ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง หากร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ปี66 ไม่ผ่านสภาฯอย่างที่มีกระแสข่าวว่าฝ่ายค้านจะคว่ำนั้นส่งผลอย่างไรว่า หากไม่ผ่านจริงอย่างที่ถาม รัฐบาลก็ต้องยุบสภาหรือลาออก และหากมีการยุบสภา เกิดขึ้นกว่าจะเลือกตั้ง กว่าจะมีสภาฯก็ใช้เวลาอีกนาน และระหว่างนั้นสามารถใช้พ.ร.บ.งบประมาณ ปี65 ไปพลางก่อน ซึ่งตามปกติแล้วสำนักงบประมาณจะต้องระบุว่าให้ใช้ในส่วนดังกล่าวได้กี่เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้ให้ใช้เต็ม แต่ก็บริหารไปได้ จนกว่าจะมีงบประมาณใหม่ และเพียงแต่โครงการใหม่ๆจะเกิดไม่ได้ เพราะไม่มีโครงการใหม่นั้นอยู่ในบัญชีพ.ร.บ.ปี 65 อย่างไรก็ตาม ในรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดว่าหากพ.ร.บ.งบไม่ผ่านแล้ว จะต้องยุบสภาหรือลาออก แต่เป็นประเพณีปฏิบัติ แต่ทั้งยุบสภา และลาออก มีผลให้พ้นทั้งคณะ แต่รัฐบาลก็รักษาการต่อไป
ข่าวที่น่าสนใจ
ผู้สื่อข่าวถามว่าในเมื่อเป็นประเพณีแล้วไม่ปฏิบัติตามได้หรือไม่ นายวิษณุ บอกว่า เมื่อเป็นประเพณีก็ควรจะต้องปฏิบัติจะลาออกก็ได้จะยุบสภาก็ได้ เมื่อถามว่า หากมีการยุบสภาหรือลาออกเกิดขึ้นจริงจะกระทบต่อการพิจารณากฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับอย่างไร นายวิษณุ ตอบว่า ก็ต้องชะงัก เพราะถ้าไม่มีสภา ก็จะไม่มีการพิจารณากฎหมายและวุฒิสภา ก็ประชุมไม่ได้ อย่างไรก็ตาม พอสื่อมวลชนคิดว่ามันจะเกิดเหตุอย่างที่มาสมมุติเรื่องและถามตน มันก็จะไปได้เรื่อยๆ ถามกันไปได้อีกเยอะ แต่รัฐบาลไม่ได้คิดแบบนั้นเพราะหากการพิจารณากฎหมายลูกต้องสะดุดจริงจะทำอย่างไรต่อไปตนก็ขอยังไม่ตอบ ไม่ว่าจะใช้วิธีใด ก็จะอยู่บนเขียงทั้งนั้น
อาทิ 1.ออกเป็นพ.ร.ก. 2. กกต.ประกาศไปเลย 3. เลือกตามแบบรัฐธรรมนูญใหม่ โดยที่ไม่ต้องยืมระเบียบอะไรทั้งนั้น แต่ทุกอย่างจะต้องถูกถกเถียงไปที่ศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมดแล้วถ้าศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าใช้ไม่ได้เอาที่เลือกกันมาก็ใช้ไม่ได้ทั้งหมด ซึ่งแต่ละทางออกก็อาจจะมีผู้เสียประโยชน์ทำให้ไม่ยอมรับและเมื่อไม่ยอมรับเขาก็ไปร้อง หากร้องแล้วศาลเห็นด้วยขึ้นมาก็จะเหมือนในอดีตที่ศาลเคยตัดสินการเลือกตั้งเป็นโมฆะมาแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า หากเกิดเหตุการณ์ที่พ.ร.บ.งบประมาณปี 66 ไม่ผ่านสภาจริงคิดว่าวิธียุบสภาหรือลาออกจะราบรื่นมากกว่ากัน นายวิษณุ กล่าวว่า อันนี้ก็แล้วแต่สถานการณ์ เพราะแต่ละครั้งจะต้องคิดว่าเอาอย่างไร เพราะถ้าไม่ผ่านก็คือไม่ผ่านต้องเสนอใหม่อยู่ดี หากลาออกแล้วมีรัฐบาลใหม่ก็ต้องเสนอเข้าสภาในขณะที่องค์ประกอบของสภาก็ไม่ได้เปลี่ยน แล้วรัฐบาลใหม่เสนอก็จะไม่ผ่านเหมือนเดิม เมื่อคิดอย่างนั้นก็เลือกยุบสภาดีกว่าคือเปลี่ยนสภาเสียเลย
ถามว่าในวันโหวตหากทราบผลว่าพ.ร.บ.งบประมาณ ไม่ผ่านรัฐบาลจะต้องประกาศยุบสภาหรือลาออกในวันนั้นทันทีหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เขาไม่บอกใครหรอกว่าจะยุบสภาหรือลาออก อยู่ดีๆก็ประกาศออกมาโดยไม่มีใครรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่มีการกำหนดระยะเวลา อาจจะใน7 วัน หรือ 10 วันก็ได้ หรือ 1 เดือนก็ได้ แต่ร่างพ.ร.บ.งบประมาณตกไปแล้ว ไม่มีเงื่อนเวลา ต้อง ดูจังหวะเวลาอันสมควร แต่จะต้องจบลงด้วยอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะการที่สภาไม่ผ่าน เพราะสภาไม่ไว้วางใจ ที่จะให้รัฐบาลบริหาร ดังนั้นเมื่อรู้ตัวก็ควรจะลาออกหรือยุบสภา เพราะถ้าลาออกแล้วเกิดรัฐบาลใหม่ขึ้นมา แต่สภายังอยู่ องค์ประกอบสภาเหมือนเดิมก็อาจจะไม่ผ่านอีก ในที่สุดงบประมาณก็ไม่ผ่านเสียที
เมื่อถามว่าในอดีตเคยมีหรือไม่พ.ร.บ.งบประมาณไม่ผ่านสภา รองนายกรัฐมนตรี บอกว่าในประเทศไทยไม่มี แต่ในอดีตสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม อดีตนายกฯ กฎหมายย้ายเมืองหลวงไม่ผ่าน จอมพล ป. ก็ลาออก ในสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกฯ มีการออกพ.ร.ก. แต่สภาไม่เห็นชอบ พล.อ.เปรม จึงยุบสภา ถามว่าหากพ.ร.บ.งบประมาณไม่ผ่านประชาชนจะวิพากษ์วิจารณ์ว่า นักการเมืองเล่นการเมืองกันมากเกินไป นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ แล้วทำไมสื่อมวลชนตั้งคำถามกับตนเหมือน พ.ร.บ.งบประมาณ ปี66 จะไม่ผ่าน ทำไมจึงคิดเช่นนั้น เมื่อผู้สื่อข่าวชี้แจงว่าบรรยากาศในสภาและบรรยากาศการเมืองทำให้คิดตามไปได้เช่นนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ดังนั้นช่วยกันตามดูต่อไป ซักว่าคิดว่าพ.ร.บ.งบประมาณปี66 จะผ่านหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า “ผมไม่รู้ผมไม่กล้าตอบ สื่อถามมากจนผมชักหวั่นไหว แต่ผมไม่มีสิทธิ์โหวตในสภา ผมเป็นฝ่ายไปอย่างเดียว และบอกแล้วว่าแนวโน้มไม่มี มีแต่แนวนอน”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
-