"ชัชชาติ" สิทธิพันธุ์ เปิดประวัติว่าที่ผู้ว่าฯกทม. คนที่ 17 กับฉายาบุรุษที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี อดีต รมว.คมนาคม ในวัย 56 ปี
ข่าวที่น่าสนใจ
“ชัชชาติ” สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เจ้าของฉายา บุรุษที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี จากมีมในตำนาน เมื่อเจ้าตัวกำลังไปใส่บาตรด้วยเท้าเปล่า หลายคนเอาไปตัดต่อล้อเลียนเป็น รมต.ที่มีพลังมหาศาลไร้เทียมทาน จนเป็นที่กล่าวถึงวันนี้ และจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการเป็นที่แน่ชัด ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. เบอร์ 8 นี้ สามารถทำลายสถิติคะแนนเลือกตั้ง ด้วยคะแนนท่วมท้นกว่า 1,386,215 คะแนน
ประวัติโดยย่อของ “ชัชชาติ” สิทธิพันธุ์
- เกิดเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2509 ปัจจุบันอายุ 56 ปี
- เป็นบุตรของ พล.ต.อ.เสน่ห์ สิทธิพันธุ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กับนางจิตต์จรุง สิทธิพันธุ์ (กุลละวณิชย์)
- มีพี่น้อง 2 คน คือ รศ.ดร.ปรีชญา สิทธิพันธุ์ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- และพี่ชายฝาแฝด รศ.ดร.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และอุปนายกแพทยสภา คนที่ 2 วาระ พ.ศ. 2564-2566 เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุกรรมโรคปอด ระบบทางเดินหายใจและทรวงอก
ประวัติการศึกษา
- จบการศึกษาจากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
- จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกียรตินิยมอันดับ 1
- ได้รับทุนอานันทมหิดล ในระดับปริญญาโท สาขาวิศวกรรมโครงสร้างจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ประเทศสหรัฐอเมริกา
- จบปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เออร์แบนา-แชมเปญจน์ สหรัฐอเมริกา
ประสบการณ์ทำงาน
- ปี 2536-2537 : วิศวกรโครงสร้าง บริษัท สคิดมอร์ โอวิ่ง แอนด์ เมอร์ริลล์ สหรัฐอเมริกา
- ปี 2546-2555 : อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อดีตผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ และอดีตผู้ช่วยอธิการบดี)
- เข้าสู่แวดวงการเมือง เป็นที่ปรึกษากระทรวงคมนาคม สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร (สมัยที่ 2) และรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช
- ปี 2555 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้แต่งตั้งให้เป็น รมช.คมนาคม ก่อนจะเป็น รมว.คมนาคม
ผลงานระหว่างดำรงตำแหน่งรมว.คมนาคม
- โครงการสร้างอนาคตประเทศไทย 2020 เป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่รวบรวมโครงการสาคัญต่าง ๆ ของกระทรวง คมนาคม
- การศึกษาโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง จากโครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงก์เดิม การลงนาม MOU ระหว่างไทย-จีน เพื่อศึกษารถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคาย
- การขับเคลื่อน เร่งรัด การก่อสร้าง โครงข่ายรถไฟฟ้าใน กทม. สายสีแดง (บางซื่อ-ดอนเมือง) สายสีเขียวส่วนต่อขยายเหนือ ใต้ สายสีน้ำเงิน และสายสีม่วง
- โครงการ PPP ทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกตะวันตก
- โครงการ PPP การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการการเดินรถไฟฟ้า และซ่อมบำรุงรักษา (สถานีคลองบางไผ่-สถานีเตาปูน)
- โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ
- การศึกษาความเป็นไปได้โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) บางปะอิน-โคราช พัทยา-มาบตาพุด
- พัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ Satellite Terminal
- การพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ตระยะที่ 2
- การเปิดท่าอากาศยานดอนเมือง สำหรับบริการสายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost Carriers : LCCs) และ/หรือ เส้นทางการบินในประเทศและระหว่างประเทศแบบจุดต่อจุด (Point to Point)
- โครงการทำแนวป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ และพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ ทางฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา
- โครงการศูนย์ความปลอดภัยขนส่งสำหรับรถโดยสารสาธารณะ
ผลงานเกี่ยวกับชุมชน
- จัดตั้งกลุ่ม Better Bangkok เพื่อช่วยกันคิดโครงการเพื่อทำให้กรุงเทพฯ ดีขึ้นกว่าเดิม
- ช่วงโควิด-19 ร่วมกับทีมงานจัดทำโครงการ บ้านใกล้เรือนเคียง สำหรับส่งต่อความช่วยเหลือให้กับชุมชนในพื้นที่กทม.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง