การเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ครั้งนี้ นอกจากจะมีสีสันเจิดจรัสจากตัวตนของบรรดาผู้สมัครโปรไฟล์ดีมีชื่อเสียงในหลายแวดวง เสนอตัวมาลงประชันแข่งขันหวังชิงตำแหน่งพ่อเมืองหลวงคนใหม่แล้ว ….. สีสันที่สำคัญไม่น้อยไปกว่า นั้นก็คือเหล่ากองเชียร์ ของ 3 ตัวเต็ง จากฐานแฟนคลับรัฐบาลไทย หรือที่ฝ่ายตรงข้ามให้คำนิยามไว้อย่างเท่ๆ ว่า “สลิ่ม” พากันแตกขบวน แบ่งแยกออกเป็น 3 ส่วน ไม่ว่าจะเป็นกองเชียร์ของ “สกลธี ภัททิยกุล” หรือ “จั้ม”หมายเลข 3 ผู้สมัครในนามอิสระ , กองเชียร์ของ “สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” หรือ “เอ้” หมายเลข 4 และ “พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง” หรือ วิน หมายเลข 6 ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า ฝีไม้ลายมือความสามารถ “ไม่มีใครเป็นรองใคร”
ทีมข่าว Top News สรุปสั้นๆม้วนเดียวจบ กับโปรไฟล์รายละเอียดที่มาที่ไป ก่อนจะเตรียมสตาร์ท ลงสนามแข่งขันจริง ในวันที่ 22 พฤพาคม 2565 ที่กำลังจะถึงนี้
เริ่มต้นจาก “สกลธี ภัททิยกุล” หรือ “จั้ม”หมายเลข 3 จบป.โท กฎหมาย สหรัฐอเมริกา รับราชการกรมสอบสวนคดีพิเศษ อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ แกนนำ กปปส. ต่อต้านระบอบทักษิณ
จบการศึกษาในระดับมัธยมจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียลและโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จบปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโทด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยอินเดียน่าและ มหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เคยรับราชการอยู่ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และได้รับการดึงตัวจากนายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม ให้ไปช่วยงานเป็นเลขานุการส่วนตัว
“สกลธี” เข้ารับราชการในกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ต่อมาได้ทำหน้าที่เลขานุการของนายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม กระทั่งในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2550 สกลธี ได้ลาออกจากราชการเพื่อไปสมัครลงรับเลือกตั้งกับทางพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งจากการเป็นบุตรชายของ พล.อ.วินัย เลขาธิการ คมช. จึงทำให้ถูกมองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจของ คมช. แต่ทั้งนายสกลธี พล.อ.วินัย และทางพรรคประชาธิปัตย์ได้ปฏิเสธเรื่องนี้อย่างสิ้นเชิง
ในการเลือกตั้งในปลายปี พ.ศ. 2550 สกลธี ลงสมัครในกรุงเทพมหานคร เขต 4 คือ เขตจตุจักร, บางซื่อ, หลักสี่ คู่กับนายบุญยอด สุขถิ่นไทย และนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ซึ่งได้รับเลือกตั้งทั้ง 3 คน ต่อมาการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย พ.ศ. 2554 สกลธี ได้ลงสมัครในกรุงเทพมหานคร เขต 11 คือ เขตหลักสี่ โดยมีคู่แข่งคือ นายสุรชาติ เทียนทอง บุตรชายของนายเสนาะ เทียนทอง ผลปรากฏว่า ไม่ได้รับการเลือกตั้ง
ในปี พ.ศ. 2561 ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตามคำสั่งกรุงเทพมหานครที่ 1215/2561 ลงนามโดย พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง สืบต่อจาก พลตำรวจเอกชินทัต มีศุข ซึ่งย้ายไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2561
ในวันเสาร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2561 เขาได้ไปร่วมงานเปิดตัว พรรคพลังประชารัฐ กระทั่งวันเสาร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2562 ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของพรรคพลังประชารัฐ ประจำปี 2562 ที่ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ สกลธีได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค แต่เขาได้ลาออกจากพรรคพลังประชารัฐในเวลาต่อมา
ในวิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2556–2557 สกลธีถือเป็นแนวร่วมคนสำคัญคนหนึ่งของกปปส. ร่วมกับคนอายุคราวเดียวกัน คือ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ, นายชุมพล จุลใส และ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์