ยังคงเป็นนักการเมืองสายค้านได้ทุกเรื่อง แต่หลายเรื่องนำเสนอโดยขาดข้อมูล ข้อเท็จจริง อย่างสิ้นเชิง สำหรับนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) และรองหัวหน้าพรรคฯ หลังล่าสุดใช้เวทีพรรคเพื่อไทย แถลงประเด็นซักฟอกรัฐบาล และอ้างไปถึงเรื่องการอนุมัติเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีชมพู ว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มเจ้าสัว พร้อมระบุด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ต้องโดนอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม เพื่อความถูกต้องของข้อมูล ข้อกล่าวหาของ นายยุทธพงศ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เกี่ยวกับโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีชมพู Top News ขอแจกแจงรายละเอียดสำคัญ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟฟ้าสีชมพู ดังนี้
เริ่มจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 ให้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินงานรถไฟฟ้าสายสีชมพูในรูปแบบ PPP Net Cost คือ ภาครัฐจะเป็นผู้ลงทุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน แ ละภาคเอกชนลงทุนค่างานโยธา ค่างานระบบรถไฟฟ้า ขบวนรถไฟฟ้า และค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการ รวมทั้งบริหารเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการ วงเงินลงทุน 53,490 ล้านบาท แบ่งเป็น รัฐฯ ลงทุนเฉพาะค่าจัดสรรกรรมสิทธิ์ที่ดิน 6,847 ล้านบาท เอกชนลงทุนในส่วนของงานโยธา 21,381 ล้านบาท และค่างานระบบรถไฟฟ้า 25,262 ล้านบาท
จากนั้นก็มีการเปิดประมูลเป็นการทั่วไป ตั้งแต่ วันที่ 6 ก.ค.-5 ส.ค. 2559 ปรากฎว่ามีเอกชนสนใจติดต่อขอซื้อเอกสาร ข้อเสนอการร่วมลงทุนฯ สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี จำนวนทั้งสิ้น 16 ราย
จากนั้นในวันที่ 7 พ.ย. 2559 รฟม. ได้กำหนดเปิดรับซองข้อเสนอ โดยมีเอกชนยื่นซองข้อเสนอการร่วมลงทุนฯ สายสีชมพูฯและสายสีเหลืองฯ จำนวน 2 ราย คือ 1.กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (BTS Group), บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และ 2. บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) BEM ซึ่งมีบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทแม่
โดยปรากฏว่าผู้ยื่นข้อเสนอทั้ง 2 กลุ่ม ผ่านการพิจารณาด้านคุณสมบัติและเทคนิค จากนั้นได้เปิดข้อเสนอซองที่ 2 ด้านการลงทุนและผลตอบแทน เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2559 ก่อนสรุปให้กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ เป็นผู้ผ่านการคัดเลือกด้วยคะแนนสูงสุด
ทั้งนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู เป็นระบบขนส่งมวลชนสายรองประเภทรถไฟฟ้ารางเดี่ยวแบบคร่อมราง (Straddle Monorail) สายแรกของประเทศไทย ก่อสร้างเป็นทางยกระดับตลอดเส้นทาง มีจุดเริ่มต้นโครงการที่ถนนรัตนาธิเบศร์บริเวณด้านหน้าศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรี ไปสิ้นสุดที่ทางแยกร่มเกล้าบริเวณซอยรามคำแหง 192 รวมระยะทางประมาณ 34.5 กิโลเมตร มีสถานีรับส่งผู้โดยสาร 30 สถานี ซึ่งแนวเส้นทางรถไฟฟ้าจะผ่านที่พักอาศัย สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล และศูนย์การค้าหลายแห่ง
และ กลุ่มบีเอสอาร์ ได้ขอรับเงินสนับสนุนโครงการจากภาครัฐฯ 22,500 ล้านบาท และกลุ่มบีเอสอาร์ลงทุนเอง 30,990 ล้านบาท โดยเป็นเงินกู้ระยะยาวจาก ธนาคารกรุงเทพ , ธนาคารกรุงไทย และ ธนาคารไทยพาณิชย์ 31,680 ล้านบาท และเป็นหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) 6,500 ล้านบาท