"สิทธิบัตรทอง" สปสช. ประกาศยกเลิกจ่ายค่าบริการตรวจคัดกรองโควิด-19 หน่วยบริการนอกระบบ 1 กรกฎาคมนี้
ข่าวที่น่าสนใจ
เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน บอร์ดสปสช. เห็นชอบยกเลิกจ่ายค่าบริการตรวจคัดกรองโควิด-19 หน่วยบริการนอกระบบบัตรทอง หลังสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ดีขึ้น เตรียมประกาศเป็นโรคประจำถิ่น 1 กรกฎาคมนี้ โดยจะยังคงบริการตรวจคัดกรองที่หน่วยบริการในระบบต่อไป
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอยกเลิกกรณีที่มีเหตุสมควรการเข้ารับบริการตรวจคัดกรอง บริการตรวจทางห้องปฏิบัติการ และรับบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคอื่นที่เกี่ยวกับโรคโควิด–19 ในสถานบริการอื่น โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2565 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ที่มาของการเพิ่มเติมบริการดังกล่าว ด้วยในช่วงการระบาดของโควิด–19 ที่ผ่านมา หน่วยบริการต่าง ๆ ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง มีภาระงานอย่างมากในการตรวจคัดกรองค้นหาผู้ติดเชื้อ รวมทั้งบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคในส่วนที่เกี่ยวกับโควิด-19
ดังนั้น สปสช. จึงได้ออกประกาศ เรื่อง กำหนดกรณีที่มีเหตุสมควรและอัตราค่าใช้จ่ายที่สถานบริการมีสิทธิได้รับโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีสาระสำคัญ คือ การดึงสถานบริการที่ไม่ได้อยู่ในระบบ “สิทธิบัตรทอง” ให้เข้ามาร่วมช่วยตรวจคัดกรองเชิงรุก โดยมีการกำหนดอัตราการชดเชยค่าบริการตามการบริการของหน่วยบริการที่เข้าร่วม
อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบันที่เริ่มผ่านพ้นช่วงวิกฤติแล้ว ประกอบกับคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติเห็นชอบมาตรการรองรับการเปลี่ยนผ่านการระบาดของโรคโควิด-19 สู่การเป็นโรคประจำถิ่น ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มีการจัดทำแผนและมาตรการการบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น (Endemic Approach to COVID-19) เพื่อให้ประชาชนจะกลับมาดำเนินชีวิตภายใต้การใช้ชีวิตวิถีปกติใหม่
ดังนั้น ทางหน่วยงานที่บริหารจัดการกองทุนสุขภาพภาครัฐ ประกอบด้วย สปสช. กรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม กองเศรษฐกิจสุขภาพฯ กระทรวงสาธารณสุข พิจารณาแล้วเห็นว่าในระยะต่อไป ไม่จำเป็นต้องมีการตรวจคัดกรองเชิงรุก ทั้งประชาชนสามารถตรวจคัดกรองด้วย ATK ด้วยตนเอง หรือตรวจวิธีอื่น ๆ ในหน่วยบริการได้ จึงมีมติร่วมกันให้การปรับเงื่อนไขอัตราจ่ายบริการโรคโควิด-19 ในภาพรวม โดยยกเลิกตรวจคัดกรองเชิงรุกนอกหน่วยบริการที่เป็นไปตามแผนและมาตรการการบริหารจัดการสถานการณ์โรคโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่นของ สธ.
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า ด้วยเหตุนี้ที่ประชุม บอร์ด สปสช. จึงมีมติให้ยกเลิกการเข้ารับบริการตรวจคัดกรองบริการตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันการติดเชื้อ การเข้ารับบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคอื่นที่เกี่ยวกับโรคโควิด-19 ในสถานบริการนอกระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คงเหลือแต่ส่วนที่เป็นบริการของหน่วยบริการในระบบต่อไป โดยมติบอร์ด สปสช.นี้ ทาง สธ. จะรวบรวมเป็นข้อมูลการดำเนินการในส่วนของสาธารณสุข เพื่อนำเสนอต่อศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ต่อไป
ข้อมูล : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง