“ชัชชาติ” ต้องชัดเจนผลประโยชน์อนาคตรถไฟฟ้าสีเขียวเพื่อคนกรุงฯ

"ชัชชาติ" ต้องชัดเจนผลประโยชน์อนาคตรถไฟฟ้าสีเขียวเพื่อคนกรุงฯ

ยังคงเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจ กับอนาคตรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือ BTS ที่คนกรุงเทพฯหลายล้านชีวิต จำเป็นต้องใช้บริการในแต่ละวัน หลังจากเดิมมีปัญหาติดขัดในขั้นตอนการพิจารณาของที่ประชุมครม. แบบยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่าจะไปทางไหน จนมาถึงกรณี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ แจ้งว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนในการตรวจสอบรายละเอียดด้านเอกสารสัญญา ความถูกต้องทุกแง่มุม รวมถึงแสดงความเห็นไปถึงเรื่องค่าโดยสาร รวมถึงรูปแบบการบริหารจัดการ รถไฟฟ้าสายสีเขียว ว่า อาจมอบกลับไปให้รฟม.ดูแลรับผิดชอบ

ทั้ง ๆ ที่โครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ และช่วงแบริ่ง – สมุทรปราการ อนุมัติสร้างในสมัย รัฐบาล สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ให้รฟม.ดำเนิการก่อสร้าง เคยมีปัญหา เกิดความความล่าช้า ในขั้นตอนการดำเนินการจัดหา ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้า เนื่องจากระบบการเดินรถมีความจำเป็น ต้องเชื่อมโยงกับระบบรถไฟฟ้าสีเขียว สายหลัก ซึ่งทาง BTSC เป็นผู้ให้บริการ ผลก็คือโครงสร้างที่รฟม.ก่อสร้าง ต้องกลายเป็นตอม่อ อนุสาวรีย์ ไม่มีขบวนรถไฟฟ้าให้บริการ

นี่จึงเป็นสำคัญทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคสช. (ขณะนั้น) ต้องออกคำสั่งตามมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ปัญหาความล่าช้าที่เกิดขึ้นกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย ภายใต้หลักการสำคัญ คือ โอนย้ายความรับผิดชอบจากรฟม. มาเป็น กทม.

พร้อมกำหนดให้กรุงเทพมหานคร ดำเนินการจ้างผู้ประกอบการเอกชน ดำเนินการติดตั้งระบบรถไฟฟ้าจัดการเดินรถไฟฟ้า และบริหารการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวหลัก กับ โครงการส่วนต่อขยายให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อแก้ปัญหาการจราจร และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

รวมถึงแต่งตั้งคณะกรรมการ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงมหาดไทย , ปลัดกระทรวงการคลัง , ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ , เลขาธิการสภาพัฒน์ , อัยการสูงสุด พร้อม ข้าราชการระดับสูง รวมถึง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงิน และด้านระบบไฟฟ้า โดยมีปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นกรรมการและเลขานุการ

ทำหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์การแบ่งปันผลประโยชน์จากค่าโดยสาร รวมถึงหลักเกณฑ์อื่น เพื่อดำเนินการแก้ไขสัญญาสัมปทาน ตามพระราชบัญญัติการ่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 กับผู้รับสัมปทานดังกล่าวให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

โดยเวลาต่อมา กทม. โดย บริษัทกรุงเทพธนาคมฯ วิสาหกิจ ที่มีกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ถือหุ้นอยู่ถึงร้อยละ 99.96 ได้ตัดสินใจจ้าง BTSC ให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย ทำให้เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว สามารถครอบคลุมพื้นที่ ดูแลผู้โดยสาร ทั้งในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และ สมุทรปราการ ด้วยระยะทางการเดินรถไฟฟ้าไกลถึง
68.25 กิโลเมตร

ประเด็นสำคัญ คือที่ผ่าน BTSC ได้รับผิดชอบการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว เส้นทางหลัก และรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย ตามสัญญาว่าจ้างมาโดยตลอด รวมถึงเป็นการบริการโดยไม่มีมีการจัดเก็บค่าโดยสาร ตั้งแต่เริ่้มต้นเปิดให้บริการปี 2562 จนถึงปัจจุบัน ทำให้กทม.มีมูลหนี้ค้างจ่าย BTSC สูงถึง 4 หมื่นล้านบาท

โดยประเด็นนี้ นายชัชชาติ ตอบคำถาม ยอมรับว่ามีความกังวล เรื่องหนี้ค้างจ่ายบีทีเอสทั้งหมด ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท แม้ว่าจะ ไม่ได้เกิดขึ้นในยุคนี้ เพราะฉะนั้นต้องมาดูรายละเอียดทั้งหมด เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาร่วมกัน รวมถึงภายหลังจากปี 2572 ทรัพย์สินทั้งหมดของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เมื่อหมดอายุสัมปทาน และกลับมาเป็นของกรุงเทพมหานคร ก็จะทำให้กรุงเทพมหานครพอจะมีเงินในอนาคต ดังนั้นในส่วนของภาระหนี้ที่เกิดขึ้นจะต้องพิจารณาให้ดีว่าจริงๆกรุงเทพมหานครควรจะรับหนี้เท่าไร ภายหลังการหมดอายุสัมปทาน จึงต้องมาดูรายละเอียดรายได้ ก่อนพิจารณาตัดสินใจจะดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด

 

ข่าวที่น่าสนใจ

นอกจากนี้ นายชัชชาติ ยังระบุถึง เรื่องภาระหนี้ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จะมีแนวทางจ่ายหนี้ให้กับบีทีเอส ได้บางส่วนหรือไม่ ว่า ในส่วนของมูลหนี้ที่เกิดขึ้น ถือว่าไม่ได้มากนัก แต่ต้องไปหารือถึงเรื่องการจ่ายหนี้อีกครั้งว่า จะจ่ายอย่างไร ซึ่งปัญหาการจ่ายหนี้ต้องขึ้นอยู่กับสภากรุงเทพมหานครในการพิจารณา เพราะที่ผ่านมาการอนุมัติจ้าง บีทีเอสเข้ามาเดินรถส่วนต่อขยายนั้น เท่าที่ทราบไม่ได้ผ่านการพิจารณาของสภากรุงเทพมหานคร จึงยังไม่สามารถดำเนินการจ่ายหนี้ได้ โดยยืนยันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดตนเองไม่ได้เป็นผู้กระทำแต่เกิดขึ้นมาในช่วงก่อนหน้านี้และเป็นของผู้ว่าคนก่อนๆ โดยหลังจากนี้ตนจะเข้าไปดูในเรื่องรายละเอียดทั้งหมด เพื่อให้ทุกคนเข้าใจตรงกันแก้ปัญหาร่วมกัน

อีกทั้งหลังปี 2572 รถไฟฟ้าสายสีเขียวจะอยู่ในความดูแลของ กทม. ทั้งหมด ดังนั้นสิ่งที่ต้องประเมิน คือ จำนวนหนี้สิน ซึ่งเรื่องนี้จะนำเข้ามาพิจารณาในสภากทม. ด้วย เพราะเท่าที่ทราบที่ผ่านมายังไม่เคยมีการนำเรื่องนี้เข้าสภากทม.มาก่อน

ส่วนความชัดเจนเรื่องการแก้ปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว นายชัชชาติ ระบุว่าขณะนี้ตนเองยังไม่ได้เข้าไปดูสัญญา เนื่องจากตนเองยังไม่ได้รับการรับรองจากกกต.แต่มองว่าในเรื่องดังกล่าวไม่มีความน่าเป็นห่วง เพราะหน้าที่เราเพียงเข้าไปดูในสิ่งที่คนอื่นทำมาแล้วไม่ได้มีการทำอะไรเพิ่มเติม โดยดูในเรื่องของสัญญาเก่าว่าเป็นอย่างไร ขั้นตอนเป็นอย่างไร และการต่อสัญญาเป็นอย่างไร เพื่อนำมาชี้แจงเชื่อว่าภายในระยะเวลา 1 เดือนจะสามารถออกมาชี้แจงถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้ โดยยืนยันว่าในการแก้ปัญหาจะใช้ผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งและให้ความยุติธรรมกับทุกคน

และกรณีที่แนวนโยบายในเรื่องของการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่มีความคล้ายคลึงกับนโยบายของพรรคเพื่อไทยนั้น ได้มีการหารือร่วมกับพรรคเพื่อไทยหรือไม่ นายชัชชาติระบุว่า ขณะนี้ตนยังไม่ได้หารือร่วมกับพรรคเพื่อไทย เพราะในเรื่องของราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าเป็นแนวนโยบายส่วนตัว ส่วนประเด็นการต่อสัญญานั้นจะต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใส ซึ่งจะต้องมีทีมงานเข้ามาช่วยดูแลให้มีการแข่งขันเพื่อให้ได้ราคาที่เหมาะสมตามหลักการประมูล และเมื่อตรวจสอบสัญญา ตามข้อเสนอเรื่องการขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวของบีทีเอสเสร็จแล้ว ก็จะมีการรายงานผลสรุปข้อมูลและความคิดเห็นไปให้คณะรัฐมนตรี รับทราบและพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ก่อนหน้า นายชัชชาติ เคยระบุถึงแก้ปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว ว่า ไม่ใช่เรื่องที่ตนจะรับผิดชอบเพียงคนเดียว แต่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ซึ่งขอดูข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมก่อนใน 3 ประเด็น คือ 1.ที่มาของหนี้ 2.สัญญาเดินรถ และ 3.การต่อสัญญาสัมปทาน ทำไมไม่เข้า พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ

ทำให้เกิดคำถามว่า ในกรณีถ้านายชัชชาติ มีความเห็นไม่เป็นไปตามข้อเสนอของคณะกรรมการฯ ตามมาตรา 44 เดิม โดยการเดินหน้ากดดันให้มีการพิจารณาเรื่อง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ แล้วรอให้ครบกำหนดอายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายหลักในปี 2572 ทางกทม.จะมีแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินในเบื้องต้นอย่างไร และจะทันกับสถานการณ์การแบกรับมูลหนี้ ทั้งในส่วนของต้นทุนภาคบริการ และ ค่าใช้จ่ายรายเดือน ของภาคเอกชนหรือไม่

 

ในมุมกลับถ้าเทียบย้อนกลับเป็นผลเชิงบวกกับกทม. นอกจากจะได้ประโยชน์ ต่อการแก้ไขภาระหนี้สินกว่า 120,000 ล้านบาทของ กทม. ประกอบด้วย

1.ภาระหนี้สินเดิมที่เกิดขึ้นจากการรับโอนโครงการส่วนต่อขยายที่ 2 ทั้งในส่วนเงินต้นค่างานโยธาที่ประมาณ 55,000 ล้านบาท
2.ภาระดอกเบี้ยในอนาคตอีกประมาณ 10,000 ล้านบาท
3.ค่าลงทุนในงานระบบ (E&M) ในส่วนต่อขยายที่ 2 กว่า 20,000 ล้านบาท
4.ภาระหนี้ค่าจ้างงานเดินรถค้างจ่าย กว่า 20,000 ล้านบาท
5.ภาระผลขาดทุนจากการดำเนินการส่วนต่อขยายตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปี 2572 รวมอีกประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาท

และรวมถึง กทม.ยังจะได้รับการจัดสรรผลประโยชน์ไปใช้เพื่อการพัฒนาเมืองในส่วนอื่น ๆ จากบริษัทเอกชนยังต้องแบ่งส่วนแบ่งรายได้ค่าโดยสาร หลังปี 2572 ให้ กทม. อีกกว่า 200,000 ล้านบาท และถ้ามีส่วนแบ่งเพิ่มเติมในกรณีที่ผลประกอบการจริงดีกว่าคาดการณ์ อัตราการจัดสรรส่วนแบ่งก็จะเพิ่มมูลค่าตามไปด้วย

ประเด็นของรถไฟฟ้าสายสีเขียววันนี้ จึงขึ้นอยู่กับ นายชัชชาติ จะตัดสินใจประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น บนเงื่อนไขใด ระหว่างผลประโยชน์ของคนกรุงเทพฯจริง ๆ หรือ หลักคิดทางการเมือง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้น มาจากนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ เท่านั้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

"ก.แรงงาน" เตรียมเปิดขึ้นทะเบียน "แรงงานต่างด้าว" รอบใหม่
เจาะ "MOU44" พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา "เกาะกูด" เป็นของใคร
"สมชัย" เผยเคยทำงานร่วม "กิตติรัตน์" ยอมรับเป็นคนเก่ง แต่เพราะเคยตามใจฝ่ายการเมืองทำประเทศชาติเสียหาย
ระทึก "รถทัวร์กรุงเทพฯ-เชียงแสน" ชน "รถพ่วง" พลิกคว่ำตกข้างทาง ผู้โดยสารบาดเจ็บอื้อ
"ศิริกัญญา" ปูดข่าว รบ.วางแผนยึดการบินไทย ส่ง 2 ผู้บริหารฟื้นฟู
โมเดลใหม่...ประมงสมุทรสงครามเปิดตัวกิจกรรม “สิบหยิบหนึ่ง” ปราบปลาหมอคางดำ จับมือเกษตรกรร่วมแก้ปัญหาในบ่อเลี้ยงเกษตรกรและแหล่งน้ำธรรมชาติ
"กองปราบฯ" รับโอนคดี "ซินแสชื่อดัง" หลอกผู้เสียหายสูญเงิน 66 ล้าน
กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 6 (ตรัง) ศึกษาดูงานด้านการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาล
"นครราชสีมา" เสี่ยงภัยแล้ง 10 อำเภอ ชลประทานประกาศงดทำนาปรังทั้งจังหวัด
"อัจฉริยะ" แจงผลสอบ "อาหารเสริม Eighteen 18" พบมีเลข อย.ถูกต้อง

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น