2 ปีรฟม.คดีท่วมล่าสุดดันทุรังประมูลใหม่ “รถไฟฟ้าสีส้ม65”

2 ปีรฟม.คดีท่วมล่าสุดดันทุรังประมูลใหม่ "รถไฟฟ้าสีส้ม65"

กว่า 1 ปีแล้วที่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่า 142,789 ล้านบาท ( ตัวเลขประเมิน ปี 2563 ) แยกเป็นมูลค่างานโยธา ประมาณ 1.1 แสนล้านบาท และอีก 3 หมื่นล้านบาท เป็นเงินลงทุนสำหรับระบบเดินรถทั้งเส้นทาง ระยะยะทางรวม 35.90 กม. ภายใตัความรับผิดชอบของ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. เกิดสารพัดปัญหา ไม่สามารถดำเนินการจัดหาผู้รับผิดชอบโครงการได้ และทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ สร้างความเสียหายให้กับประเทศหลายหมื่นล้านบาท ไม่นับรวมอีกสารพัดปัญหาที่เกิดขึ้นกับการฟ้องร้องเป็นคดีปกครอง คดีอาญา กับหน่วยงานรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐ ตามลำดับ

ล่าสุด รฟม. แจ้งกำหนดเปิดจำหน่ายเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal: RFP) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่า 1.4 แสนล้านบาทอีกครั้ง ในช่วงระหว่าง วันที่ 27 พฤษภาคม – 10 มิถุนายน 2565

อย่างไรก็ตามกับกรณีของรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่รฟม.จะเริ่มต้นเปิดประมูลครั้งใหม่ มีเหตุต้องพิจารณาร่วมกันต่อไปว่า จะยังสมควรให้ผู้บริหารรฟม. และคณะกรรมการมาตรา 36 (บางคน) ที่เคยร่วมกันสร้างปัญหา ให้รับผิดชอบต่อไปอีกหรือไม่ เป็นเรื่องจำเป็นที่สังคมไทย ต้องพิจารณาร่วมกันถึงความเหมาะสม จากไทม์ไลน์ปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่เกิดขึ้น และความล่าช้ากว่า 1 ปีนี้ จากการประเมินของสภาพัฒน์ ระบุชัดเจนคิดเป็นค่าเสียโอกาสของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ในด้านต่าง ๆ ทั้งการประหยัดเวลาการเดินทาง การประหยัดค่าใช้จ่ายการใช้ยานพาหนะ และ การลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม ถือเป็นมูลค่ากว่า 4.6 หมื่นล้านบาท

เริ่มจาก 1. วันที่ 20 เม.ย. 2563 ถึงวันที่ 22 เม.ย. 2563 รฟม.เปิดรับฟัง ความคิดเห็นของภาคเอกชนเพื่อนำมาพิจารณาประกอบการจัดทำร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และร่างสัญญาร่วมลงทุน หรือ ทีโออาร์ ตามพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 22 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา

2.วันที่ 3 – 9 ก.ค. 2563 รฟม.โดย คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 กำหนดทีโออาร์ เพื่อจัดทำเอกสารคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal: RFP) พร้อมรายละเอียดการประกาศ เชิญชวนเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการฯ

3.วันที่ 10 – 24 ก.ค. 2563 รฟม. จำหน่ายเอกสารคัดเลือกเอกชน หรือ RFP ณ ห้องนิทรรศการ ชั้น 1 อาคาร 1 รฟม. พร้อมกำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอภายในเดือนกันยายน 2563

4.วันที่ 24 กรกฎาคม 2563 วันสุดท้ายของการจำหน่ายเอกสารคัดเลือกเอกชน สรุปว่ามี 10 บริษัทเอกชน ให้ความสนใจซื้อเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนฯ ประกอบด้วย

1. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM
2. บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC
3. บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS
4. บริษัท ซิโน–ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (STEC)
5. บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) (ITD)
6. บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (RATCH)
7. บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) (CK)
8. บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (GULF)
9. บริษัท ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด (ประเทศจีน)
10. บริษัท วรนิทัศน์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด

 

5.วันที่ 21 สิงหาคม 2563 รฟม.แจ้งใช้หลักเกณฑ์ประเมินการประมูลใหม่ โดย นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดแถลงข่าวอ้างที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 มีข้อสรุปว่าจะปรับเกณฑ์การพิจารณา คัดเลือกการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี ใหม่ทั้งหมด

โดยเปลี่ยนไปใช้เกณฑ์พิจารณาข้อเสนอซองที่ 2 ด้านเทคนิค (สัดส่วน 30 คะแนน) และข้อเสนอซองที่ 3 ด้านการเงิน (สัดส่วน 70 คะแนน) มาพิจารณารวมกัน ทำให้ต้องขยายเวลายื่นเอกสารประกวดราคาจาก 60 วัน ไปอีก 45 วัน หรือจากกำหนดให้ยื่นเอกสารในวันที่ 23 ก.ย.2563 เลื่อนไปเป็นวันที่ 6 พ.ย.2563 เพื่อให้เอกชนมีเวลาปรับปรุงข้อเสนอให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ใหม่

 

ข่าวที่น่าสนใจ

ส่วนที่มาที่ไปของเงื่อนงำดังกล่าว เริ่มต้นมาจากการที่ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) หนึ่งในผู้ซื้อซองประมูล ทำหนังสือถึง รฟม .เพื่อขอเปลี่่ยนแปลงทีโออาร์ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563 จากนั้นอีก 2 สัปดาห์ เงื่อนไขการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่กำหนดไว้ตั้งแต่เริ่มจำหน่ายเอกสารคัดเลือกเอกชนก็เปลี่ยนแปลงไปหมด และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ต้องไม่ลืมว่า เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2563 ถึงวันที่ 22 เม.ย. 2563 รฟม.ได้เปิดรับฟัง ความคิดเห็นของภาคเอกชนทั้งหมด รวมถึง บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) มาใช้ในการร่างสัญญาร่วมทุน หรือ ทีโออาร์ แล้วด้วย

6. วันที่ 17 กันยายน 2563 BTSC ตัดสินใจ ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เนื่องจากหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประกอบด้วย

1.ขอให้ยกเลิกเอกสารเพิ่มเติม ตามที่ รฟม.ประกาศออกมานอกเหนือจากเอกสารยื่นข้อเสนอ (RFP) ซึ่งมีผลทำให้ปรับหลักเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอเอกสาร จากเดิมพิจารณาข้อเสนอด้านราคา 100 คะแนน เป็นพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิค 30 คะแนน และด้านราคา 70 คะแนน

2.ขอคุ้มครองฉุกเฉินชั่วคราวไม่ให้มีการเปิดซองประมูลจนกว่าศาลปกครองกลางจะมีคำสั่งตัดสินคดี

และ BTSC เห็นว่าการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ภายหลังประกาศขาย RFP ไปแล้ว ก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ และไม่เป็นธรรม อีกทั้งการดำเนินการของ รฟม.ยังดำเนินการขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามที่อนุมัติเห็นชอบให้เปิดประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีส้ม และได้มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การคัดเลือกในรูปแบบเดิม ตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563

จากนั้นในวันที่ 21 ตุลาคม 2563 ศาลปกครองกลาง ได้มีคำทุเลาการบังคับตามหลักเกณฑ์ การร่วมลงทุนของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ที่แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพื่อร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

“เนื่องจากศาลฯ เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP) แม้คณะกรรมการคัดเลือกฯและ รฟม. ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง มีอำนาจที่จะสามารถกระทำได้ แต่ต้องไม่เกินขอบอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ประกอบกับในการแก้ไขหลักเกณฑ์ครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากมีข้อเรียกร้องจากเอกชนผู้ซื้อซองอีกราย ที่มีสิทธิที่จะเข้าแข่งขันในการเสนอราคาในครั้งนี้

ในชั้นนี้จึงเห็นว่า กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และการแก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 โดยใช้การประเมินซองที่ 2 และซองที่ 3 รวมกันแบ่งสัดส่วนเป็นคะแนนซองที่ 2 จำนวน 30 คะแนน และคะแนนซองที่ 3 จำนวน 70 คะแนน จึงเป็นคำสั่งที่น่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความไม่ชอบด้วยกฎหมาย”

7. วันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 รฟม. และคณะกรรมการมาตรา 36 ได้ยื่นอุทธรณ์ ขอให้ศาลมีคำพิพากษากลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น กรณีมีคำทุเลคำสั่งการบังคับตามหลักเกณฑ์ การร่วมลงทุนของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ที่แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพื่อร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น

ตามด้วยวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 คณะกรรมการ ม.36 ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งถอนอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราว และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เนื่องจาก คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ได้มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุน ระหว่างรัฐกับเอกชนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม และ ยกเลิกการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนตามประกาศเชิญชวนดังกล่าวแล้ว ซึ่งมีผลเท่ากับยกเลิกโครงการคัดเลือกเอกชนเพื่อร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม อันเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีไม่มีอยู่ต่อไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ประเด็นปัญหาของโครงการรถไฟฟ้าสีส้ม ไม่จบเท่านั้น เพราะกรณีนี้ทาง BTSC ได้มีการยื่นคำฟ้องต่อ ศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เพื่อเอาผิด ผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 พระราชบัญญัติร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 รวม 7 คน กรณีแก้ไขหลักเกณฑ์การคัดเลือก การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และยกเลิกการประมูลในฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และมาตรา 165 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172

โดยคดีดังกล่าวศาลอาญาทุจริตฯ พิจารณาแล้วเห็นว่ามีมูลและประทับรับฟ้อง พร้อมดำเนินการไต่สวนบุคคลผู้เกี่ยวข้อง โดยมีการสอบพยานนัดสุดท้ายฝ่ายโจทก์ คือ นางสาวกนกรัตน์ ขุนทอง ผู้แทนสำนักงบประมาณ ไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2565 ที่ผ่านมา และอดีตหนึ่งในคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 ในขณะนั้น ยังคงยืนยันความเห็น กรณีคณะกรรมการ PPP นำเสนอหลักเกณฑ์การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม เสนอต่อครม.พิจารณาอนุมัติการดำเนินโครงการ

 

ตามรายละเอียดหนังสือ คณะกรรมการ PPP ลงวันที่ 23 สิงหาคม 2562 ว่า “ผู้ยื่นข้อเสนอที่ขอรับเงินสนับสนุน รวมทั้ง 2 ส่วนจากภาครัฐ เมื่อคิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน (NPV) ต่ำสุดจะเป็นผู้ชนะการคัดเลือก” เป็นเหตุอัน ” ไม่สามารถรื้อ เปลี่ยนแปลง ทีโออาร์ได้ เพราะถือเป็นส่วนหนึ่งของหลักการที่ครม.มีมติอนุมัติไว้แล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563 ดังนั้นถ้าหากคณะกรรมการคัดเลือกฯจะปรับปรุง หลักเกณฑ์การประเมินข้อเสนอการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนที่แตกต่างไปจากที่ครม. มีมติอนุม้ติไว้ อาจเป็นการเพิ่มภาระงบประมาณแผ่นดิน และคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะต้องนำเสนอให้ครม.พิจารณาอนุมัติ การปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าวก่อน จึงจะดำเนินการได้

และ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 ศาลปกครองกลางพิพากษา มีคำพิพากษา ในคดีที่ BTSC ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กรณีมีมติแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะการประเมินของเอกสารการคัดเลือกเอกชน

โดยศาลให้เหตุผลว่าการที่ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯ มีมติเห็นชอบเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมภายใน 9 วัน โดยมิได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องก่อนการดำเนินการแก้ไขตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน พ.ศ. 2563 จึงเป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมทุนรัฐและเอกชน

ดังนั้นการที่ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกฯ แก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 โดยใช้การประเมิน ซองที่ 2 คือข้อเสนอด้านเทคนิค และซองที่ 3 ข้อเสนอด้านการลงทุนและผลประโยชน์ตอบแทนมารวมกัน ในสัดส่วน 30:70 คะแนน เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

แต่อย่างไรก็ตาม ไม่อาจถือว่า รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ กระทำการละเมิดต่อ BTS เพราะค่าจ้างที่ปรึกษาด้านเทคนิคและค่าที่ปรึกษาทางกฎหมายที่ BTS อ้างจำนวน 5 แสนบาท นั้นเป็นค่าใช้จ่ายการดำเนินกิจการค้าตามปกติ ไม่ได้จากการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมและเปลี่ยนแปลงเอกสารการคัดเลือกจนเป็นเหตุให้ BTS ได้รับความเสียหาย ศาลจึงไม่อาจกำหนดความเสียหายดังกล่าวให้แก่ BTS ได้ จึงพิพากษายกฟ้อง

โดยทางด้าน นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้จัดการใหญ่ BTSC ระบุว่า ถึงแม้คดีนี้ศาลจะพิพากษายกฟ้องในส่วนของค่าเสียหาย เพราะเห็นว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ทาง BTS ใช้ในการยื่นประมูลอยู่แล้ว แต่สาระสำคัญของคำพิพากษา แจ้งชัดเจนว่า การแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณา ผู้ชนะการประเมินของเอกสารการคัดเลือกเอกชนนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ขณะที่ปัจจุบัน คดีเกี่ยวข้องโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ยังอยู่ในการพิจารณาของศาลรวม 3 คดี ประกอบด้วย 1. ศาลปกครอง คดีที่ภาครัฐออกประกาศยกเลิกประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีส้ม 2. คดีเรียกร้องค่าเสียหาย จากการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ประกวดราคา และ 3. คดีตามกระบวนการศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง 1 คดี ฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา 165 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172

นอกจากนี้ประเด็นปัญหาของรถไฟฟ้าสายสีส้ม ยังเกี่ยวเนื่องกับกรณีที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เคยยื่นคำร้องต่อดีเอสไอ และ อธิบดีเอสไอมีความเห็นคดีมีมูล จึงส่งเรื่องให้ป.ป.ช. พิจารณาดำเนิการ และ เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2565 นายศรีสุวรรณ ได้นำหลักฐานความเห็นของศาลปกครอง เข้ายื่นเพิ่มเติมต่อป.ป.ช. ใช้ประกอบในการไต่สวนและวินิจฉัยเพื่อเอาผิด ผู้ว่า รฟม.และคณะกรรมการตามมาตรา 36 ตามพรป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ 2561 ฐานทุจริตต่อหน้าที่ เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป

และผู้ว่าฯรฟม. ที่ถูกยื่นฟ้อง ยังคงเป็น นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ซึ่งคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 ได้มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอการต่อสัญญาจ้าง อีก 2 ปี ไปจนถึงปี 2567 จากที่สัญญาจ้างจะหมดในเดือนเมษายน 2565 ซึ่งต้องจับตาดูว่า การตัดสินใจเดินหน้าประมูลโครงการครั้งใหม่นี้ จะเสี่ยงซ้ำรอยความผิดเดิมอีกหรือไม่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

“จ่าเอ็ม” ไม่ยอมทำแผนยิง “ อดีตสส.กัมพูชา” ตร.เปิดกล้องนำภาพชี้จุดแทน
"ภูมิธรรม" ประกาศตั้ง KPI วัดผลประเมินเลื่อนยศ ปลดย้าย ทหาร-ตร.-ปกครอง แก้ปัญหายาเสพติด-แก๊งคอลฯ-ค้ามนุษย์
เมืองคอนระทึก คลื่นลมแรงกัดเซาะชายหาดบัวแก้ว ชาวบ้านหวั่นรีสอร์ตพังถล่มลงทะเล
"ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร" เปิดปฏิบัติลุยกวาดล้าง "ต่างด้าว" แย่งอาชีพคนไทย หลังพบลอบขายของในตลาดนัด
ครูสาวถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ใช้เบอร์ธนาคารโทรหา สูญเงินกว่า 1.2 ล้าน
“พล.ต.ท.เรวัช” เตือนนักเคลื่อนไหวในไทย-ศัตรูเยอะ หวั่นเหตุซ้ำรอย “ลิม กิมยา”
บ้านที่รอดไฟป่าแอลเอเชื่อออกแบบตาม Passive House
“อ.คมสัน” ค้านแก้รธน.ทั้งฉบับ แนะสว.พันธุ์ใหม่ ศึกษาข้อมูลในอดีต หวั่นเข้าข่ายล้มล้างปกครอง ยันร่างฉบับใหม่ตอบโจทย์กว่า
"ภูมิธรรม" ลงพื้นที่เชียงราย วางศิลาฤกษ์ สร้าง "สะพานร่วมใจ 3 อำเภอ" ย้ำรัฐบาล เร่งแจก ดิจิทัลวอลเล็ต กระตุ้นเศรษฐกิจ
"ภูมิธรรม" ล่องเรือตรวจพื้นที่ ซีลชายแดนเชียงราย ป้องกันปราบปรามยาเสพติด-สิ่งผิดกฎหมาย

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น