ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล หลังการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครผ่านไปที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้คะแนนเกินหนึ่งล้านคะแนนสอดคล้องกับผลการประมาณการของ ซูเปอร์โพล ที่เผยแพร่หลังปิดหีบเลือกตั้งทันทีว่านายชัชชาติ สิทธิพันธุ์จะได้คะแนนระหว่าง 1 ล้าน ถึง 1.5 ล้านคะแนน ที่หลาย ๆ คนมองว่าเป็นชัยชนะแบบถล่มทลายที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์และพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล สามารถเข้ายึดครองใจคนกรุงเทพฯ ที่เทคะแนนให้ แต่หากวิเคราะห์เชิงตัวเลขอย่างเดียวจะพบร่องรอยของการแบ่งขั้วที่ผ่านมาเป็นสิบปียังคงมีอยู่ฝ่ายชนะก็จะได้ประมาณเท่า ๆ เดิมคือ 1 ล้านกว่าคะแนน (ดูภาพอินโฟ ประกอบ)
จะเห็นได้ว่าฝ่ายที่แพ้ในส่วนของรัฐบาลรวมคะแนนกันแล้วก็ยังมีเท่า ๆ เดิมด้วยสมการคณิตศาสตร์ขั้นต้นคือผลรวมของคะแนนฝ่ายรัฐบาลที่ได้กับคะแนนที่หายไปเพราะไม่ได้ออกไปใช้สิทธิด้วยเหตุผลบางประการ เช่น เบื่อหน่ายส่ายหัวกับการตัดสินใจส่งตัวแทนของพรรคพลังประชารัฐที่ขาดความใส่ใจต่อเสียงของประชาชนและไม่ได้ใช้ข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ผ่านเครื่องมือใหม่ยุคปฏิวัติเทคโนโลยีดิจิทัลมาตัดสินใจแต่กลับตัดสินใจแบบดั้งเดิมอิงกับอำนาจนิยมและอิทธิพลทางการเมือง รวมถึงปัญหาภาพลักษณ์ที่คนกรุงเทพมหานครรับไม่ได้ จึงทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งฝ่ายรัฐบาลจำนวนมากไม่ออกไปใช้สิทธิและบางส่วนไปเทคะแนนให้นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร
ดังนั้น พรรคพลังประชารัฐและพรรคร่วมรัฐบาลต้องใช้โอกาสที่ยังมีอีกไม่มาก ตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ที่ดี ลดละเลิกอำนาจนิยมที่ฝังอยู่ในชุดความคิด และก้าวไปข้างหน้าให้ทันต่อการทำงานตอบโจทย์ตรงเป้าความต้องการของประชาชนแล้วคะแนนนิยมต่อรัฐบาลจะกลับมาเป็นพลังขวัญกำลังใจให้กับกลุ่มประชาชนที่สนับสนุนและกลุ่มที่ไม่ต้องการให้ใครมีอำนาจมากจนเกินความสมดุล มิฉะนั้นแล้วอาจเกิดความพ่ายแพ้แบบหมดรูปของฝ่ายขั้วรัฐบาลก็เป็นได้ในการเลือกตั้งสนามใหญ่ที่จะเกิดขึ้นอีกไม่นาน เพราะห้วงเวลา 8 ปีที่ผ่านมาทำได้เพียงให้ประชาชนรู้แบบยัดเยียดให้รู้และให้เข้าใจแต่ต้องไปให้ถึงความเชื่อมั่นและสนับสนุนด้วยผลงานที่เป็นชิ้นเป็นอันมากกว่าไปสวมจิตวิญญาณนักการเมืองมืออาชีพเสมือนเสือหิว ประคองเก้าอี้