3 มิถุนายน 2565 จากกรณี เหตุรถกระบะชนเสาไฟฟ้า บริเวณตรงข้ามศาลอาญารัชดาฝั่งขาเข้า แขวงจอมพล เขตจตุจักร ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 5 ศพ บาดเจ็บอีก 2 คน ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลใกล้เคียง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่เกิดเหตุอย่างเร่งด่วนทันทีที่ได้รับทราบข่าวและเสร็จสิ้นภารกิจปลูกต้นไม้ ที่ป้อมมหากาฬ เขตพระนคร และสัมภาษณ์แสดงความเสียใจกับครอบครัว ผู้เสียชีวิตสำหรับอุบัติเหตุในครั้งนี้ ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด จากการตรวจสอบเบื้องต้น เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลว่า รถคันที่เกิดอุบัติเหตุขับมาด้วยความเร็วโดยมีเข็มไมล์ค้างอยู่ที่ 120 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง ประกอบกับบริเวณดังกล่าวเป็นช่วงขึ้นอุโมงค์เข้าทางโค้ง ซึ่งก่อนเกิดเหตุมีฝนตกลงมาทำให้ผิวการจราจรลื่น เมื่อรถขับขับมาด้วยความเร็วจึงทำให้เกิดอุบัติเหตุโดยไม่มีคู่กรณี จากนี้ต้องไปดูข้อกฎหมายเกี่ยวกับผู้โดยสารที่นั่งกระบะหลัง ซึ่งจะทำให้เกิดความเสี่ยงอันตรายต่อชีวิตสูงหากเกิดอุบัติเหตุ เช่นเดียวกับกรณีที่เกิดขึ้น และจากการสิบถามตำรวจ บอกว่า การนั่งกระบะหลังถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย หากรถกระบะไม่มีหลังคา
"ผู้ว่า กทม." ลงพื้นที่ด่วนตรงข้ามศาลอาญารัชดาหลังเกิดเหตุรถชนดับ 5 ศพเมื่อช่วงเช้าของวันนี้ ขอความร่วมมือประชาชนชะลอความเร็วในโค้งอันตราย เร่งรวบรวมจุดเสี่ยงทั่วกทม. โดยใช้ระบบทราฟฟี่ฟองดูว์
ข่าวที่น่าสนใจ
ทั้งนี้มองว่าอุบัติเหตุครั้งนี้และหลายครั้งที่ผ่านมา เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ลักษณะทางกายภาพของถนน พื้นผิวการจราจร รวมทั้งผู้ขับขี่ใช้ความเร็ว ส่วนที่มองว่าเป็นโค้งอาถรรพ์หรือไม่ นายชัชชาติ ระบุว่า ถือเป็นความเชื่อและเป็นมุมมองที่ดีของประชาชน เพราะจะทำให้เกิดการตระหนักลดการใช้ความเร็วลง ซึ่งทั้งหมดต้องมาร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะในจุดเกิดเหตุฝั่งตรงข้ามศาลอาญาถนนรัชดามักมีอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ดังนั้น กรุงเทพมหานคร อาจจะมีการประกาศให้เป็นเขตจำกัดความเร็วไม่เกิน 120 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง หรืออาจจำกัดลงให้น้อยกว่าเดิม เช่น ไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งต้องนำไปพิจารณาอย่างละเอียดอีกครั้ง พร้อมจะหยิบยกจุดเกิดเหตุบนถนนในจุดอื่นๆทั่วกรุงเทพ มาพิจารณาวางแนวทางแก้ไข ลดปัญหาที่ไม่เพียงอุบัติเหตุแต่รวมถึงน้ำท่วมและความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินของประชาชน ให้สามารถแสดงข้อมูลเป็นลักษณะแผนที่ได้เหมือนระบบทราฟฟี่ฟองดูว์ จึงจะเห็นว่าจุดไหนเกิดเหตุซ้ำซาก
นอกจากนี้นายชัชชาติ ระบุว่า ถึงแม้การเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนจะได้รับการแก้ไขเรื่องลักษณะทางกายภาพ แต่ก็ต้องขอความร่วมมือประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน ให้ระมัดระวังเรื่องของความเร็วตามกฎหมายกำหนด หรือชะลอความเร็วลงหากพบว่าบนถนนมีความเสี่ยงจะเกิดอันตราย และหลังจากนี้ในแผนระยะสั้นจะมีการหารือกับพื้นที่เพื่อทำจุดชะลอหรือวางป้ายเตือน ส่วนจุดเสี่ยงที่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยมีข้อมูลอยู่แล้วรู้ว่าจุดใหนที่ต้องเร่งเข้าไปตรวจสอบว่าจุดไหนต้องเพิ่มหรือขาดอะไรเช่นป้ายชะลอความเร็ว สีเส้นจราจร พื้นผิวถนน เนินสะดุด ต้องเข้าไปซ่อมจัดการแก้ไข ซึ่งต้องเกิดจากหลายฝ่ายทั้งเจ้าหน้าที่ทั้งรัฐและประชาชน เพื่อช่วยกันลดอุบัติเหตุ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง