"เงินเฟ้อ เยอรมนี" พุ่งต่อเนื่อง จากราคาอาหารและพลังงานที่ยังคงสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนใกล้ระดับสูงสุดในรอบ 50 ปี
ข่าวที่น่าสนใจ
เดสตาติส สำนักงานสถิติของประเทศเยอรมนี รายงานอัตราเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคมที่ทะยานขึ้นอีกครั้ง เนื่องจาก ราคาอาหารและพลังงานยังคงพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้อัตราเงินเฟ้อประจำปีของเยอรมนีแตะระดับ 7.9 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่วิกฤตการณ์น้ำมันในปี 1973 โดยอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น เกิดจากความขัดแย้งในยูเครน และการคว่ำบาตรที่ไม่เคยมีมาก่อนกับรัสเซีย รวมถึงปัญหาการหยุดชะงักในห่วงโซ่อุปทานที่เกิดจากการระบาดของโควิด-19
ในรายงานยังระบุด้วยว่า หากเทียบปีต่อปี
- ราคาพลังงานเพิ่มขึ้น 38.3 เปอร์เซ็นต์ในเดือนพฤษภาคม
- ส่วนราคาอาหารเพิ่มขึ้น 11.1 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้ ทางหนังสือพิมพ์แฮนเดลส์แบล็ต (Handelsblatt) ของเยอรมนี ก็มีรายงานโดยอ้างบทวิเคราะห์ล่าสุดของอลิอันซ์ เทรด (Allianz Trade) บริษัทประกันภัยระหว่างประเทศว่า ราคาอาหารจะเพิ่มขึ้นอีก 10 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ เนื่องจาก ต้นทุนการผลิตอาหารที่สูงขึ้นในทุก ๆ ด้าน ทำให้เหล่าผู้บริโภคต้องแบกรับกับการขึ้นราคา ซึ่งจะส่งผลให้ดัชนีราคาผู้บริโภคสูงขึ้นตามไปด้วย
นอกจากนี้ในรายงานของอลิอันซ์ เทรดยังกล่าวว่า สิ่งที่เลวร้ายที่สุดยังคงรออยู่ข้างหน้า เนื่องจาก ราคาอาหารปลีกปัจจุบันยังไม่ได้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา พร้อมกันนี้ สมาคมเกษตรกรเยอรมันยังคาดการณ์ว่า สถานการณ์ตึงเครียดในตลาดสินค้าเกษตรอาจคงอยู่ต่อไปในปีหน้า และคาดว่าราคาผลิตภัณฑ์นมขายปลีกจะเพิ่มขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์ ในเวลาอันใกล้นี้เช่นกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง