วันที่ 24 พฤษภาคม 2565 เวลา 13.30 น. ที่โรงแรมสบาย โฮเทล อำเภอเมืองนครราชสีมา นางยลดา หวังศุภกิจโกศล นายก อบจ.นครราชสีมา ในฐานะประธานคณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) ของ อบจ.นครราชสีมา ประชุมร่วมกับ นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, นายจารึก ไชยรักษ์ ผอ.สำนักขับเคลื่อนนโยบายสาธารณระดับพื้นที่ พร้อมคณะกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และ พญ.อารีย์ เชื้อเดช รองนพ.สสจ.นม.เพื่อเตรียมความพร้อมรับการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จังหวัดนครราชสีมา ที่มีอยู่ทั้งสิ้น 348 แห่ง และสมัครใจมีความประสงค์ขอรับการถ่ายโอน จำนวน 182 แห่ง และผ่านเกณฑ์การประเมิน จำนวน 21 แห่ง และ อบจ.นครราชสีมา มีความพร้อมที่จะรับการถ่ายโอนภารกิจและขับเคลื่อนการพัฒนาการบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานให้แก่ประชาชน
โดยมี คณะผู้บริหาร ส.อบจ.นม. รองปลัด อบจ. หัวหน้าส่วนราชการ ในสังกัดอบจ., คณะกรรมการสุขภาพระดับพื้นที่ (กสพ.) จ.นม., นายกเทศมนตรีเมือง เมืองปัก, กรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขตพื้นที่ 9 และสมัชชาสุขภาพจังหวัดนครราชสีมา ผู้บริหารและทีมงานจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.), ผู้แทนจาก สนง.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น(สถ.)และผู้แทนจากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครราชสีมา และ ตัวแทนภาคประชาชน เข้าร่วมรับฟัง แลกเปลี่ยน เพื่อหาแนวทางให้การถ่ายโอนภารกิจฯ ครั้งนี้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน สามารถตอบสนองต่อประชาชนด้วยระบบการรับบริการด้านสุขภาพที่ยั่งยืน
พร้อมกันนี้ ได้มีการนำเสนอแนวทางการจัดทำนโยบาย, การเสนอสถานการณ์ด้านสุขภาพในปัจจุบันและอนาคต การนำเสนอแนวทางการสร้างความร่วมมือ การแลกเปลี่ยนแนวคิด แนวทางการจัดสรรงบประมาณให้แก่ อบจ. แนวทางการบริหารงานบุคคลด้านสาธารณสุข จาก นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการ สช., นายสันติ ทวยมีฤทธิ์ รอง นพ.สสจ.นม.หน.กลุ่มงานยุทธศาสตร์สาธารณสุข, นพ.สำเริง แหยงกระโทก ปธ.คกก.เขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขตพื้นที่ 9 เพื่อยกระดับงานสาธารณสุข อบจ.นครราชสีมา ทั้งนี้การประชุมดังกล่าวมีการวีดีโอคอลและถ่ายทอดสดผ่านเพจสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้ส่วนงานที่เกี่ยวข้องได้รับชมรับฟังแนวทางการถ่ายโอนฯ ไปพร้อมกัน
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ฝ่ายบริหารได้แถลงต่อ สภา อบจ.นครราชสีมาเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ภายใต้วิสัยทัศน์“โคราชโฉมใหม่ระบบสุขภาพยั่งยืน” โดยได้เสนอนโยบาย 9 ข้อ เพื่อพัฒนาสุขภาวะที่ดีของคนโคราช ประกอบด้วย 1.สนับสนุน ส่งเสริม พัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิเข้มแข็ง 2. บูรณาการระบบดูแลสุขภาพแบบองค์รวม 3. นำร่องระบบ digital healthcare 4. ระบบการแพทย์ทางเลือก 5. น้อมนำศาสตร์พระราชาด้านการสาธารณสุขท้องถิ่น 6. เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ 7. พัฒนาสมรรถนะ อสม. เจ้าหน้าที่ และผู้บริหารด้านสาธารณสุข 8. จัดทำ Big data และ 9. พัฒนาระบบการดูแลผู้สูงวัย ซึ่งนำไปสู่การปฏิบัติ และเป็นข้อมูลสำคัญของการพัฒนาระบบสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ภายใต้การบูรณาการความร่วมมือระหว่างท้องถิ่น ที่จะจับมือ รพ.สต. และ อสม. ในการดูแลชุมชน “รวดเร็ว ทั่วถึง ทันที” และมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน.
ภาพ/ข่าว ณัฐพงศ์ อรชร ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.นครราชสีมา