"ฝีดาษลิง" แพทย์เผย 8 เหตุผลชัด ๆ ที่ทำให้คนไทยยังไม่ต้องวิตกกังวลเรื่องการแพร่ระบาด
ข่าวที่น่าสนใจ
เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมธิการสาธารณสุข วุฒิสภา เผยเหตุผลที่ทำให้คนไทยอย่าเพิ่งกังวลจนเกินไปเกี่ยวกับโรคนี้ โดยระบุว่า 8 เหตุผล ที่ทำให้พอจะเบาใจเรื่องฝีดาษ ลิงได้
ตามที่มีรายงานการระบาดของฝีดาษ ลิงทั่วโลก นับเฉพาะนอกทวีปแอฟริกา พบผู้ติดเชื้อแล้ว 22 ประเทศ จำนวนมากกว่า 300 คนนั้น มีข้อมูลที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นประเด็นพอจะทำให้เบาใจได้ ดังนี้
1. การติดต่อ
- ติดต่อได้ไม่ง่ายนัก มักจะติดต่อโดยการสัมผัสโดยตรงต่อสัตว์นำโรค ทานเนื้อสัตว์ดิบ หรือสัมผัสผู้ติดเชื้อโดยตรง
- ยังไม่มีการยืนยันทางวิชาการว่าสามารถติดต่อผ่านทางอากาศได้เช่นเดียวกับโควิด-19
2. ความรุนแรง
- ฝีดาษ ลิงมีความรุนแรงน้อยกว่าฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษมาก ประมาณ 3-30 เท่า
- คือ มีอัตราการเสียชีวิตที่ 1-10% ในขณะที่ฝีดาษคนเสียชีวิตมากถึง 30%
3. การตรวจพบผู้ติดเชื้อ
- สามารถตรวจพบได้ง่าย เพราะ มีอาการที่ชัดเจน
- ตุ่มน้ำใสหรือตุ่มหนองปรากฏขึ้นที่ผิวหนัง ทั้งบริเวณใบหน้าและแขนขา
- ทำให้สามารถหลีกเลี่ยงไม่สัมผัสผู้ติดเชื้อได้ง่ายกว่าโควิด
4. ชุดตรวจหาการติดเชื้อ
- ขณะนี้มีการพัฒนาชุดตรวจหาไวรัสสำเร็จแล้วในหลายประเทศ
- รวมทั้งประเทศไทยก็มีการพัฒนาชุดตรวจไวรัสดังกล่าวสำเร็จแล้วเช่นกัน
5. วัคซีนที่ใช้ป้องกันโรค :
- พบว่า วัคซีนป้องกันฝีดาษคนหรือที่เรียกว่า ปลูกฝี สามารถป้องกันฝีดาษ ลิงได้ด้วยในระดับอย่างน้อย 85%
- นอกจากนั้น ขณะนี้ก็มีวัคซีนใหม่ที่ได้พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ป้องกันทั้งฝีดาษคนและฝีดาษ ลิงแล้ว
- นอกจากนี้ ภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการปลูกฝีเดิม แม้ผ่านไปหลาย 10 ปี ก็ยังอยู่ในระดับสูงมากพอที่จะป้องกันได้
- และด้วยระยะฟักตัวของเชื้อที่นานถึง 21 วัน ทำให้ในกรณีที่ไปสัมผัสไวรัสมา ถ้าฉีดวัคซีนในช่วง 4 วันแรก ก็ยังสามารถป้องกันได้ทัน
6. ยารักษา
- ขณะนี้มียารักษาที่ออกฤทธิ์ต่อต้านไวรัสในกลุ่มของฝีดาษคนและฝีดาษ ลิง ที่ใช้อยู่ก่อนหน้านี้แล้ว
7. การกลายพันธุ์
- ไวรัสก่อโรคฝีดาษ ลิงกลายพันธุ์ยากกว่าโควิดมาก
- ตลอด 60 ปีที่ผ่านมา ไวรัสก่อโรคฝีดาษ ลิงก็ยังเป็นสายพันธุ์เดิม
- เนื่องจาก เป็นไวรัสสารพันธุกรรมคู่หรือดีเอ็นเอ (DNA) กลายพันธุ์ยากกว่าไวรัสโควิดที่เป็นสารพันธุกรรมเดี่ยวหรืออาร์เอ็นเอ (RNA)
8. ผู้ติดเชื้อ
- ในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน ยังไม่พบผู้ติดเชื้อ
- และได้มีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจ เพื่อดูแลเรื่องโรคนี้ รวมทั้งมีการคัดกรองที่สนามบินแล้ว
อย่างไรก็ตาม แม้จะสามารถเบาใจได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ควรจะประมาท เพราะ โรคติดต่อจากไวรัส ไม่ว่าจะเป็นโรคใดก็ตาม มีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ ที่มนุษย์พึงจะต้องระมัดระวังตัวอยู่เสมอ
ข้อมูล : Chalermchai Boonyaleepun
ข่าวที่เกี่ยวข้อง