จากกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกฯและรมว.พาณิชย์กับพวก สมัยรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ กรณีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ไม่ควบคุมดูแลหรือสั่งการให้มีการตรวจสอบ กรณีองค์การคลังสินค้าคัดเลือกบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ให้เป็นผู้ส่งมอบข้าวให้กับองค์การสำรองอาหาร หรือ “BULOG” ประเทศอินโดนีเซีย จำนวน 300,000 ตัน ในราคาตันละ 559 เหรียญสหรัฐ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากไม่มีการประกาศเชิญชวนผู้ประกอบการค้าข้าวให้เสนอขายข้าวขาว 15 % เป็นการทั่วไปเพื่อให้สังคมรับทราบ ซึ่งถือเป็นการไม่ชอบด้วยระเบียบองค์การคลังสินค้า (อคส.) ว่าด้วยการจัดซื้อสินค้าเพื่อการค้าปกติ พ.ศ. 2541 ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีมติชี้มูลความผิดนายกิตติรัตน์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192
ล่าสุดนายกิตติรัตน์ให้สัมภาษณ์กับทาง “ท็อปนิวส์” ว่า เบื้องต้นยังไม่ได้รับหนังสือจากทางป.ป.ช.แต่อย่างใด ส่วนตัวไม่มีอะไรจะพูดเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะเขาจะชี้ให้เราผิดอยู่แล้ว เท่าที่ทราบตามกระบวนการในชั้นอัยการสูงสุดเราไม่สามารถไปชี้แจงอะไรได้ ถ้าเขาไม่ถาม แต่ที่ผ่านมาได้ชี้แจงข้อมูลข้อเท็จจริงของเรื่องนี้ไปหมดแล้ว จากนี้ก็ต้องรอดูว่าเรื่องจะไปถึงชั้นศาลฎีกาหรือไม่ ถ้าถึงชั้นนั้นศาลฎีกาก็คงเรียกไปให้ข้อมูลใหม่ทั้งผู้กล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหา
เมื่อถามว่ากรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดออกมาแบบนี้ ถือว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ นายกิตติรัตน์กล่าวว่า ไม่รู้สิเรื่องนี้ตอบไม่ได้ แต่ส่วนตัวคิดว่าการทำหน้าที่ตอนนั้นไม่ได้ผิดกฎหมายและมีหลักฐานการดำเนินการทุกอย่าง ในเมื่อไม่ผิดแต่เขาจะให้ผิดก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ไม่แน่ใจว่าคณะกรรมการป.ป.ช.เอาข้อมูลจากไหนมาพิจารณาตัดสินใจ แต่ประเด็นเรื่องนี้อยากฝากข้อคิดว่า การปฏิบัติขององค์การคลังสินค้าทุกเรื่อง ตนในฐานะรัฐมนตรีจะสามารถรู้ทุกเรื่องที่องค์การคลังสินค้าทำหรือไม่
รายงานข่าวแจ้งว่าหลังคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดนายกิตติรัตน์ จากนี้่จะมีการส่งสำนวนการไต่สวนไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อย่างไรก็ตามหากอัยการสูงสุดเห็นว่า สำนวนการไต่สวนของป.ป.ช.ยังไม่สมบูรณ์พอที่จะฟ้องคดี มาตรา 77 กำหนดขั้นตอนต่อไปว่า ให้อัยการสูงสุดและคณะกรรมการป.ป.ช. ตั้งคณะกรรมการร่วมฝ่ายละเท่ากันไม่เกินฝ่ายละ 5 คน ขึ้นมาดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานให้ครบถ้วน หากคณะกรรมการร่วมไม่อาจหาข้อยุติได้ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินคดีต่อไป โดยจะยื่นฟ้องคดีเองก็ได้ และห้ามไม่ให้พนักงานอัยการรับแก้ต่างให้จำเลย
ต่อมานายกิตติรัตน์ ได้โพสต์เฟซบุ๊คชี้แจงกรณีถูกป.ป.ช.ชี้มูลความผิดอาญามาตรา 157 ว่า
1.ผมยังมิได้รับแจ้งถึงมติของ ปปช.ที่ปรากฎเป็นข่าวดังกล่าว ไม่ว่าทางวาจา หรือเป็นเอกสารแต่อย่างใด
2. ผมมั่นใจในความบริสุทธิ์ของผมว่ามิได้กระทำผิดตามที่มีข้อกล่าวหาที่ระบุไว้ในชั้นไต่สวน
3. ในขั้นตอนไต่สวน ผมได้ชี้แจ้งเป็นเอกสาร และตอบข้อซักถามต่อ คณะอนุกรรมการไต่สวน หลายครั้งในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าสามารถยืนยันว่าผมได้ปฎิบัติ และ/หรือ ไม่ได้ปฏิบัติในกรณีที่เกี่ยวข้องกับกรณีที่กล่าวนี้ อย่างเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว
4. ผมเคยทักท้วงต่อ ปปช. ว่า ประธานอนุกรรมการไต่สวน ซึ่งเป็นกรรมการ ปปช.ท่านหนึ่ง ไม่สมควรทำหน้าที่ในอนุกรรมการไต่สวนฯ เนื่องจากเป็นบุคคลที่มีสาเหตุโกรธเคืองกับผม จนอาจทำให้ผมไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่คณะกรรมการ ปปช.ปฏิเสธคำขอของผม ราวกับพอใจที่จะให้ผมเผขิญความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับความเป็นธรรมในการไต่สวน และนำเสนอผลการไต่สวนต่อคณะกรรมการ
5. ผมจะหารือกับนักกฏหมาย และทนายความของผมว่าผมสามารถชี้แจงความจริง และความแคลงใจในกรณีกล่าวหาฯ ต่อผมนี้ แก่สาธารณะได้เพียงใด รอฟังนะครับ
/////////////////