ท้านายกฯกล้าแหย่รังแตน ทลายสายสัมพันธ์อาณาจักรไทยพีบีเอส

ไม่ใช่แค่ความพิรุธเลือกผอ.ไทยพีบีเอสเท่านั้น แต่มีความพยายามของกลุ่มคนต้องการไปสู่เป้าหมายใหญ่กว่านั้น

“แก้วสรร   อติโพธิ”  ถือเป็นนักวิชาการด้านกฎหมายมือตรวจสอบ  ซึ่งครั้งหนึ่งได้รับการคัดเลือกให้เป็นกรรมการ   ธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส

นักวิชาการอิสระท่านนี้  เปิดเผยท็อปนิวส์ ถึงปมปัญหาภายในไทยพีบีเอสที่ไม่ใช่แค่ความพิรุธจากการเลือกสรรผอ.ไทยพีบีเอสเท่านั้น แต่มีความพยายามของกลุ่มคนที่เข้ามาดำเนินการบางอย่างเพื่อไปสู่เป้าหมายใหญ่กว่านั้น

เขาได้ชำแหละถึงความผิดพลาดทั้งหลายทั้งปวงในไทยพีบีเอส  โดยเริ่มต้นจากการได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบคุณสมบัติผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นผอ.ไทยพีบีเอส

“ในช่วงที่เข้ามาร่วมเป็นกรรมการธรรมาภิบาลฯ  โดยในปี 2560 มีการสรรหาผอ.คนใหม่  ผู้รับการเสนอชื่อมีปัญหาถูกตรวจสอบเรื่องการรับเงินรับทอง ทางกรรมการนโยบายฯมีความไม่สบายใจก็ส่งเรื่องให้ผมดูในแง่กฎหมาย”

แก้วสรร เล่าว่า  ผมรับผิดชอบในส่วนของกฎหมาย ว่ากติกาที่ทำกันอยู่ในการสรรหา ปรากฎว่า อยู่ดีๆ เขาเปิดรับสมัครก็ส่งคนไปสองคน หรือกี่คนก็แล้วแต่  แต่ไม่มีคำอธิบาย ว่าแต่ละคนเหมาะสมอย่างไร

ขณะนั้น แก้วสรรตั้งคำถามว่า  “การที่คุณบอกคนนี้ผ่านมีเกณฑ์อะไร  ถ้าไม่มีเกณฑ์ แล้วบอกว่า เสนอมาสองคนให้ คณะกรรมการนโยบายเลือกเอาแล้วกัน  เท่ากับไม่มีเหตุผลไม่มีเกณฑ์ผ่านอะไรให้กรรมการนโยบายตัดสินก็เกิดปัญหาขึ้นว่าตอบได้ไหม  ปรากฎว่า เขาตอบไม่ได้ เป็นเรื่องที่ไม่แฟร์ไม่สมเหตุผลทางกฎหมายเท่านั้น”

เหตุการณ์ครั้งนั้นนำมาสู่การปรับแก้กฎเกณฑ์เลือกผอ.ไทยพีบีเอสปัจจุบัน  นายแก้วสรร กล่าวว่า ในที่สุดมีความพยายามแก้ว่ามีเกณฑ์ผ่าน 60 คะแนน ซึ่งตรงนี้ก็ยังต้องตอบอีกว่า เกณฑ์ผ่านจากอะไร มันไม่ใช่การสอบเข้า เป็นเรื่องการเลือกคนมาเป็นผอ. ต้องตอบได้มากกว่านั้นอีกว่าสมมติว่านายแก้วสรร มีความเหมาะสมในการแก้ปัญหาไทยพีบีเอสได้อย่างไร  ส่งไปอีกคนก็ต้องตอบได้เหมือนกันว่า ทำไมถึงเลือกคนนั้นคนนี้

“สรุปไทยพีบีเอส เผชิญปัญหาเดิมๆ ในแง่ที่ว่าการสรรหาที่ไม่มีคำตอบในเชิงเหตุผล  คำว่าสรรหาภาษาอังกฤษเรียกว่า Head Hunters  อยากได้ใครมาเป็นซีอีโอก็ต้องบอกบริษัทไปเฟ้นหามา ในทางเอกชนเขาจะไปหามาจริงๆ ว่าคนนี้เหมาะสมจริงๆ เป็น Head Hunters หรือเป็นการสรรหา”

“ระบบไทยพีบีเอสไม่ใช่การคัดคน แต่เป็นเหมือนการสอบเข้า คงเส้นคงวาอยู่อย่างนี้”

แก้วสรร  อติโพธิ อดีตกรรมการธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคมไทยพีบีเอส

“โดยขั้นตอนกรรมการสรรหา ควรประชุมกันก่อนว่าไทยพีบีเอสมีปัญหาอะไร เราต้องการได้คนแบบไหน จริงๆ สเป็คตรงนี้ ต้องออกจากสภานโยบาย จากนั้นจึงตั้งกรรมการสรรหาเพื่อไปหาคนแบบนี้มา แต่สภานโยบายนั่งอยู่เฉยๆ  องค์กรโน้นส่งใครมาเป็นกรรมการสรรหาแล้วเราก็ไปเชื่อคนพวกนี้ ไปเลือกคนส่งมาอย่างน้อยสองคนแต่ไม่เกินห้าคนก็ส่งมา พวกนี้รายงานว่าสองคนได้ตรวจสอบแล้ว ประวัติเป็นแบบนี้เชิญเลือก มันไม่มีการขุดค้นหาคนที่เราต้องการ เหมือนการสอบสัมภาษณ์เฉยๆ ไม่ใช่การสรรหาในทางการบริหาร” แก้วสรร กล่าว

“ถ้าวิจารณ์แล้ว ผมวิจารณ์สภานโยบายเลยก็แล้วกัน ไม่วางสเป็คมา หรือวางปัญหามาเลยว่า ต้องตอบปัญหาเหล่านี้ได้  หนึ่งตอบเช่ารายการทีวีมาห้าปีผ่านไปไม่ได้ฉาย ขาดทุน เงินจมอยู่เฉยๆเป็นร้อยล้าน ไปดูสิ งั้นคุณจะวางกฎเกณฑ์เช่ารายการต่างประเทศอย่างไร นี่คือคำถามที่ต้องถาม สองมีการรั่วไหลอย่างไร ต้องการได้คนถี่ถ้วนตรวจสอบก็ควรไปหามา ถ้าทุกอย่างเริ่มตรงการตั้งคำถาม ไปหาคนตรงสเป็คจะไม่เกิดปัญหา” นายแก้วสรร กล่าว

ปีนี้กับปีที่แล้ว เหมือนกันตรง ใช้วิธีสอบสัมภาษณ์  อย่างปีล่าสุด หลักเกณฑ์เป็นอย่างไรทำไมไม่ประกาศก่อน ทำไมไม่มีการซักหรือสอบถามให้เขาอ่านแนวคิดของเขา และกรรมการสรรหาให้คะแนน ซึ่งคะแนนที่ให้ประกอบด้วยอะไรบ้าง เกณฑ์อะไรบ้าง มีแต่คะแนนดิบๆเกิน 60  คะแนน มาจากไหนกระบวนการสรรหาไม่น่าเชื่อถือ ผมไม่รู้ว่าเขาเล่นพวกเล่นพ้องหรือ ปล่าว  แต่มันไม่ใช่ระบบที่ไว้วางใจได้

 

ทำไมไทยพีบีเอสสสส.ถึงเกาะเกี่ยวแน่น

แก้วสรร ฉายภาพให้เห็นถึงการจัดตั้งองค์กรอิสระต่างๆ เพื่อขอรับการสรรงบประมาณโดยจำแนกให้เห็นว่า  ไทยพีบีเอส อยู่ในขอบข่ายองค์กรแบบไหน

องค์กรที่เป็นอิสระเป็นพวกที่ใช้อำนาจรัฐ เช่น กสทช. ป.ป.ช. ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีขอบข่ายอำนาจตามกฎหมาย ไม่ถึงขั้นชี้ขาดให้ใครติดคุก หรืออีกจำพวกหนึ่ง เช่น  กกต.มีอำนาจหน้าที่ดูแลกติกา ซึ่งถือว่าเป็นองค์กรอิสระใช้อำนาจรัฐโดยมีกลไกคัดเลือก หลักปฏิบัตต่างๆมากมาย

อีกประเภทหนึ่ง เป็นพวกนกมีหูหนูมีปีก ข้าราชการไม่ใช่ มาจากการเลือกของประชาชนก็ไม่ใช่ พวกนี้มาทำงานเพื่อสาธารณะ อยู่ในมูลนิธิหาเงินสนับสนุน เช่น มูลนิธิปอเต็กตึ๊ง มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าแต่นี่เป็นฟากเอ็นจีโอ ในบ้านเรายังไม่เข้มแข็ง ทั้งเงิน ทั้งความคิด ความรู้ไม่ทรงพลังเหมือนต่างประเทศ อเมริกา ญี่ปุ่น พวกนี้เอ็นจีโอไม่ได้อาศัยเงินอุดหนุนของรัฐ เขาเข็มแข็งด้วยตัวเขาเอง มีงานวิจัยของเขา มีประชาชนเป็นสมาชิก  ภาคที่ไม่ใช่องค์กรรัฐ ทำงานแบบประชาชนรวมตัวเข้ามา บ้านอื่นเขามีเป็นหลักของสังคมได้ แต่บ้านเราบอกตรงๆมูลนิธิอะไรทั้งหลายเป็นการสถาปนาตัวเองก็เยอะ เงินก็น้อย ความรู้ไม่หนาแน่นเพียงพอ แค่เงินจ้างบุคลากรก็ไม่มีจ้างทำวิจัย ฉะนั้นองค์กรภาคของเรายังอ่อนแอ ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่ความผิดของใคร  อย่างเช่นมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคก็ยังทำงานได้ดีระดับหนึ่งอยากให้เจริญเติบโต

“ท่ามกลางความไม่เข็มแข็งอย่างนี้ จึงมีความพยายามออกแบบองค์กรอิสระจำพวกหนึ่ง โดยการเขียนกฎหมาย เอาพลังพวกนี้มาสร้างเป็นองค์กรสาธารณะ ได้เงินอุดหนุนของรัฐ ตรงนี้หล่ะเป็นปัญหา คือ ไทยพีบีเอส และ สสส. และมีความดิ้นรนจะทำอีกหลายองค์กร เช่น สถาบันสิ่งแวดล้อม สถาบันคุ้มครองผู้บริโภค ให้มีเงินอุดหนุน ซี่งในทัศนะผมไม่เห็นด้วย  เพราะเป็นระบบไซฟอนเงินภาษีประชาชนไปให้เอ็นจีโอ ตั้งองค์กรหนึ่งขึ้นมามาร่วมกันทำงานสาธารณะ”

ปัญหาแรกที่เกิดขึ้น คือความรับผิดชอบของพวกเขาอยู่ที่ไหนกับใคร  สองทิศทางที่เขาไปจะสมกับเราคาดหวังหรือไม่  งานที่บกพร่อง รัฐทำไม่ได้ มูลนิธิธรรมดาก็ทำไม่ได้ จึงให้มารวมตรงนี้เอาเงินอุดหนุนอัดเข้าไป

“ผมถามตรงๆคุณต้องการอะไรจากไทยพีบีเอส ท่านที่ตั้งไทยพีบีเอส บอกว่า ไม่อยากให้มีโฆษณา ไม่อยากให้อยู่ใต้อำนาจการเงินของพ่อค้า ไม่อยากให้อยู่ใต้นโยบายรัฐบาลแล้ว เมื่อสร้างไทยพีบีเอสขึ้นมาแล้วได้เป็นไปตามเจตนารมย์หรือไม่ เช่นเดียวกับ สสส. ที่ดำเนินการแต่เรื่องรณรงค์งดเหล้างดสูบบุหรี่ซึ่งไม่เพียงพอ ต้องทำมากกว่านี้  ประชาชนมีปัญหาสารเคมี ยาฆ่าแมลงในพืชผักเต็มไปหมด  สสส.ควรทำเรื่องเหล่านี้

แล้วใครจะไปบอกเขา เขากลับทำในสิ่งที่เขาอยากทำ ใครกำหนดอะไร เอาตังค์เราไปทำอะไรมันใช่ไหม ปีนึงพันล้าน ในแง่การตรวจสอบไทยพีบีเอส ไปเช่ารายการ แพงๆ ไม่ได้ฉายอยู่เต็มโกดังเลย จมอยู่ร้อยล้าน  ใครรับผิดชอบ “ นายแก้วสรรโยนคำถามให้ผู้มีอำนาจจัดสรรงบประมาณให้กับองค์กรไทยพีบีเอส หรือแม้แต่สสส. หันกลับมาตระหนัก

สิ่งที่แก้วสรรไม่สบายใจ เมื่อให้กลุ่มคนเอ็นจีโอได้มามีบทบาทในไทยพีบีเอส หรือ แม้แต่สสส. ก็คือเรื่องความโปร่งใส

“เราไม่สบายใจกับองค์กรเอ็นจีโอพวกนี้รับเงินภาษีไปทำอะไร ทำอย่างไรให้รับผิดชอบต่อสังคม เกี่ยวข้องสังคมติดดิน ไม่ใช่ผัวกินเหล้าตีเมียเตะลูก เลิกกินเหล้าเถิด ไม่เห็นเปลี่ยนสักที  พวกนี้ผมเสียดายเงิน ในที่สุดท่ามกลางปัญหาก็มาสู่ปัญหาการสรรหาได้เหมือนกัน

อย่างกรณีสรรหาไทยพีบีเอส  การสรรหาบุคคลเหล่านี้มาจากองค์กรเอกชนที่ระเบียบเขียนไว้ว่ามีองค์กรอะไรบ้าง มาจากอะไร และองค์กร พวกนี้ส่งหัวหน้ามาส่งตัวแทนร่วมสรรหาโดยวิธีการด้วยหลักเกณฑ์ที่ไม่มีใครรู้อธิบายได้ และส่งให้ฝ่ายนโยบายไปเลือก เห็นส่ง 2 คนทุกครั้งไม่ส่ง 5 คน  เมื่อเราตรวจสอบต่อไปพบว่าองค์กรเอกชนเหล่านี้ในบรรดา6 ใน 9 องค์กรรับเงินอุดหนุนจากสสส. ซึ่งก็เป็นเอ็นจีโอเหมือนกัน ได้เงินบาปเหมือนกัน ผู้อนุมัติโครงการต่างๆ เป็นสามีของแคนนิเดตผอ.

“ฉะนั้นกรรมการสรรหาจำนวนหนึ่งได้รับเงินอุดหนุนจากสามี มาเลือกเมีย มันไม่ยุ่งหรือ  มันเป็นการให้เงินผ่านองค์กร แล้วองค์กรส่งคนมาเลือกคนในองค์กรนี้ มันมีประโยชน์ความเป็นมาเป็นพวกกันอยู่ในกลุ่มนี้ มึงเลือกกู กูเลือกมึง กูได้โครงการจากมึง มึงเลือกกู มีความเกี่ยวพันลักษณะนี้ แม้ในทางกฎหมายไม่อาจบอกได้ว่าเป็นประโยชน์ทับซ้อน แต่ในแง่ความสัมพันธ์ทางสังคม คุณเลือกกันเองนี่หว่า  “ แก้วสรร ชำแหละอาณาจักรไทยพีบีเอสอย่างตรงไปตรงมา

 

สิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า “นกมีหูหนูมีปีก”

 “แก้วสรร” ถอดรหัสความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่าง สสส.กับ ไทยพีบีเอส ว่า เมื่อมีการเลือกคนนี้ไปอยู่ในไทยพีบีเอส หรือไทยพีบีเอสให้โปรเจคองค์กรคุณอีก ดูแล้วเป็นเรื่องความช่วยเหลือระหว่างองค์กร แต่หลังองค์กรมีความสัมพันธ์กันอยู่ อยู่ตรงโน้นตรงนี้  จึงกลายเป็นถูกครหาเป็นการเล่นพวก โดยอาศัยเงินที่หลวงอุดหนุนไปสร้างบุญคุณเป็นอาณาจักรหนึ่ง ซึ่งคนนอกไม่มีทางเข้าไปได้

“ที่เป็นองค์กรเอ็นจีโอหมายถึงตรงนี้  การสรรหาเป็นเรื่องเอ็นจีโอสรรหากันเองไม่ได้ผ่านสภา ไม่มีราชการ หรือประชาชนเข้ามา  เขาบิ้วท์ของเขาเอง สร้างอาณาจักรกันเอง”  แก้วสรร กล่าว

แก้วสรร บอกว่า ความพยายายถ่ายทอดพันธุกรรมเอ็นจีโอลักษณะนี้ เป็นเพียงมิติหนึ่งเท่านั้นเอง เพราะมิติใหญ่เป็นเรื่องที่เราสร้างองค์กรชนิดหนึ่งขึ้นมาในลักษณะ “นกมีหูหนูมีปีก  ข้าราชการก็ไม่ใช่ จะเป็นมูลนิธิแท้ๆก็ไม่ใช่เอาเงินหลวงไปทำกัน” สร้างสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งขึ้นมาไม่ต้องรับผิดอะไร ขาดการตรวจสอบ ขาดการกำหนดเป้าหมาย เลือกคนในกลุ่มเดียวกัน

“มึงเลือกกู กูเลือกมึง เป็นสภาพที่ผมเคยไปตรวจสอบมา เป็นองค์กรที่หวังผลงานอะไรไม่ได้ ถ้าทำดีขึ้นมาก็เป็นเรื่องบังเอิญ” แก้วสรร กล่าวได้อย่างเจ็บแสบ

 

ท้านายกฯแก้กม.ไทยพีบีเอส-สสส.

อดีตกรรมการธรรมมาภิบาลในไทยพีบีเอส ชี้เป้าว่า อย่าไปจับแค่เรื่องการเลือกผอ.ไทยพีบีเอส แต่มีเรื่องใหญ่กว่านั้น คือการจัดสร้างองค์กรหนึ่งขึ้นมาคุมอะไรไม่ได้ เป็นรัฐก็ไม่ใช่เป็นมูลนิธิก็ไม่ใช่ กลายขึ้นมาเป็นอาณาจักร

ฉะนั้นต้องแก้กฎหมาย เมื่อคิดว่าเอ็นจีโอมารวมกันแล้วให้เงินไปแล้ว ทำอะไรดีๆให้บ้านเมืองก็ต้องแก้กฎหมาย กำหนดภารกิจให้ชัดเจน สร้างวิธีปฏิบัติราชการให้รัดกุมโปร่งใส ตรวจสอบ มีกระบวนการไม่ต้องให้สตง.มาตรวจสอบหรอก จ้างบริษัทบัญชีที่ผ่านมาตรฐานการะทรวงการตลัง ตรวสอบทุกปีและรายงานสภา กล้ามั้ยหล่ะ

นอกจาก ไทยพีบีเอสก็ยังมีสสส.ด้วย บริษัทบัญชีไม่ตรวจแค่บัญชีแต่ตรวจถึงประสิทธิภาพด้วย ฟิลม์ที่ค้างไม่ได้ฉายจำนวนเท่าไหร่ เอามาให้หมด ถ้าบอกสตง.ตรวจล้าสมัยเอาบริษัทนี่หล่ะ

ที่มาของการบริหารอาจต้องปรับปรุงใหม่หมด กติกาการสรรหารต้องรื้อใหม่ ต้องสร้างสเป็คมาจากสำนักนโยบาย ต้องมีคุณสมบัติอย่างนี้ หนึ่งสองสามสี่ กรรมการสรรหาไม่ใช่มาจากเอ็นจีโอ ต้องมาจากส่วนอื่นอีก

“มีใครกล้าแหย่รังแตนไหม พล.อ.ประยุทธ์กล้าไหม  ไทยพีบีเอสผมว่ามีอะไรต้องทบทวนเยอะ ทีวีไม่มีโฆษณา ควรเป็นอย่างไร อย่าไปคิดแค่เป็นทีวี เป็นแบบเอ็นเอชเค ทำสื่อ ทำสารคดีเลย และให้สถานีโทรทัศน์ต่างๆเผยแพร่ได้โดยไม่คิดค่าลิขสิทธิ์  เงินที่ได้ไม่มีส่งกลับอยู่แล้ว ก็ทำความรู้ให้ชาวบ้าน ถามว่า อยู่ไหน การทำรีเสริช สารคดีต่างๆสำคัญมากๆ แต่ไม่เห็น ”

การสื่อสารที่ไม่ถูกกำหนดโดยการค้า หรือนโยบายรัฐ ไม่จำเป็นต้องออกจากสี่เหลี่ยมไทยพีบีเอสเท่านั้น ออกจากสื่ออิสระก็ได้ มีเรื่องให้ทำเยอะแยะ มัวแต่ทำทีวีจม ความรู้จากจอสี่เหลี่ยม ลองระดมความคิดกันทีวีไม่มีโฆษณา เมืองไทยมีพืชสมุนไพรมากที่สุดในโลก ทำได้ หรือรอให้ฝรั่งทำ ไม่ควรให้เอ็นจีโอไม่กี่คนรวมตัวกันทำเป็นยูเรก้า

ต้องปรับปรุงอะไรกันใหม่เยอะ ไม่งั้นก็เสียดายเงิน ต้องรื้อใหม่หมด แต่ระวังจะเจอปลวกแล้วกัน  จะเจอนางพยาหรือเปล่า  เพราะเป็นองค์กร”นกมีหูหนูมีปีก” ไม่มีระบบที่ไฟฉายส่องเข้าไปดู ระบบไม่ดี รื้อไปต้องมีอะไรแน่ เป็นเรื่องที่ต้องแก้กม.อยู่ที่สภากับรัฐบาล ไม่ใช่เรื่องเอ็นจีโอ คุณเอาเงินภาษีประชาชนไปให้เขาใช้ ทำถูกต้องหรือเปล่า เป็นหน้าที่รัฐบาล”  แก้วสรร กล่าวทิ้งท้ายไปถึงนายกรัฐมนตรีกล้าทลายอาณาจักรไทยพีบีเอสหรือไม่

ข่าวที่น่าสนใจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

"พิชัย" โชว์วิชั่นเวที WEF ดาวอส ประกาศศักยภาพไทย พร้อมเปลี่ยนสู่ยุคศก.ดิจิทัล โลก AI
งานเข้า! "ตำรวจไซเบอร์" ชี้ล่าเหรียญ "Jagat" ฟันผิดกฎหมาย พบ 3 บัญชีโอนเงินผู้เล่นจริง จ่อเรียกสอบ
ฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐานยังคลุมทั่ว กทม. พื้นที่สีแดง 14 เขต
บึ้มสนั่นกลางดึก ชาร์จรถ 3 ล้อไฟฟ้า เกิดไฟฟ้าลัดวงจรลามไหม้ร้านของชำ หวิดวอดทั้งหลัง
กรมอุตุฯ เผยไทยตอนบนอากาศหนาวในตอนเช้า อุณหภูมิสูงขึ้นเล็กน้อย เตือนภาคใต้มีฝนตกบางแห่ง
"กรมโยธาฯ" จับมือ "คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล" ลงนาม MOU ช่วยชีวิตผู้ป่วยด้วยการบริจาคโลหิต
“ไทด์” แฉลึก! ยศใหญ่โทรปิดเกม สั่งย้าย “แตงโม” เข้านิติเวช รพ.ตำรวจ
เมียไรเดอร์ เปิดใจเสียงสั่น กลัวไม่ได้รับความเป็นธรรม หลังรู้ข่าว หนุ่มอินเดียซิ่งเก๋งได้ประกันตัว ลั่น ‘คนมีเงินมันยิ่งใหญ่’
นายกฯ เปิดงาน Thailand Reception เชิญชวนสัมผัสเสน่ห์อาหารไทย ชูศักยภาพเศรษฐกิจ
จีนแห่ ‘โคมไฟปลา’ แหวกว่ายส่องสว่างในอันฮุย

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น