"ปลูกถ่ายหู" จากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ นับเป็นความก้าวหน้าเป็นครั้งแรกของวงการวิศวกรรมและการแพทย์ ในการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อ จากเซลล์ที่ยังมีชีวิตได้สำเร็จ
ข่าวที่น่าสนใจ
เมื่อวันที่ 3 มิถุนายนที่ผ่านมา สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ครั้งแรกของโลก กับความก้าวหน้าครั้งสำคัญของวงการวิศวกรรมเนื้อเยื่อ (tissue engineering) หลังทีมแพทย์สหรัฐฯ สามารถ “ปลูกถ่ายหู” จากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ให้กับหญิงสาวสำเร็จ โดยเนื้อเยื่อดังกล่าวทำมาจากเซลล์ที่ยังมีชีวิตของผู้ป่วยเอง
บริษัท 3DBio Therapeutics ผู้ผลิตใบหู 3 มิติที่ใช้ในการผ่าตัดครั้งนี้ ได้แถลงข่าวเมื่อวันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยระบุว่า ผู้ป่วยรายนี้มีอายุ 20 ปี มาจากเม็กซิโก มีภาวะไมโครเทีย (microtia) หรือที่เรียกว่าภาวะใบหูเล็กไม่สมบูรณ์แต่กำเนิด จึงมาเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายโดยสร้างขึ้นจากเซลล์ของเธอเอง เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกกล่าวว่านี่เป็นครั้งแรกที่มีการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อจากพิมพ์ 3 มิติเข้าไปในร่างกายมนุษย์ ด้านดร.แอนโธนี อตาลา ผู้อำนวยการสถาบัน Wake Forest for Regenerative Medicine กล่าวว่า “การผ่าตัดในครั้งนี้นับเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ เครื่องพิมพ์ 3 มิติสามารถช่วยในกระบวนต่าง ๆ ได้โดยอัตโนมัติ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับงานภาคสนาม ซึ่งอาจเป็นการปูทางสำหรับการบำบัดแบบใหม่ในด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู”
การผ่าตัดในครั้งนี้ พิมพ์ 3 มิติขึ้นได้สร้างหูใหม่มาจากเซลล์ของผู้ป่วยเอง โดยเลียนแบบรูปทรงให้เหมือนกับหูซ้ายของเธอที่กลับด้าน และเมื่อผ่าตัดปลูกถ่ายแล้ว ก็ยังสร้างเนื้อเยื่อกระดูกอ่อนต่อไปได้ด้วย ซึ่งจะช่วยให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติเหมือนใบหูจริง ซึ่งมีวิธีการทำอย่างคร่าว ๆ ก็คือ ทีมวิจัยจะเริ่มจากการสร้างโมเดลคอมพิวเตอร์ 3 มิติขึ้นมาโดยสแกนจากหูซ้าย ก่อนจะเพาะเซลล์ที่ยังมีชีวิต และนำไปผสมกับหมึกพิมพ์ bioink ที่ทำจากคอลลาเจน เพื่อนำมาพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติให้ออกมาเป็นใบหู
ส่วนฝีมือการปลูกถ่าย เป็นของ นพ.อาร์ตูโร โบนีญา (Dr. Arturo Bonilla) ศัลยแพทย์ตกแต่งใบหูเด็กจากเมืองซาน อันโตนิโอ รัฐเท็กซัส และหัวหน้าทีมวิจัย ซึ่งเขาได้กล่าวหลังการผ่าตัดสำเร็จว่า “การพิมพ์ 3 มิติจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ในการดูแลผู้ป่วยไมโครเทีย (microtia) ต่อไป”
การผ่าตัดปลูกถ่ายครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการทดลองทางการแพทย์ในมนุษย์ (clinical trial) ที่วิจัยกับผู้ป่วยจำนวน 11 คน และถือเป็นครั้งแรกที่มีการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติให้กับร่างกายมนุษย์ได้สำเร็จ ความสำเร็จครั้งนี้ สามารถนำไปต่อยอดได้อีกมากมาย เริ่มจากการช่วยเหลือเด็ก ๆ ที่ต้องเกิดมาพร้อมกับภาวะไมโครเทีย ซึ่งมักจะได้รับผลกระทบทางจิตใจและสังคมจากการเติบโตขึ้นโดยไม่มีหูชั้นนอก ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ด้วยการผ่าตัดแบบเดียวกัน
นอกจากนี้ ยังอาจจะเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาการพิมพ์เนื้อเยื่อ 3 มิติ เพื่อการรักษาแบบใหม่ ๆ ในวงการเวชศาสตร์การฟื้นฟูสภาวะเสื่อม (regenerative medicine) ที่อาจไม่ค่อยได้เห็นกันมากยิ่งขึ้น
ข้อมูลและรูปภาพ : nbcnews
ข่าวที่เกี่ยวข้อง