"ฝีดาษลิง" โรคต้องจับตา กรมควบคุมโรคแนะเฝ้าระวังให้ดี สามารถติดจากสัตว์สู่คนได้ พร้อมแนะวิธีป้องกันเชื้อโรคอย่างไรให้ปลอดภัย
ข่าวที่น่าสนใจ
“ฝีดาษลิง” กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชน ให้เฝ้าระวังและป้องกันให้ดี ย้ำติดต่อจากสัตว์สู่คน และติดจากคนสู่คนได้ พบมากในประเทศแถบแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก ได้แก่
- แคเมอรูน
- สาธารณรัฐแอฟริกากลาง
- คองโก
- กาบอง
- ไลบีเรีย
- ไนจีเรีย
- เซียร์ราลีโอน
การพบผู้ป่วยในประเทศนอกเขตแอฟริกา เช่น
- สหรัฐอเมริกา
- อิสราเอล
- สิงคโปร์
- สหราชอาณาจักร
มักเกิดจากการเดินทางระหว่างประเทศหรือการนำเข้าสัตว์ที่ติดเชื้อ
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรณีสหราชอาณาจักรพบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงเพิ่ม 4 คน รวมเป็น 7 คนนั้น โรคฝีดาษ ลิงไม่ใช่โรคใหม่ แต่เคยระบาดมาแล้วมากกว่า 20 ปี
ฝีดาษ ลิงเกิดจากอะไร
- เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Poxviridae จัดอยู่ในจีนัส Orthopoxvirus เช่นเดียวกับไวรัสอีกหลายชนิด ได้แก่ ไวรัสที่ทำให้เกิดฝีดาษในคนหรือไข้ทรพิษ (variola virus) ไวรัสที่นำมาผลิตวัคซีนป้องกันฝีดาษในคน (vaccinia virus) และฝีดาษวัว (cowpox virus)
- เชื้อไวรัสฝีดาษ ลิง พบได้ในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะ เช่น กระรอก หนูป่า เป็นต้น รวมทั้งคนก็สามารถติดโรคได้
โรคฝีดาษ ลิงติดต่อทางไหน
- คนสามารถติดโรคจากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อ
- หรือจากการถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัดข่วน
- การประกอบอาหารจากเนื้อสัตว์ป่า
- หรือกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ
- หรืออาจติดทางอ้อมจากการสัมผัสที่นอนของสัตว์ป่วย
ลักษณะอาการป่วย
- การแพร่เชื้อจากคนสู่คนแม้มีโอกาสน้อย แต่อาจเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยผ่านทางสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ ผิวหนังที่เป็นตุ่ม หรืออุปกรณ์ที่มีการปนเปื้อนเชื้อ
- เมื่อคนรับเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะมีระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน อาจนานถึง 21 วัน
- เริ่มแรกจะมีไข้ ปวดศีรษะ
- ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง
- ต่อมน้ำเหลืองโต หนาวสั่น อ่อนเพลีย
- จากนั้นประมาณ 1-3 วัน จะมีผื่นขึ้นบริเวณแขนขา และอาจจะเกิดบนหน้าและลำตัวได้ด้วย
- ผื่นจะกลายเป็นตุ่มหนอง
- ในระยะสุดท้ายตุ่มหนองจะเป็นสะเก็ดแล้วหลุดออกมา
- อาการป่วยจะประมาณ 2-4 สัปดาห์
- ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้
- โดยอาการรุนแรงมักพบในกลุ่มเด็ก ซึ่งในประเทศแอฟริกาพบอัตราการเสียชีวิตประมาณร้อยละ 10
วิธีป้องกันโรค
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อหรือสัตว์ป่า หลี
- หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ
- หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์เมื่อสัมผัสกับสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ หรือเดินทางเข้าไปในป่า
- ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการ คัดกรองโรค
- กรณีมีการเดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องทำการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที และทำการแยกกักเพื่อมิให้ผู้ป่วยมีการแพร่กระจายเชื้อ
ทั้งนี้ ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรคฝีดาษลิงที่เฉพาะเจาะจง แต่สามารถควบคุมการระบาดได้ด้วย การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษ ซึ่งสามารถป้องกันโรคฝีดาษ ลิงได้ 85% โดยก่อนหน้าที่จะกวาดล้างไข้ทรพิษได้นั้นมีการฉีดวัคซีนหรือที่เรียกกันว่า การปลูกฝี ซึ่งจะช่วยป้องกันทั้งสองโรคนี้ได้
อย่างไรก็ตาม เด็กที่เกิดหลังปี 2523 จะไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษมาก่อน จึงเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อโรคฝีดาษ ลิงมากกว่าประชากรกลุ่มอื่น ๆ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
ข้อมูล : กรมควบคุมโรค
ข่าวที่เกี่ยวข้อง