นายอิษฎา เสาวรส ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานตราด กล่าวว่าหลังจากเข้ามาดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานตราด ได้มองเห็นศักยภาพของเกาะหมากในการที่จะเป็นศูนย์กลางของกลุ่มเกาะใกล้เคียง อาทิ เกาะขาม เกาะกระดาด เกาะขายหัวเราะ เกาะระยั้งนอก รวมถึง ใกล้จุดดำน้ำหลักของทะเลตราดอย่างหมู่เกาะรัง เกาะหมากมีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานที่ค่อนข้างพร้อม มีที่พักให้เลือกหลากหลาย ร้านอาหารของชุมชนจำนวนมาก การเดินทางเข้าถึงที่สะดวก อีกทั้ง เป็นต้นแบบการท่องเที่ยว Low Carbon Destination หนึ่งในรูปแบบท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (Responsible Tourism: RT) นำไปสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism) ตามนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาประเทศและระบบเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืนตามแนวคิด BCG Economy Model
“ททท.ตราด ได้นำเสนอเกาะขายหัวเราะ เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ โดยได้ทำงานร่วมกับกลุ่มบริษัทในเครือบันลือกรุ๊ป ผู้ผลิตหนังสือการ์ตูนขายหัวเราะ ซึ่งเป็นเจ้าของคำว่า “ขายหัวเราะ” ทำการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างการรับรู้ “เกาะขายหัวเราะ” ในรูปแบบ Soft Power โดยใช้แก๊กคลาสสิก “คนติดเกาะ” ในการ์ตูน เลือกกลุ่มเป้าหมายเป็นนักท่องเที่ยววัยทำงาน ถือเป็นมิติใหม่ที่เกิดจากความเข้ากันพอดีของสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดตราด กับภาพจำของหนังสือการ์ตูนขายหัวเราะ ที่มีฉากตัวการ์ตูนติดเกาะในทะเลที่มีต้นไม้ ขึ้นอยู่เพียงต้นเดียว ททท. จึงนำ 2 สิ่งนี้มารวมกัน เพื่อตอกย้ำเอกลักษณ์แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลตราด ทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวที่อำเภอเกาะกูด โดยเฉพาะเกาะหมาก ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเดินทางมาสัมผัสเกาะชายหัวเราะด้วย ส่งผลให้วันนี้เกาะขายหัวเราะมีความเสียหายที่เกิดขึ้น เนื่องจาก กิ่งหัก รากถูกเหยียบย้ำ ซึ่งสาเหตุน่าจะมาจากนักท่องเที่ยวเดินทางมามาก และไม่ระมัดระวังในการเข้าชม รวมทั้งมีสาเหตุจากธรรมชาติด้วย จึงต้องเร่งแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ก่อนที่จะเกิดความเสียหาย และอาจจะทำให้ต้นตะบันในเกาะขายหัวเราะตายไปได้”
สำหรับเกาะขายหัวเราะเป็นส่วนหนึ่งของเกาะนกนอก ซึ่งเชื่อมมาจากเกาะนกใน และเกาะกระดาด เกาะนี้จะมีจังหวะที่โผล่พ้นน้ำในช่วงน้ำลด ซึ่งจะเห็นพื้นที่เกาะเล็กน้อยและมีต้นไม้ (ต้นตะบัน) ขึ้นอยู่เพียงต้นเดียว ปรากฏภาพที่คล้ายกับฉากคลาสสิกของหนังสือขายหัวเราะพอดี นักท่องเที่ยวหรือผู้ที่ผ่านมาพบเห็นต่างพากันเรียกว่า“เกาะขายหัวเราะ”
นายนิพนธ์ สุทธิธนากุล ประธานชมรมท่องเที่ยวเกาะหมาก เปิดเผยว่า ต้นตะบัน ในเกาะขายหัวเราะ ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาก หลังจากทางททท.สำนักงานตราดได้จัดกิจกรรมทางการตลาดและสร้างเป็นจุดขายทางการท่องเที่ยวของเกาะหมาก และเกาะใกล้เคียง แต่ก็ยอมรับว่า การที่ต้นตะบันในเกาะขายหัวเราะเสียหายนั้น มาจากปัจจัยภายนอกและปัจจัยทางธรรมชาติด้วย ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดก็คือ จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจำนวนมาก และไม่เข้าใจในการเดินทางเข้าไปชมแบบอนุรักษ์ธรรมชาติหรือรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความเสียหายมากกว่าเหตุอื่นๆ”
“ผมเพิ่งกลับจากเกาะกระดาษพร้อมกับนักท่องเที่ยวกลุ่มสุดท้ายเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และพบว่า กิ่งต้นตะบันในเกาะขายหัวเราะหัก เนื่องจากมีลมพัดกิ่ง และทราบว่า นักท่องเที่ยวมาโหนเพื่อถ่ายรูปติดเกาะ และการเดินทางเข้ามาจำนวนมาก โดยไม่ผ่านการขึ้นท่าเรือที่เกาะกระดาษ แต่กลับไปจอดที่บริเวณเกาะขายหัวเราะโดยตรงเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียค่าผ่านทาง 200 บาท ซึ่งทำให้ไม่สามารถควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยวได้ ซึ่งเรื่องนี้จะต้องเร่งแก้ไขและสร้างความเข้าใจให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาก่อนทีทจะเสียหายมากกว่านี้ เพราะต้นตะบันต้นนี้มีอายุไม่ต่ำกว่า 70-80 ปี”
ขณะที่นายนล สุวัจนานนท์ นายกอบต.เกาะหมาก เปิดเผยว่า ปัญหาเรื่องต้นไม้ในเกาะขายหัวเราะเสียหายและชำรุดนั้น ได้รับทราบในเรื่องนี้มาแล้ว โดยเบี้ยงต้นพบว่า กิ่งต้นตะบันหักลงมาบางส่วน ซึ่งน่าจะมาจากการที่นักท่องเที่ยวเข้าไปชมและอาจจะเข้าไปโหนหรือโน้มกิ่ง และเกิดจากภัยธรรมชาติ ทั้งเรื่องพายุ และเรื่องฝนตก ส่วนที่รากนั้น น่าจะมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไปจำนวนมากและเหยียบย้ำเพื่อขึ้นเกาะเพื่อต้องการถ่ายรูป ซึ่งการขึ้นไปบนเกาะมากอาจจะไปทำความเสียหายให้กับต้นตะบันที่เคยอยู่อย่างธรามชาติ แต่เมื่อมีการรบกวนจึงอาจจะเกิดผลกระทบขึ้นได้ ซึ่งทางอบต.เกาะหมากได้ร่วมหารือกับทั้งททท.สำนักงานตราดและเพื่อแก้ไขในเรื่องนี้แล้ว
จักรกฤชณ์ แววคล้ายหงษ์ ผู้สื่อข่าวTOPNEWS ประจำ จ.ตราด