นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายพิชัย นริพทะพันธ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้นำพิการทางความคิด ล้มเหลวทุกด้านว่า สำหรับตนแล้วคนที่พิการทางความคิดเป็นนายพิชัย ไม่ใช่ท่านนายกฯ และยังพิการทางด้านจิตใจด้วย เพราะวันๆ จิตใจคิดแต่เรื่องลบ ไม่รู้กาลเทศะ เล่นการเมืองบนชีวิตของประชาชน การแก้ปัญหาโควิด-19 ไม่ได้ล้มเหลวทุกอย่างเดินหน้าตามยุทธศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นการเร่งฉีดวัคซีนให้กับพี่น้องประชาชน หรือการออกมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูประเทศ ทั้งโครงการคนละครึ่ง เพิ่มกำลังซื้อในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ฯลฯ แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะเกิดขึ้นในบางพื้นที่ แต่พล.อ.ประยุทธ์ก็เร่งแก้ปัญหาในทันที เช่นเดียวกับการประกาศปิดแคมป์ก่อสร้าง ร้านอาหารเครื่องดื่มในพื้นที่ 6 จังหวัด และมีการออกมาตราการช่วยเหลือตามมา ใช้งบประมาณ 8500 ล้านบาท
นายธนกร กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่นายพิชัยตั้งคำถามนั้น รัฐบาลก็ชี้แจงได้ทุกข้อ เช่น กรณีการเยียวยาในโครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” ที่คนเข้าร่วมโครงการน้อยมาก แค่ 4 แสนคน จากยอดโครงการ 4 ล้านราย แม้กระทั่งโครงการ “คนละครึ่ง” ที่ในอดีตแย่งกันลงทะเบียน แต่ปัจจุบันกลับมีเหลือเป็นล้านราย แต่ทำไมถึงยังดำเนินโครงการต่อนั้น รัฐบาลออกแบบมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ให้ครอบคลุมและรองรับประชาชนทุกกลุ่มของประเทศให้มากถึง 51 ล้านคน อย่างไรก็ตาม ประชาชนสามารถเลือกได้ว่าจะใช้สิทธิโครงการใดตามความเหมาะสมและความจำเป็นของตนเอง โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 เปิดให้ประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมโครงการถึง 31 ล้านคน โดยมีผู้ได้สิทธิแล้วกว่า 28 ล้านคน มากกว่าโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 1 และ 2 โดยคาดว่าเมื่อเริ่มเปิดให้ใช้จ่ายในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 จะยังมีประชาชนสนใจเข้ามาลงทะเบียนอีกอย่างต่อเนื่อง สำหรับโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้มีกำลังซื้อ ซึ่งมุ่งเน้นกลุ่มที่ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประมาณ 4 ล้านคน อีกทั้งขณะนี้ร้านค้าได้ทยอยลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ดังนั้น เมื่อเริ่มเปิดให้ใช้จ่ายในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 คาดว่าจะมีประชาชนที่สนใจเข้ามาลงทะเบียนอีกเช่นกัน
นายธนกร กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่นายพิชัยสอบถามการปล่อยกู้ดอกเบี้ย 0% ตามที่ได้ประกาศว่าได้มีการดำเนินการไปถึงไหนแล้ว มีธุรกิจใดได้แล้วบ้าง จะมีการกระจายให้ทั่วถึงได้อย่างไรนั้น กระทรวงการคลังได้มอบหมายให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายมาตรการพักชำระหนี้ และมาตรการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ประชาชน และผู้ประกอบการ SMEs จนถึงสิ้นปี 2564 ทั้งนี้ ไม่เคยมีการ ประกาศเรื่องการปล่อยกู้ดอกเบี้ย 0% แต่อย่างใด โดยเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564 ธนาคารออมสินได้ออกมาตรการยกเว้นการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ทำให้เงินงวดเป็นศูนย์ เป็นระยะเวลา 6 เดือน (ก.ค. – ธ.ค. 2564) สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ต เกสต์เฮาส์ และเซอร์วิสอพาร์ตเมนท์ ที่มีวงเงินสินเชื่อรวมไม่เกิน 250 ล้านบาท และหนี้ค้างชำระไม่เกิน 90 วัน และธนาคารออมสินมี 2 มาตรการสนับสนุนสินเชื่อเสริมสภาพคล่อง คือ 1. มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน วงเงินกู้สูงสุด 5 แสนบาท และ 2.มาตรการสินเชื่อ มีที่ มีเงินสำหรับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ใช้ที่ดินเป็นหลักประกัน อัตราดอกเบี้ย ปีแรก 0.1% ส่วนที่นายพิชัยระบุว่า ถ้าเปิดประเทศไม่ได้ เศรษฐกิจไทยจะทรุดต่อไปอีกนาน พล.อ.ประยุทธ์มีแผนงานจะทำอย่างไรต่อไปเพื่อบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจนั้น การดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจในระยะต่อไปจะให้ความสำคัญทั้งในด้านสาธารณสุขและด้านเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กัน และจะติดตามการระบาดและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด รวมถึงมีแนวทางในการดูแลด้านสาธารณสุขให้ควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อกิจการและกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากนัก โดยมุ่งเน้นที่การจัดหาวัคซีนโควิดให้มีใช้อย่างเพียงพอทั้งปริมาณและคุณภาพรวมตลอดจนการกระจายวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่โดยเร็ว หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น การดำเนินมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาจะเป็นทางเลือกแรกที่จำเป็นต้องเร่งดำเนินการให้ทันต่อสถานการณ์เพื่อประคองการดำรงชีพให้แก่ประชาชน ตลอดจนพยุงการบริโภคไม่ให้ระบบเศรษฐกิจภายในประเทศหยุดชะงัก อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์เริ่มมีความคลี่คลาย รวมถึงประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นรัฐบาลจะเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นการบริโภคและกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศให้กลับมาฟื้นตัวและเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก ทดแทนภาคส่งออกและภาคการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ลดลง ประกอบกับการฟื้นฟูภาคการผลิต ส่งเสริม และสนับสนุนให้กับภาคธุรกิจภายในประเทศให้กลับมาฟื้นตัวได้โดยเร็ว ตลอดจนสร้างแรงจูงใจให้กับภาคการผลิตในการพัฒนาสินค้าและบริการที่สอดรับกับความต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น โดยรัฐบาลจะพิจารณการดำเนินมาตรการต่าง ๆ อย่างเหมาะสมภายใต้ความเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อให้มั่นใจว่า เศรษฐกิจของประเทศจะสามารถฟื้นตัวเข้าสู่สภาวะปกติได้โดยเร็ว และสอดคล้องกับการฟื้นตัวของสภาวะเศรษฐกิจโลกในระยะยาว
“รัฐบาลจะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ มุ่งเน้นการลงทุนเพื่อปรับโครงสร้างสู่เศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้เกิดนวัตกรรม และการให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานสะอาด และการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากร ลดความเหสื่อมล้ำ และยกระดับทักษะแรงงาน ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางที่ประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายไว้ ได้แก่ การมุ่งไปสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรมและองค์ความรู้ วิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โอกาสสำหรับทุกกลุ่มคนและทุกพื้นที่และกำลังคนภาครัฐที่มีสมรรถนะสูง หวังว่านายพิชัยจะเข้าใจ อย่าเอาใจคนแดนไกลจนไร้เหตุผล”นายธนกรกล่าว