ผู้ถือหุ้นร้องก.ล.ต.”อีสท์วอเตอร์” จัดจ้างสร้างสระสำรองน้ำไม่โปร่งใส

ผู้ถือหุ้นร้องก.ล.ต."อีสท์วอเตอร์" จัดจ้างสร้างสระสำรองน้ำไม่โปร่งใส

กลายเป็นปัญหาแทรกซ้อนเพิ่มเติมขึ้นมา ขณะที่บริษัทอีสวอเตอร์ฯ กำลังเจอคู่แข่งสำคัญ อย่าง บริษัทวงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด แย่งชิงโครงการบริหารจัดการ ระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ในพื้นที่ ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี , ระยอง มูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท ถึงขั้นมีความพยายามกดดันให้มีการเซ็นสัญญาในวันที่ 17 มิ.ย. 2565 นี้ ตามที่คณะกรรมการที่ราชพัสดุ มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการ แม้ว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง จะสั่งการขยายเวลาอีก 30 วัน ให้ตรวจสอบเพิ่มเติมในสิ้นทุกข้อสงสัยต่าง ๆ

โดยเฉพาะกรณีที่ตัวแทนผู้ถือหุ้นได้ยื่นเอกสาร คำร้องต่อเลขาธิการ ก.ล.ต. ให้ตรวจสอบเรื่อง กระบวนการพิจารณาแต่งตั้งซีอีโอ บริษัทอีสวอเตอร์ เนื่องจากพบหลายประเด็นสงสัย ในการวัดผลคุณสมบัติผู้สมัคร ซึ่งมีข้อมูลประกอบว่า การตัดสินใจของคณะกรรมการบริษัท อีสวอเตอร์ ไม่ได้เป็นไปตามหลักการที่ถูกต้อง และความเห็นของคณะกรรการสรรหาฯ ที่ให้ความสำคัญ หลักเกณฑ์การสรรหา ทั้ง 4 ด้าน คือ ความถนัดด้านภาษาอังกฤษ , ทัศนคติการทำงาน , ความพร้อมต่อการทำงานในตำแหน่ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และ บุคลิกภาพ เนื่องจากผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ เป็นตำแหน่งสำคัญ ที่จะต้องมีความสามารถทั้งด้านบริหารธุรกิจ บริหารบุคคล บุคลิกภาพ รวมทั้งการสื่อสารในระดับสากล เพราะปัจจุบันบริษัทมีนักลงทุน และผู้ถือหุ้นเป็นชาวต่างชาติ

ขณะที่ บริษัทอีสวอเตอร์ เอง ได้ส่งเอกสารยืนยัน กับ Top News ว่า กระบวนการสรรหาฯซีอีโอ รอบที่ผ่านมา เป็นไปอย่างถูกต้อง โดยมี คณะกรรมการจำนวน 12 คน ร่วมกันพิจารณา และการพิจารณาคัดเลือก ไม่เกี่ยวข้องความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคณะกรรมการ บมจ.ยูนิเวอร์แซล ยูทีลิตี้ส์ (UU) และ บมจ.อีสท์ วอเตอร์ แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด มีรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ (8 มิ.ย.65 ) ตัวแทนกลุ่มผู้ถือหุ้นของบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ “อีสท์ วอเตอร์” ได้เข้ายื่นคำร้องเพิ่มเติมกับเลขาธิการฯ ก.ล.ต. เพื่อขอให้มีการตรวจสอบการดำเนินการและบริหารงานบุคคลที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย

1. นางอัศวินี ไตลังคะ ประธานคณะกรรมการบริษัท
2. พลเรือเอก สุชีพ หวังไมตรี ประธานคณะกรรมการการลงทุน ของบริษัทฯ
3. นายเชิดชาย ปิติวัชรากุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และกรรมการการลงทุน ของบริษัทฯ
4. คณะกรรมการบริษัท ของบริษัทฯ

โดยเอกสารที่ยื่นต่อ ก.ล.ต. มีรายละเอียดเกี่ยวกับขั้นตอนจัดซื้อจัดจ้างโครงการพัฒนา “สระสำรองน้ำสระสำนักบก” ต.สำนักบก อ.เมือง จ.ชลบุรี เนื่องจากเข้าข่ายฝ่าฝืน หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทฯ เรื่องความรับผิดชอบต่อคู่ค้า รวมถึงมีกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและเงื่อนไขสัญญา หรือข้อตกลงที่ไม่เป็นธรรม ขาดธรรมาภิบาล และไม่มีวิธีปฏิบัติเพื่อผลประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้นโดยรวมเป็นสำคัญ

อีกทั้งยังไม่เข้าใจบทบาทและไม่ตระหนักถึงความรับผิดชอบ ในฐานะผู้นำที่ต้องกำกับดูแลให้บริษัทมีการบริหารจัดการที่ดี ประกอบธุรกิจอย่างมีจริยธรรม เคารพสิทธิและมีความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสีย

รวมถึงคณะกรรมการของบริษัทฯ ไม่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลให้กรรมการทุกคนและผู้บริหารปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบระมัดระวัง (duty of care) และซื่อสัตย์สุจริตต่อองค์กร (duty of loyalty) และดูแลให้การดำเนินงานเป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ

 

ทั้งนี้ตัวแทนผู้ถือหุ้น บริษัทอีสท์ วอเตอร์ ยังระบุด้วยว่า การกระทำของผู้ถูกร้อง อันได้แก่ ประธานคณะกรรมการบริษัท , ประธานคณะกรรมการการลงทุน , กรรมการผู้อำนวยการใหญ่และกรรมการการลงทุน และคณะกรรมการบริษัท อาจเข้าข่ายการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายมาตรา 89/7 มาตรา 89/8 มาตรา 89/10 และมาตรา 89/11 ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และมาตรา 85 มาตรา 88 ของพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 ซึ่งจะมีความรับผิดรับโทษ ดังต่อไปนี้

– ส่งคืนประโยชน์ทั้งหมดที่บุคคลได้ไปโดยมิชอบให้แก่บริษัท ตามมาตรา 89/18 ของพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
– ระวางโทษปรับไม่เกินจำนวนค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหรือประโยชน์ที่ได้รับ แต่ทั้งนี้ ค่าปรับดังกล่าวต้องไม่ต่ำกว่าห้าแสนบาท และหากได้กระทำไปโดยทุจริตต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหรือประโยชน์ที่ได้รับ แต่ทั้งนี้ ค่าปรับดังกล่าวต้องไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 281/2 ของพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
– มาตรการลงโทษทางแพ่ง ตามมาตรา 317/1 ของพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
– ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับบริษัทฯ ตามมาตรา 85 ของพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535
– ระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท ตามมาตรา 203 ของพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535

 

 

โดยผู้ถือหุ้นได้นำจัดส่งข้อมูลและเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องร้องเรียนต่อ ก.ล.ต. จำนวน 8 รายการ รวมทั้งสิ้น 108 หน้า เพื่อให้มีการพิจารณาในประเด็นขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างมีพิรุธ ไม่โปร่งใส พร้อมระบุรายละเอียดเป็นไทม์ไลน์ประกอบดังนี้

1. ช่วงเดือนสิงหาคม 2562 สระสำรองน้ำสระสำนักบก ต.สำนักบก อ.เมือง จ.ชลบุรี ของ “อีสท์ วอเตอร์” เกิดความชำรุดเสียหาย และต่อมาอีก 22 เดือน จึงได้มีการประกาศประชาสัมพันธ์เพื่อคัดเลือกราคาเมื่อ 30 มิถุนายน 2564

2. ช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 “อีสท์ วอเตอร์” ขออนุมัติเห็นชอบรายชื่อผู้มีสิทธิเสนอราคา จำนวน 5 ราย แต่ในเดือนสิงหาคม 2564 มีผู้ยื่นซองเสนอราคาเพียง 2 ราย ไม่ครบตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง จึงขออนุมัติคัดเลือกราคาจัดหาผู้รับจ้าง (เพิ่มเติม)

3. ช่วงเดือนสิงหาคม 2564 “อีสท์ วอเตอร์” ไม่เชิญผู้รับจ้าง (บริษัท โกบอล โปรสเปคเตอร์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด) ซึ่งเป็นผู้รับจ้างออกแบบเข้าร่วมการคัดเลือกเป็นผู้รับจ้างในโครงการสระสำนักบก โดยแผนกจัดซื้อของ “อีสท์ วอเตอร์” ให้เหตุผลว่าขัดกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และ “อีสท์ วอเตอร์” ยังได้ปฏิเสธการขายแบบ ไม่ยอมให้ผู้รับจ้าง เข้าร่วมการคัดเลือกราคา โดยอ้างเหตุผลว่าจะขัดต่อหลักความเป็นธรรมและการแข่งขันที่เท่าเทียม

4. ช่วงปลายเดือนสิงหาคม – ปลายเดือนตุลาคม 2564 “อีสท์ วอเตอร์” ไม่สามารถจัดหาผู้รับจ้างตามกระบวนการได้

5. ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2564 “อีสท์ วอเตอร์” กลับมาอนุมัติจัดจ้างผู้รับจ้างที่เป็นผู้ออกแบบงานดังกล่าวโดยวิธีเฉพาะเจาะจง กลับคำกลืนน้ำลายตนเองเพื่อจ้างผู้รับจ้างที่บริษัทฯ เคยแสดงความเห็นว่าเป็นผู้รับจ้างที่ขาดคุณสมบัติเพราะละเมิดหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีและขัดกับความเป็นธรรมและการแข่งขันที่เท่าเทียม

6. ช่วงปลายเดือนมีนาคม 2565 “อีสท์ วอเตอร์” ตรวจพบว่าผู้รับจ้างจัดส่งเอกสารหนังสือค้ำประกันของธนาคารเป็นของปลอม จึงแสดงว่าผู้รับจ้างขาดความน่าเชื่อถือทางการเงินที่ไม่สามารถจัดหาเอกสารค้ำประกันของธนาคารได้ตามหลักเกณฑ์ของบริษัทฯ และขาดความน่าเชื่อถือเรื่องความสุจริต (Good faith) ในการทำธุรกิจ

7. ช่วงเดือนพฤษภาคม 2565 “อีสท์ วอเตอร์” อะลุ่มอล่วยดึงดันจ้างผู้รับจ้างต่อไป และปรับปรุงผ่อนผันเงื่อนไขสัญญาจ้างให้เข้ากับลักษณะเงื่อนไขของผู้รับจ้าง โดยปกติต้องส่งมอบหนังสือค้ำประกันจากธนาคาร 2 ฉบับ คือ 1. ค้ำประกันสัญญาร้อยละ 5 และ 2. ค้ำประกันการเบิกเงินล่วงหน้าร้อยละ 10 ซึ่ง แต่ “อีสท์วอเตอร์” อนุโลมให้ผู้รับจ้างวางแคชเชียร์เช็คเพื่อค้ำประกันสัญญาร้อยละ 5 โดยไม่ต้องวางแคชเชียร์เช็คเพื่อค้ำประกันการเบิกเงินล่วงหน้าร้อยละ 10

ผู้ถือหุ้นจึงต้องการให้มีการตรวจสอบการดำเนินการดังกล่าว เพราะมีแนวโน้มว่า “อีสท์ วอเตอร์” ดำเนินการโดยไม่โปร่งใส มีขั้นตอนที่ละเว้นการดำเนินการตามกฎหมาย ไม่รักษาผลประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้นของบริษัท มีการตกลงจ้างผู้รับจ้างที่ขาดความน่าเชื่อถือทางการเงิน โดยเฉพาะอาจมีการทิ้งงานในอนาคตหรือดำเนินการล่าช้าได้ เมื่อประสบปัญหาทางการเงิน และการดำเนินการตรวจสอบหนังสือค้ำประกันดังกล่าวก็ล่าช้า

รวมถึงการประชุมตัดสินหาแนวทางก็ล่าช้าเสมือนจงใจประวิงเวลาให้ขยายออกไป เพื่อใช้เป็นเงื่อนเวลาเป็นข้ออ้าง และข้อจำกัด ประกอบการตัดสินใจว่า จำเป็นจะต้องจ้างผู้รับจ้างรายนี้เพื่อไม่ให้งานปรับปรุงต้องล่าช้า ซึ่งพฤติการณ์ที่มีพิรุธนี้ทำให้เกิดความเคลือบแคลงว่าได้ดำเนินการเพื่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้นหรือไม่ คณะกรรมการและผู้บริหารปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบระมัดระวัง (duty of care) และซื่อสัตย์สุจริตต่อองค์กร (duty of loyalty) หรือไม่ อย่างไร

พร้อมกันนี้ยังได้ยื่นเอกสารเพิ่มเติมครั้งที่ 2 ประกอบการตรวจสอบการดำเนินการของประธานคณะกรรมการบริษัทและกระบวนการสรรหา “กรรมการผู้อำนวยการใหญ่” ของบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) รวม 15 รายการ จำนวนรวม 236 หน้า เพื่อการติดตามความคืบหน้าในการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนดังกล่าวอีกด้วย

 

 

 

ข่าวที่น่าสนใจ

ทั้งนี้เมื่อ Top News ตรวจสอบเพิ่มเติม พบว่า โครงการปรับปรุงสระสำรองน้ำดิบสำนักบก ต.สำนักบก อ.เมือง จ.ชลบุรี เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำของ บริษัทอีสวอเตอร์ มูลค่า 75,000,000 บาท (เจ็ดสิบห้าล้านบาทถ้วน) ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อให้สามารถกักเก็บน้ำได้ที่ความจุ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร

โดยกระบวนการพิจารณา คัดเลือกผู้รับผิดชอบ ประกอบด้วย
– คณะกรรมการบริษัท
– กรรมการผู้อำนวยการใหญ่
– รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายปฎิบัติการ
– สำนักตรวจสอบ
– แผนกโครงข่ายท่อและโยธา

ส่วนประเด็นปัญหา ที่นำมาสู่ข้อร้องเรียนของตัวแทนผูถือหุ้น ก็คือ แผนการดำเนินการ โครงการปรับปรุงสระสำรองน้ำดิบสำนักบก หลังจากได้ผู้รับจ้างแล้ว ทางโครงการจะดำเนินการก่อสร้าง ในกรอบระยะเวลา 7 เดือน คือ

1. นำเสนอ BOD (Board of Director) ขออนุมัติโครงการและงบประมาณ ในเดือนพ.ค.- มิ.ย.64
2. จัดหาผู้รับจ้างก่อสร้างโครงการ ในเดือนก.ค.64
3. นำเสนอ BOD อนุมัติจัดจ้างผู้รับจ้างโครงการปรับปรุงสระสำนักบก ในเดือนก.ค.-ส.ค.64
4. ทำสัญญาผู้รับจ้าง ในเดือนส.ค.64
5. ทำการก่อสร้างโครงการ 7 เดือน ตั้งแต่เดือนก.ย.64- มี.ค.65

อย่างไรก็ตาม ปรากฎข้อเท็จจริงว่า การบริหารจัดการโครงการดังกล่าวมีความล่าช้าเกินกำหนด จากปัญหาที่เกิดจากตัวผู้รับจ้างโครงการ ทำให้จากกำหนดเวลาที่คาดว่าโครงการนี้จะทำการก่อสร้าง 7 เดือน หรือ ตั้งแต่เดือนก.ย.64- มี.ค.65 ต้องเลื่อนเป็น 10 เดือน หรือ ตั้งแต่เดือน มิ.ย.65- มี.ค.66

ขณะที่ข้อมูลเพิ่มเติม พบว่ามติที่ประชุมคณะกรรมการการลงทุน ครั้งที่ 12/2564 ประจำ วันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 มีรายละเอียดเกี่ยวเนื่อง ระบุกระบวนการจัดจ้างผู้รับผิดชอบโครงการ โครงการปรับปรุง สระสำรองน้ำดิบ สำนักบก ดังนี้

1.อนุมัติสั่งจ้าง “บริษัท โกบอล โปรสเปคเตอร์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด” ดำเนินการก่อสร้างโครงการพัฒนาสระสำรองน้ำสระสำนักบก ในส่วนของงานปรับปรุงขอบคันสระ สระเก็บน้ำสำนักบก เพื่อเพิ่มเสถียรภาพความมั่นคงแข็งแรงให้สามารถกักเก็บน้ำ และปรับปรุงพื้นที่แนวเขตและถนนสาธารณะประโยชน์พร้อมรางระบายน้ำ งบประมาณจัดจ้าง 75,000,000 บาท (เจ็ดสิบห้าล้านบาทถ้วน) ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม

2.มอบหมายให้สำนักตรวจสอบร่วมดำเนินการตรวจสอบข้อมุลและรายละเอียดข้อกำหนดทั่วไป ข้อกำหนดด้านเทคนิค และรายละเอียดของสัญญา เพื่อให้เกิดความถูกต้องครบถ้วน ก่อนนำเสนอกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ลงนามในสัญญา

โดยเงื่อนไขของ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์ วอเตอร์ ในการทำโครงการนี้ คือ บริษัท โกบอล โปรสเปคเตอร์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด ในฐานะผู้รับจ้าง ต้องวางหลักประกันสัญญา เป็นหนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคาร หรือ แคชเชียร์เช็ค ของธนาคาร วงเงินค้ำประกัน เป็นเงิน 3,750,000 บาท (สามล้านเจ็ดแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) หรือเท่ากับร้อยละห้า (5%) ของมูลค่าทั้งหมดของสัญญา

โดยปรากฎว่า เมื่อวันที่ 11 มี.ค 65 ผู้รับจ้างได้ส่งหนังสือสัญญาค้ำประกัน (หลักประกันสัญญาจ้าง) และ (ประกันเงินเบิกจ่ายล่วงหน้า) ให้แก่แผนกจัดซื้อ ตามรายละเอียดดังนี้

-หนังสือสัญญาค้ำประกัน (หลักประกันสัญญาจ้าง) ลงวันที่ 11 มีนาคม 2565 ย่อหน้าแรกระบุว่า ข้าพเจ้า บริษัท ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสำนักพหลโยธิน สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 400/22 ถนนพหลโยธิน แขวงสามแสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400 โดย นายปัญญา คงคาไพศาล ผู้มีอำนาจลงนามผูกพันธนาคาร ขอทำหนังสือค้ำประกันฉบับนี้ไว้ต่อ
บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด(มหาชน) ซึ่งต่อไปนี้รียกว่า “ผู้ว่าจ้าง” ดังมีข้อความต่อไปนี้

ข้อ 1. ระบุว่า ตามที่บริษัท โกบอล โปรสเปคเตอร์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด ซึ่งต่อไปนี้เรียกว่า “ผู้รับจ้าง” ได้ทำสัญญาจ้าง โครงการปรับปรุงสระเก็บน้ำสำนักบก ต.สำนักบก อ.เมือง จ.ชลบุรี กับผู้ว่าจ้าง ตามสัญญาเลขที่ EW.02/004/2565 ลงวันที่ 11 มีนาคม 2565 ซึ่งผู้รับจ้างต้องวางหลักประกันค้ำสัญญาต่อผู้ว่าจ้างเป็นจำนวนเงิน 3,750,000,000 บาท ( สามล้านเจ็ดแสนห้าหมื่นบาทถ้วน ) ซึ่งเท่ากับร้อยละ ห้า (5%) ของมูลค่าทั้งหมดของสัญญา

ข้อ 3 ระบุว่า หนังสือค้ำประกันนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันทำสัญญาจ้างดังกล่าวข้างต้น จนถึงวันที่ภาระหน้าที่ทั้งหลายของผู้รับจ้างจะได้ปฏิบัติให้สำเร็จลุล่วงไป โดยมีระยะเวลาค้ำประกัน 1,120 วัน (หนึ่งพันหนึ่งร้อยยี่สิบวัน) และข้าพเข้าจะไม่เพิกถอนการค้ำประกันไม่ว่ากรณีใดๆ ตราบเท่าที่ผู้รับจ้างยังต้องรับผิดชอบต่อผู้ว่าจ้างตามสัญญาจ้างอยู่

-หนังสือสัญญาค้ำประกัน (ประกันเงินเบิกจ่ายล่วงหน้า) ลงวันที่ 11 มีนาคม 2565 ย่อหน้าแรก ระบุว่า ข้าพเจ้า บริษัท ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสำนักพหลโยธิน สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 400/22 ถนนพหลโยธิน แขวงสามแสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400 โดย นายปัญญา คงคาไพศาล ผู้มีอำนาจลงนามผูกพันธนาคาร ขอทำหนังสือค้ำประกันฉบับนี้ไว้ต่อ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด(มหาชน) ซึ่งต่อไปนี้รียกว่า “ผู้ว่าจ้าง” ดังมีข้อความต่อไปนี้

ข้อ 1 ระบุว่า ตามที่ บริษัท โกบอล โปรสเปคเตอร์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด ซึ่งต่อไปนี้เรียกว่า “สู้รับจ้าง” ได้ทำสัญญาจ้าง โครงการปรับปรุงสระเก็บน้ำสำนักบก ต.สำนักบก อ.เมือง จ.ชลบุรี กับผู้ว่าจ้าง ตามสัญญาเลขที่ EW. 02/004/2565 ลงวันที่ 11 มีนาคม 2565 ซึ่งผู้รับจ้างต้องวางหลักประกันการรับเงินค่าจ้างล่วงหน้า ตามสัญญาต่อผู้ว่าจ้าง เป็นจำนวนเงิน 7,500,000 บาท (เจ็ดล้านห้าแสนบาทถ้วน) ซึ่งเท่ากับร้อยละ สิบ (10%) ของมูลค่าทั้งหมดของสัญญา

ข้อ 3 ระบุว่า หนังสือค้ำประกันนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันทำสัญญาจ้างดังกล่าวข้างต้น โดยมีระยะเวลาการค้ำประกัน 210 วัน(สองร้อยสิบวัน) และ ข้าพเจ้าจะไม่เพิกถอนการค้ำประกันไม่ว่ากรณีใดๆ ตราบเท่าที่ผู้รับจ้างยังต้องรับผิดชอบต่อผู้ว่าจ้างตามสัญญาจ้างอยู่

และนี่้คือจุดปัญหา เมื่อปรากฎในรายงานการประชุมคณะกรรมการ อีสท์ วอเตอร์ ครั้งที่ 4/2565 วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม 2565

ระเบียบวาระที่ 5.3 การติดตามความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างที่สำคัญ

ระบุว่า วันที่ 17 มี.ค 65 ได้แจ้งชะลอโครงการเพื่อตรวจสอบหนังสือค้ำประกันสัญญา เพราะหลังจากนำส่งหนังสือค้ำประกันสัญญาของผู้รับจ้างฉบับแรก ให้ธนาคารกสิกรไทย สำนักงานใหญ่ ตรวจสอบ ต่อมาได้รับการปฏิเสธจากธนาคารกสิกรไทย (สำนักงานใหญ่) ขณะที่ เจ้าหน้าที่ธนาคารกสิกรไทย สำนักพหลโยธิน ทำหนังสือชี้แจงว่า หนังสือค้ำประกันดังกล่าวเป็นฉบับจริงที่ตนลงนาม ฝ่ายบริหารจึงขอหนังสือยืนยันจากธนาคารกสิกรไทย (สำนักพหลโยธิน) แต่ได้รับการแจ้งกลับว่า ต้องขอออกหนังสือจากธนาคารกสิกรไทย สำนักงานใหญ่ และขณะนี้อยู่ระหว่างการตอบกลับ

ฝ่ายบริหาร จึงมีข้อสงสัยว่า ว่า ผู้รับจ้างอาจยื่นหนังสือค้ำประกันสัญญาปลอม และบริษัทฯ อาจต้องจัดหาผู้รับจ้างรายใหม่ แต่การจ้างรายใหม่อาจมีมูลค่างาน มากกว่างบประมาณเดิมที่อนุมัติไว้ 75 ล้านบาท เพราะในการประมูล ครั้งก่อน ผู้เสนอลำดับที่ 2 เสนองบประมาณ 91 ล้านบาท

ประธานฯกรรมการ จึงมอบหมายฝ่ายบริหาร ติดตามการดำเนินการต่อไป และฝ่ายบริหารเรียนว่าหากธนาคารยืนยันแล้วว่า หนังสือค้ำประกันสัญญาของผู้รับจ้างเป็นปลอม ฝ่ายบริหารจะเริ่มการจัดหาผู้รับจ้างรายใหม่ พร้อมแนะนำว่าในอนาคต หากสัญญายังไม่สมบูรณ์ ก็ไม่ควรให้ผู้รับจ้างเริ่มงาน และหากมีขั้นตอนใดที่ล่าช้ำ เช่น การตรวจสอบหนังสือค้ำประกันสัญญาของโครงการ ก็ควรเร่งเข้าตรวจสอบ

 

ประเด็นนี้จึงทำให้ เกิดข้อพิรุธ ตามมา จากรายงานการประชุมคณะกรรมการลงทุน ของอีสท์ วอเตอร์ ครั้งที่ 4/2565 วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม 2565

โดยตามระเบียบวาระที่ 3.3 มีประเด็นแจ้งที่ประชุม เรื่องการพิจารณาขออนุมัติขยายกรอบระยะเวลา การก่อสร้างโครงการปรับปรุงสระสำรองน้ำดิบสำนักบก ต.สำนักบก อ.เมือง จ.ชลบุรี ใจความ ตอนหนึ่งระบุว่า วันที่ 17 มี.ค.65 ได้มีการแจ้งชะลอโครงการ เนื่องจากฝ่ายอำนวยการได้ทำการตรวจเอกสารหนังสือค้ำประกันสัญญาที่บริษัท โกบอล โปรสเปคเตอร์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด (GPC) ส่งมานั้น มิได้ออกให้โดยธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) จึงได้ทำการส่งหนังสือแจ้งยกเลิก และยุติการลงนามสัญญา เมื่อวันที่ 7 เม.ย.65

แต่ปรากฎว่า ฝ่ายบริหารไม่ได้มีการเอาผิดจากผู้รับจ้าง แต่กลับเลือกวิธีเจรจา และพิจารณาให้ GPC ส่งหนังสือ /เอกสารค้ำประกันฉบับใหม่ ที่ออกให้โดยธนาคารกสิกรไทย หลังจากบริษัท โกบอล โปรสเปคเตอร์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด (GPC) ได้มีหนังสือขอเปลี่ยนแปลงหลักประกันสัญญา และไม่ขอรับการเบิกเงินล่วงหน้า ( ADVANCE PAYMENT) ตามที่ส่งมายังบริษัทเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2565

สุดท้ายมติที่ประชุมบริษัท ยังอนุมัติให้ บริษัท โกบอล โปรสเปคเตอร์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด สามารถเข้าดำเนินงานโครงการต่อได้ โดยปรับเปลี่ยนเงื่อนไข ให้สามารถนำแคชเชียร์เช็ค มาเป็นหลักประกันค้ำสัญญาแทนหนังสือค้ำประกันได้

โดยมติที่ประชุม ระบุรายละเอียดว่า 1. รับทราบการเปลี่ยนแปลงหลักประกันสัญญาของ บริษัท โกบอล โปรสเปคเตอร์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นเช็คเงินสดที่ธนาคารเป็นผู้สั่งจ่าย (CASHIER CHEQUE) ในจำนวนเงิน 3,750,000 (สามล้านเจ็ดแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) ซึ่งเท่ากับร้อยละห้า (5%) ของมูลค่าทั้งหมดของสัญญา เพื่อใช้เป็นหลักประกันค้ำสัญญาแทนหนังสือค้ำประกัน โดยยกเลิกการให้เบิกเงิน ล่วงหน้า ADVANCE PAYMENT และมีการลงนามในคู่สัญญาเพื่อเริ่มงานโครงการปรับปรุงสระสำนักบกตามกระบวนการของบริษัทฯ ต่อไป

2. รวมถึงเห็นชอบให้ลงนามในสัญญาจ้าง บริษัท โกบอล โปรสเปคเตอร์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด ดำเนินการก่อสร้างโครงการพัฒนาสระสำรองน้ำสระสำนักบก ในส่วนงานปรับปรุงขอบคันสระ สระเก็บน้ำสำนักบก เพื่อเพิ่มเสถียรภาพความมั่นคงแข็งแรงให้สามารถกักเก็บน้ำและปรับปรุงพื้นที่แนวเขตและถนนสาธารณะประโยชน์พร้อมรางระบายน้ำ

โดยกำหนดระยะเวลาสัญญาหลักของการสั่งจ้าง 210 วัน (หลังจากมีการแจ้งเริ่มงาน) และให้มีการออก L0I ให้กับทางผู้รับจ้างเพื่อเริ่มงานก่อสร้าง ระบุลงวันที่ 1 มิถุนายน 2565 (ภายหลังการรายงานยังคกก.บริษัทฯ ครั้งที่ 7/2565 วันที่ 30 พฤษภาคม 2565 รับทราบแล้ว ) ทั้งนี้ในสัญญาที่ใช้ในการลงนามของคู่สัญญา ยังระบุให้สามารถแจ้งเริ่มงานได้ทันที กรอบวงเงินการจ้าง 75 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่ำเพิ่ม) ตามที่ให้รับอนุมัติกรอบงบประมาณสั่งจ้างจากคกก.การลงทุน (ซึ่งอยู่ภายในกรอบที่ได้รับอนุมัติการจัดทำแผนปฏิบัติการและงบประมาณประจำปี 2564 คกก.บริษัทฯ ครั้งที่ 15/2563 วันที่ 22 ตุลาคม 2563) นอกจากนี้ในกรณีที่มีเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องขยายกรอบระยะเวลางานก่อสร้างเป็น 300 วัน ให้ฝ่ายบริหารนำเสนอยังคกก.การลงทุนพิจารณาต่อไป

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

“สุชาติ”เปิดงาน“ชลบุรี พราว เอ็กโป 2024” สร้างช่องทาง SME สร้างงานปชช.
รัฐบาลเปิดตัวนวัตกรรม “ตู้ห่วงใย” บริการทางการแพทย์ พบแพทย์ผ่านวิดีโอคอล เล็งขยายทั่วประเทศ
"พระปีนเสา" เล่านาที ถูกทำร้ายหน้าช่อง 8 เจ็บจนเห็นดาวเห็นเดือน โร่แจ้งความตำรวจ สน.บางเขน
"กลุ่มชายปริศนา" แหวกวงล้อมสื่อ เข้ารุมทำร้าย "พระปีนเสา" ขณะให้สัมภาษณ์
เปิดตัว "TKR Connect" แพลตฟอร์มจัดหางานครบวงจร สร้างมิติใหม่รองรับแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกม.
ออกหมายจับ "หมอบุญ" พร้อมพวกรวม 9 คน “ฉ้อโกง-ฟอกเงิน” ปลอมลายเซ็นอดีตลูกสะใภ้กู้เงิน 8 พันล้าน
ระทึกกลางดึก ไฟไหม้ "ร้านกาแฟ" เผาวอดทั้งหลัง เสียหายกว่า 7 แสนบาท
"อุตุฯ" เผย "เหนือ-อีสาน-กลาง" อากาศเย็นตอนเช้า เตือนใต้ยังรับมือฝนตก
แม่ทัพภาคที่ 2 ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนครอบครัวกำลังพล ห่วงใยไปถึงบ้าน เพราะเราคือครอบครัวกองทัพบก
สวนนงนุชพัทยาเปิดเวที CHONBURI PROUD EXPO 2024 หนุน SMEs ชลบุรีสู่ตลาดโลก

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น