หลังจากที่มีเครือข่ายประชาชน ออกมาเคลื่อนไหวชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกมติ ครม.ที่เห็นชอบในหลักการต่อร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการดำเนินงานขององค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ที่ไม่แสวงหาผลกำไร หรือ พ.ร.บ.ควบคุมNGO และยุติการเสนอกฎหมายควบคุมเสรีภาพการรวมกลุ่มของประชาชน
กฎหมายฉบับดังกล่าว นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า กรณีดังกล่าวมีวิธีการส่งเสริม NGO หลายอย่าง แต่ขณะเดียวกันก็มีวิธีควบคุม โดยเฉพาะกรณีที่องค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ ที่รับเงินอุดหนุนจากต่างประเทศ จากเดิมไม่ต้องมารายงาน แต่ร่างดังกล่าวให้รายงานด้วย ส่งผลให้กลุ่มผู้ชุมนุมไม่พอใจ ยืนยันว่าหากเป็นกิจการภายในประเทศไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยว แต่หากมีการสนับสนุนจากต่างประเทศในร่างดังกล่าว กำหนดให้ต้องรายงานด้วย ดังนั้นย้ำว่าสามารถรับเงินสนับสนุนได้ แต่ต้องมีการชี้แจง
ทั้งนี้มีข้อมูลที่น่าสนใจจาก นายฉันทัช พานิชชานนท์ นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์ ที่ได้ให้สัมภาษณ์และเผยแพร่ผ่านเพจเฟสบุ๊ก The Structure ในหัวข้อ มันถือเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพรึเปล่า? โดยยายฉันทัช ระบุตอนหนึ่งว่า ทั่วโลกก็มีกฎหมายควบคุมNGO โดยเฉพาะประเทศตะวันตก และประเทศเสรีประชาธิปไตย เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย หรือสหภาพยุโรป หลายประเทศก็มีกฎหมายนี้ ซึ่งสหรัฐอเมริกา มีกฎหมายชื่อว่า FARA หรือ Foreign Agents Registration Act เป็นกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง เพราะมีเอาไว้ควบคุมการเข้ามาแทรกแซงหรือครอบงำ หรือมีอิทธิพลของต่างชาติในการเมืองสหรัฐอเมริกา
นายฉันทัช ระบุอีกว่า พ.ร.บ.ควบคุม NGO ฉบับนี้ สรุปได้สั้นๆว่า เขามีความต้องการให้NGOโปร่งใส ตรวจสอบได้ เปิดเผยว่าเอาเงินมาจากไหน และเอาเงินที่ได้มาทำตามวัตถุประสงค์ที่เขาประกาศไว้หรือไม่ ถือเป็นการแยกNGOที่ดีออกจากNGOที่มีผลประโยชน์ทางการเมืองแอบแฝง เพราะมี NGOที่ทำตัวเหมือนล็อบบี้ยิสต์ รับเงินมาจากแห่งทุนต่างประเทศ ที่เรารู้กันว่าชอบเข้ามาแทรกแซงการเมือง เช่น องค์กรที่ชื่อว่า NED ของสหรัฐอเมริกา หรือ องค์กรที่ชื่อว่า Open Society Foundation ของจอร์จ โซรอส ซึ่งมีประวัติแทรกแซงการเมืองในหลายประเทศ เป็นภัยต่อความมั่นคง ดังนั้นต้องย้อนถามว่า NGOกลัวอะไรกับการถูกตรวจสอบ