กลายเป็นประเด็นใหญ่ จากกรณีเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2565 มีภาพและข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ร่วมเยี่ยมชมกิจกรรมนำเสนอ ผลการขับเคลื่อนให้เกิดการใช้ประโยชน์จาก “ข้อมูล” หรือ d – DATA โดยมี นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วย นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล , นางสาวธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ , นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด และนายสรณะ นุชอนงค์ กรรมการผู้จัดการบริษัท วิสัย เอไอ จำกัด ร่วมกันนำเสนอผลการขับเคลื่อนให้เกิดการใช้ประโยชน์จาก “ข้อมูล” หรือ d – DATA ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้า กรณีของ บริษัทบิทคับฯ มีประเด็นถูกวิพากษ์วิจารณืในหลายแง่มุม
ยิ่งกว่านั้น เมื่อตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า ในเพจเฟซบุ๊ก ของนายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ในการโพสต์เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2565 ระบุข้อความว่า บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป ได้รับรางวัล “Prime Minister’s Digital Awards” ในสาขา Digital Startup of the year 2021 ซึ่งจัดขึ้นโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จาก นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
พร้อมแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับความสำคัญของบล็อกเชนต่อเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งบล็อกเชนเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่ประเทศชาติจำเป็นต้องมี และเศรษฐกิจ ธุรกิจที่จะเกิดใหม่ด้วยบล็อกเชนจะเป็นการสร้างโอกาสแก่ประชาชน
แต่นอกเหนือจากลักษณะการสื่อสารในเชิงโปรโมท ผ่านภาพคู่ พล.อ.ประยุทธ์ แล้ว ยังมีการโพสต์ประโยคที่เป็นไฮไลต์ ว่า บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป ขอขอบคุณผู้จัดงาน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคน…ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของบิทคับ บิทคับ ว่า พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย ด้วยความรู้และเทคโนโลยี เราจะมุ่งมั่นพัฒนาระบบของเราให้ดียิ่งขึ้น เพื่อเป็นโครงสร้างและสะพานที่แข็งแรงให้กับผู้คนในประเทศไทย
แน่นอนว่าสิ่งที่ “ผู้บริหาร บิทคับ” สื่อสาร แทบไม่ต่างกับกรณีที่สื่อหลายสำนัก วิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการนำพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับธุรกิจการลงทุนที่เรียกว่า “บิทคับ” นั่นเอง
และเป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสม เพราะเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 “นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล” เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยการประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต. ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2565 เกี่ยวกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์การโฆษณาของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
ระบุชัดเจนว่า จากการที่ ก.ล.ต. เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไข หลักเกณฑ์การโฆษณาของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ผู้ประกอบธุรกิจ) ไปเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2565 และได้นำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เกี่ยวข้องและผู้สนใจมาพิจารณาประกอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์แล้วนั้น คณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้มีมติเห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าว
คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติให้เพิ่มเรื่องให้ผู้ประกอบธุรกิจ แจ้ง ก.ล.ต. เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการจัดทำโฆษณา เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลของ ก.ล.ต. รวมทั้งเน้นย้ำเรื่องการห้ามโฆษณาคริปโทเคอร์เรนซีในพื้นที่สาธารณะ โดยให้โฆษณาเฉพาะในช่องทางทางการของผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการส่งเสริมให้ผู้ลงทุนมีการซื้อขายในลักษณะเร่งการตัดสินใจ (impulsive buying)
พร้อมย้ำ หลักเกณฑ์การโฆษณาอื่น ต้องเป็นไปตามหลักการเดิม เช่น
(1) ต้องไม่เป็นเท็จ ไม่เกินความจริง ไม่บิดเบือน ไม่ปิดบัง หรือทำให้สำคัญผิดในสาระสำคัญ
(2) ต้องระบุคำเตือนเรื่องความเสี่ยงตามที่ ก.ล.ต. กำหนดอย่างชัดเจนและสังเกตได้ง่าย
(3) ห้ามโฆษณาเกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซีในพื้นที่สาธารณะ ขณะที่การโฆษณาเกี่ยวกับการให้บริการยังคงสามารถทำได้ในพื้นที่สาธารณะและช่องทางอื่น ๆ
(4) ต้องควบคุมดูแลการโฆษณาของบริษัท บริษัทในกลุ่มที่อยู่นอกเหนือการกำกับดูแลของ ก.ล.ต. และบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกิจการ รวมถึงผู้ทำโฆษณาและผู้ที่มีผลต่อการตัดสินใจต่อผู้ใช้บริการในสังคมออนไลน์ (influencer) ให้เป็นตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
(5) ยกเลิกการจัดให้มีผู้แนะนำรายชื่อลูกค้าให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจคริปโทเคอร์เรนซี
และ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้ความคุ้มครองผู้ซื้อขาย รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแล ซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของหน่วยงานกำกับดูแลในต่างประเทศ ก.ล.ต. จะจัดทำร่างประกาศตามหลักการข้างต้นและดำเนินการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ก่อนนำออกใช้บังคับโดยเร็วต่อไป
แต่ประเด็นที่เห็นตรงข้าม ก็คือ “บิทคับ” ให้ความสำคัญกับการ ทุ่มงบประชาสัมพันธ์อย่างหนรัก โดยเฉพาะการเผยแพร่ป้ายโฆษณา “บิทคับ” โดยมีภาพ “ท๊อป จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา” ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด เป็นพรีเซ็นเตอร์ กระจายอยู่ทั่วไปในกทม.
ในมุมกลับ คำถามก็คือ ทำไมก.ล.ต.ต้องออกมาตรการ ควบคุม การประชาสัมพันธ์ในเชิงการตลาดของ “คริปโท” หรือ สินทรัพย์ดิจิทัล ประเภทหนึ่ง ก็คือ เป็นการลงทุนที่มีความเสี่่ยงสูง และรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ มีคำเตือนกรณีนี้มาโดยตลอด จากปัญหาที่รับฟังเรื่อง ภาวะการขาดทุน และความเสี่ยงที่่เกิดขึ้น อาทิ