วันที่2 ก.ค. 2564 นายวรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนพัฒนา คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ นิด้า โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เกี่ยวกับเรื่องผลการวิจัยทดลองอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นเมื่อฉีดวัคซีนซิโนแวค ให้กับเด็ก ที่ประเทศจีน ไว้อย่างน่าสนใจ โดยข้อความระบุว่า
Sinovac อีกหนึ่งทางเลือกของการป้องกันโควิดสำหรับเด็ก
ผลการวิจัยที่ประเทศจีน ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ชั้นนำ Lancet เผยผลการทดลองฉีดวัคซีน Sinovac ให้กับเด็กอายุ 3-17 ปี โดยผลการศึกษาจาก 2 เฟส (เฟสที่หนึ่ง 72 คน เฟสที่สอง 480 คน) พบว่า
- Sinovac มีความปลอดภัยต่อเด็กทุกคนที่ได้รับวัคซีน ส่วนใหญ่มีเพียงอาการเจ็บที่จุดฉีด ไม่มีใครมีผลข้างเคียงอาการรุนแรง
- เด็กเกือบทุกคนที่ได้รับวัคซีน Sinovac เกิดภูมิต้านทานขึ้น โดยมีการแบ่งทดลองเป็นขนาดตัววัคซีนโดสละ 1.5 ไมโครกรัม และโดสละ 3 ไมโครกรัม (อีกกลุ่มคือไม่ได้ตัววัคซีน) ซึ่งในเฟสแรก ทุกคน (53 คน) ที่ได้วัคซีนมีภูมิขึ้น ส่วนเฟสที่สอง กลุ่มที่ได้ 1.5 มีภูมิขึ้น 180 จาก 186 คน และกลุ่มที่ได้ 3.0 มีภูมิขึ้นทั้ง 180 คน หรือรวม 360 จาก 366 = 98% โดยกลุ่มที่ได้ 3.0 จะเกิดภูมิคุ้มกันมากกว่ากลุ่มที่ได้ 1.5
ส่วนประสิทธิภาพของการป้องกันโรค เป็นการทดลองในระยะต่อไป แต่อย่างน้อยก็น่าจะเป็นงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นได้ว่า Sinovac น่าจะปลอดภัยสำหรับฉีดให้เด็กได้ตั้งแต่อายุ 3 ขวบ และมีประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันโควิดได้เมื่อฉีดครบ 2 เข็ม (โดยเฉพาะโดส 3.0 ไมโครกรัม) ซึ่ง Sinovac ที่ไทยสั่งมา ก็อาจจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถนำมาฉีดให้กับเด็กได้เช่นกันเมื่อได้รับการอนุมัติ