้า คุณหยก จะเทียบเคียงเอาแบบนี้ ก็อาจจะทำได้ แต่ก็ควรต้องชี้แจงด้วยว่าเป็นความเห็นส่วนตัว ไม่ได้มาจากงานวิจัย ซึ่งพอได้ดูคลิปนี้จบ ผมก็เลยรู้สึกคุ้น ๆ ว่าเคยอ่านผลการวิจัยนี้ที่ไหน เลยลองไปดู FB ของท่าน ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา และก็พบจริง ๆ https://www.facebook.com/anan.jongkaewwattana/posts/4519811588058728 ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่า คุณหยก ได้อ่านโพสต์ของท่าน ดร. อนันต์ ที่นำงานวิจัยนี้มาพูดถึงหรือไม่ (แต่ก็เห็นคุณหยกก็อ้างอิงท่านในหลาย ๆ ข่าว)
แต่ไม่ว่า จะได้อ่านหรือไม่ การที่ คุณหยก ไม่ได้อ้างถึงท่าน ดร.อนันต์ ในสกู๊ปนี้ ก็ย่อมแปลว่า ความคิดเห็นในสกู๊ปนั้น เป็นความคิดเห็นของตัวคุณหยกเอง แต่โพสต์ของท่านอาจารย์อนันต์ กับข่าวชิ้นนี้นั้น ต่างกันตรงที่ ท่านอาจารย์อนันต์ ยังพูดชัดเจนว่า “ข้อมูลของการฉีดวัคซีน Sinovac 3 เข็ม ยังไม่มีออกมายืนยัน ทำให้การอ้างอิงข้อมูลจะใช้ความเห็นมากกว่าข้อเท็จจริง” และแม้ท่านจะเปรียบเทียบการฉีดเข็ม 2 ของคนมีภูมิกับการฉีดเข็ม 3 แต่ท่านใช้คำว่า “คล้ายๆ” และแค่ “บอกเป็นนัยๆ” เท่านั้น แต่ไม่ได้สรุปฟันธงเหมือนพาดหัวของสกู๊ปข่าวนี้ที่บอกว่า “อินโดนีเซียพบ “ซิโนแวคเข็ม 3″ ไม่ได้ภูมิคุ้มกันเพิ่ม” (ซึ่งอาจจะไม่ใช่คุณหยกเขียนเองก็ได้)
จุดประสงค์ของโพสต์นี้ ไม่ได้อยากจะตำหนิคุณหยกนะครับ เพราะปกติเป็นผู้ประกาศ ที่ผมชื่นชมคนหนึ่ง ว่าอ่านข่าวได้ดี ไม่ใส่อารมณ์ หรือความคิดเห็นลงไปในข่าวมากเกินควร แต่เพียงแค่อยากจะชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงในประเด็นที่กำลังมีคนเข้าใจผิดเท่านั้นเองครับ แต่ก็อยากชี้ให้เห็นว่า เรื่องของวัคซีน เป็นประเด็นร้อนที่ละเอียดอ่อน ต้องระมัดระวังการนำเสนอให้มากกว่าเรื่องทั่วไป เพราะอาจก่อให้เกิดผลกระทบและความเข้าใจผิดในวงกว้างได้ครับ