ด่วน "ฝีดาษลิง" เข้าไทย สธ. เร่งตามอาการผู้โดยสารใกล้ชิด 12 ราย หลังออสเตรเลียแจ้งผู้ป่วยมารอต่อเครื่องที่ไทย 2 ชั่วโมง
ข่าวที่น่าสนใจ
เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เผยสถานการณ์โรคฝีดาษวานร หรือ “ฝีดาษลิง” (Monkeypox) ในประเทศไทย ว่า พบผู้ป่วย 1 ราย บินมาจากประเทศทางยุโรป มาต่อเครื่องในไทย 2 ชั่วโมง เพื่อไปออสเตรเลีย ซึ่งยังไม่มีอาการ แต่ไปพบอาการที่ประเทศออสเตรเลีย พบผู้สัมผัสเสี่ยง 12 ราย เป็นผู้โดยสารและลูกเรือในสายการบิน เบื้องต้น 7 วันยังไม่พบอาการใด ๆ โดยต้องติดตามต่อไปให้ครบ 21 วัน
“โดยการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดอยู่บนเครื่องบิน เนื่องจาก ผู้ป่วยที่เดินทางไปออสเตรเลียอีกหลายวันจึงพบเชื้อ ยังดีที่ผู้ป่วยนั่งในชั้น Business class นั่งห่างกันพอสมควร ซึ่งการติดเชื้อไม่ง่าย ต้องใกล้ชิดจริง ๆ ถ้าอยู่ห่าง ๆ ไม่ค่อย เพราะ เชื้อไม่ได้ลอยไปเอง อย่างเหตุการณ์ในยุโรป จะมีการใกล้ชิด กอดจูบ ดังนั้น โรคนี้ไม่ได้ติดต่อง่าย ต้องสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วยในระยะที่ป่วยด้วย”
นอกจากนี้ ไทยยังพบผู้ป่วยสงสัย “ฝีดาษลิง” อีก 5 ราย จากผลตรวจห้องแล็ป 2 แห่ง ยืนยันตรงกันว่าไม่ใช่ฝีดาษ ลิง พบเป็นเชื้อเริม โดยประวัติเสี่ยงของผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็น 3 พี่น้องชาวไอร์แลนด์ เดินทางเข้ามาประเทศไทยเพื่อเรียนมวยไทย บินตรงที่ จ.ภูเก็ต ต่อมาพบอาการป่วยเข้าได้กับนิยามผู้ป่วยสงสัย คือ
- มีไข้ มีผื่น
- มีประวัติเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง
- เข้ารับการรักษารพ.เอกชน และได้รับการแจ้งผ่านระบบเฝ้าระวังจากรพ. จึงให้มาเข้ารับการรักษาที่สถาบันบำราศนราดูร
ค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติม พบผู้ป่วยสงสัยเพิ่มอีก 2 รายที่ยิมเดียวกัน จ.ภูเก็ต รวม 5 ราย แต่ทั้งหมดไม่ใช่ผู้ป่วยโรคดังกล่าว แต่เป็นผู้ป่วยโรคเริม
กรณีกลุ่มนี้ปัจจัยเสี่ยง มีประวัติสัมผัส เนื่องจาก มีการใช้อุปกรณ์ชกมวย กระสอบทราย ร่วมกับผู้มีประวัติเป็นผื่นก่อนหน้าในยิมเดียวกัน ประวัติเพศสัมพันธ์กับหญิงไทยช่วงที่อยู่ในไทย คลุกคลีใกล้ชิดกันตลอดเวลาที่อยู่ในประเทศไทย แต่ไม่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยฝีดาษ ลิงที่ไอร์แลนด์หรือร่วมกิจกรรมที่มีรายงานพบผู้ป่วย
นพ.จักรรัฐ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “ฝีดาษลิงในไทย จัดเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง ไม่ใช่โรคติดต่ออันตราย เพราะฉะนั้น ผู้สัมผัสใกล้ชิด ที่เป็นผู้เสี่ยงต่ำ ให้ติดตามอาการตนเอง ไปทำงานได้ปกติ ถ้ามีอาการให้แจ้งเจ้าหน้าที่ แต่กรณีที่เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงให้แยกกักตัวเองที่บ้าน 21 วัน ส่วนในการรักษาผู้ป่วยยืนยันจะให้การรักษาจนกว่าแผลตกสะเก็ด ไม่สามารถแพร่เชื้อต่อได้แล้ว ก็จะให้ออกจากรพ. ซึ่งอาจจะเร็ว ช้ากว่า 21 วันก็ได้”
สำหรับผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีการระบาดของโรค หากมีอาการเข้าข่ายให้รีบไปพบแพทย์และแจ้งประวัติการเดินทางและประวัติเสี่ยง โดยเฉพาะการร่วมกิจกรรมในต่างประเทศ ส่วนผู้ที่จะเดินทางไปต่างประเทศขอให้ปฏิบัติมาตรการป้องกันส่วนบุคคล ใส่หน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงการร่วมกิจกรรมและล้างมือบ่อย ๆ ทั้งนี้ ทั่วโลกยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดว่าสามารถแพร่คนสู่คนเร็วแค่ไหน และมีการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์หรือไม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
-