"ไข้หวัดใหญ่" ไข้หวัดธรรมดา หรือ ไข้เลือดออก รู้ได้อย่างไร มาทำความเข้าใจอาการ ปวดศีรษะ อาเจียน เบื่ออาหาร รวมถึงวิธีการดูแลเบื้องต้นของแต่ละโรค ที่นี่
ข่าวที่น่าสนใจ
จะแยก ไข้หวัดใหญ่ และ ไข้เลือดออก จาก ไข้หวัดธรรมดา อย่างไร
สาเหตุของไข้หวัด
- เกิดจากการติดเชื้อไวรัส สามารถติดต่อกันทาง น้ำมูก น้ำลาย ไอ จาม โดยเฉพาะการอยู่ในที่แออัด เช่น สถานเลี้ยงเด็ก โรงเรียน ห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ที่อากาศถ่ายเทไม่ดี ในเด็กเล็กและคนสูงอายุ อาจติดไข้หวัดได้ง่าย และมีอาการรุนแรงกว่าในช่วงอายุอื่น ๆ
อาการของไข้หวัด
- อาจมีไข้ต่ำ ๆ หรือไม่มีก็ได้ มีอาการ ไอ จาม น้ำมูกไหล ส่วนมากช่วงแรกน้ำมูกใส ถ้าเป็นหลายวันสีน้ำมูกจะข้นขึ้น นอกจากนี้ จะมีอาการ คัดจมูก แน่นจมูก หายใจไม่ออก ในเด็กเล็กอาจจะมีอาการกวน หรืองอแงมากกว่าปกติ
“โรคไข้หวัดธรรมดา มักจะไข้ต่ำ ๆ หรือไม่มีไข้ มีอาการน้ำมูก ไอ จาม ชัดเจน ส่วน โรคไข้หวัดใหญ่ มักจะไข้สูง ปวดเมื่อยตัว ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร อาจมีคลื่นไส้ อาเจียน ผู้ป่วยจะค่อนข้างซม ขณะที่ เด็กเป็นไข้หวัดธรรมดาอาจงอแงบ้าง แต่ยังเล่นได้ ส่วนไข้เลือดออกนั้นจะมีไข้สูงลอย ทานยาลดไข้ ไข้ก็ไม่ค่อยลง มีอาการหน้าแดง อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกระดูก อาจมีปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน มักมีจุดเลือดออกหลังจากมีไข้ 3 – 4 วัน มักจะไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก ดังนั้น กรณีที่มีไข้สูงลอยเกินกว่า 2 – 3 วัน และอาการดังกล่าวไม่ดีขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์ ทั้งนี้ โรคไข้หวัดโดยทั่วไป อาการไม่รุนแรงสามารถหายได้เอง”
วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดมีหรือไม่
- เนื่องจากโรคไข้หวัดสามารถเกิดจากไวรัสหลายชนิด การทำวัคซีนเป็นไปได้ยาก จึงยังไม่มีวัคซีนเฉพาะ แต่วัคซีนที่ควรฉีดคือ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ เริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป ฉีดได้ทุกช่วงอายุ และควรฉีดทุกปี โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุหรือผู้ที่เป็นโรคเรื้อรังต่าง ๆ
อาการของโรคไข้เลือดออก
- จะแสดงหลังจากได้รับเชื้อจากยุงประมาณ 5 – 8 วัน (ระยะฟักตัว) ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการของโรคโดยมีความรุนแรงแตกต่างกัน ตั้งแต่มีอาการคล้ายเป็นไข้ไปจนถึงมีอาการรุนแรงมากจนถึงช็อกและอาจเสียชีวิตได้ โรคไข้เลือดออกมีอาการสำคัญที่เป็นรูปแบบค่อนข้างเฉพาะ ได้แก่
- อาการไข้สูง 2 – 7 วัน ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกทุกรายจะมีไข้สูงเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ส่วนใหญ่ไข้จะสูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส ไปจนถึง 40 – 41 องศาเซลเซียส ซึ่งบางรายอาจมีอาการชักเกิดขึ้นได้โดยเฉพาะในเด็กที่เคยมีประวัติชัก
เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน - อาการเลือดออก ที่พบบ่อยที่สุดคือที่ผิวหนัง โดยจะตรวจพบว่าเส้นเลือดเปราะ แตกง่าย ร่วมกับมีจุดเลือดออกเล็ก ๆ กระจายอยู่ตามแขน ขา ลำตัว รักแร้ อาจมีเลือดกำเดาหรือเลือดออกตามไรฟัน ในรายที่รุนแรงอาจมีการอาเจียนและถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ซึ่งมักจะเป็นสีดำ (melena) อาการเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนใหญ่จะพบร่วมกับภาวะช็อก
- ตับโต กดแล้วเจ็บ ส่วนใหญ่จะคลำพบตับโตได้ประมาณวันที่ 3 – 4 นับแต่เริ่มป่วย ตับจะนุ่มและกดเจ็บ
- ภาวะการไหลเวียนเลือดล้มเหลว ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยไข้เลือดออกจะมีอาการรุนแรง โดยเกิดภาวะการไหลเวียนเลือดล้มเหลวหรือภาวะช็อก เนื่องจากมีการรั่วของพลาสมาออกไปยังช่องปอดหรือช่องท้องมาก เกิด hypovolemic shock ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว เวลาที่เกิดภาวะช็อกจึงขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่มีไข้ อาจเกิดได้ตั้งแต่วันที่ 3 ของโรค หรือวันที่ 8 ของโรค ผู้ป่วยจะมีอาการแย่ลง เริ่มมีอาการกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ชีพจรเบา – เร็ว และความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง
การรักษาโรคไข้เลือดออก
- ขณะนี้ ยังไม่มียาต้านไวรัสที่มีฤทธิ์เฉพาะสำหรับเชื้อไข้เลือดออก การรักษาโรคนี้เป็นการรักษาตามอาการและประคับประคอง ซึ่งจะได้ผลดีถ้าได้รับการวินิจฉัยโรคได้ถูกต้องตั้งแต่ระยะแรก แพทย์ผู้รักษาจะต้องเข้าใจธรรมชาติของโรคและให้การดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด จะต้องมีการดูแลที่ดีตลอดระยะเวลาวิกฤติ ประมาณ 24 – 48 ชั่วโมงที่มีการรั่วของพลาสมา โดยมีหลักปฏิบัติดังนี้
- ในระยะไข้สูง บางรายอาจมีการชักได้ถ้าไข้สูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่มีประวัติเคยชัก หรือในเด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน จำเป็นต้องให้ยาลดไข้ ควรใช้ยาพาราเซตามอล ห้ามใช้ยาพวกแอสไพริน เพราะจะทำให้เกร็ดเลือดเสียการทำงาน และระคายกระเพาะอาหารทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น และควรใช้การเช็ดตัวเพื่อลดไข้ร่วมด้วย
- ให้ผู้ป่วยได้น้ำชดเชย เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มีไข้สูง เบื่ออาหาร และอาเจียน ทำให้ขาดน้ำ ควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำผลไม้หรือสารละลายผงน้ำตาลเกลือแร่ (โอ อาร์ เอส) ในรายที่อาเจียนควรให้ดื่มครั้งละน้อย ๆ และดื่มบ่อย ๆ
- ติดตามดูอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันภาวะช็อกได้ทันเวลา
- เมื่อผู้ป่วยไปตรวจที่โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่ให้การรักษาได้ แพทย์จะตรวจเลือดดูปริมาณเกร็ดเลือดและความเข้มข้นของเลือด และอาจนัดมาตรวจดูการเปลี่ยนแปลงของเกร็ดเลือดและความเข้มข้นของเลือดเป็นระยะ ๆ เพราะถ้าปริมาณเกร็ดเลือดเริ่มลดลงและความเข้มข้นเลือดเริ่มสูงขึ้น เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าน้ำเลือดรั่วออกจากเส้นเลือดและอาจช็อกได้ จำเป็นต้องให้สารน้ำชดเชย
เช็คให้ชัวร์อาการต่างกันอย่างไร
ไข้หวัดธรรมดา
- ไข้ต่ำ หรือไม่มีไข้
- คัดจมูก น้ำมูกไหล หายใจไม่ออก
- ไอ
- จาม
- เด็กเล็กจะกวน หรืองอแงมากกว่าปกติ
ไข้หวัดใหญ่
- มีไข้สูง
- เบื่ออาหาร
- ปวดศีรษะ
- ปวดเมื่อยตัว
- ผู้ป่วยค่อนข้างซม
- คลื่นไส้
- อาเจียน
ไข้เลือดออก
- มีไข้สูงลอย
- ทานยาลดไข้ไม่ค่อยลดลง
- ปวดศีรษะ
- ปวดกระดูก
- คลื่นไส้
- อาเจียน
- หน้าแดง
- อ่อนเพลีย
- มีจุดเลือดออก หลังมีไข้ 3 – 4 วัน
ข้อมูล : Siriraj Piyamaharajkarun Hospital
ข่าวที่เกี่ยวข้อง