"คุมกําเนิด บัตรทอง" สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เผยสามารถทำได้ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งชายและหญิง
ข่าวที่น่าสนใจ
การคุมกำเนิด แบ่งออกเป็น 2 ประเภท
1. การคุมกำเนิดชั่วคราว
- วิธีการคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพชั่วคราว เมื่อหยุดใช้จะกลับมาตั้งครรภ์ได้
- เหมาะกับผู้ที่ยังไม่พร้อมมีลูก แต่ยังต้องการที่จะมีลูกในอนาคต
- การคุมกำเนิดโดยใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ที่ทำเลียนแบบฮอร์โมนในร่างกายของผู้หญิง ให้ผลในการป้องกันสูง เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน ยาฉีดคุมกำเนิด ยาฝังคุมกำเนิด ห่วงอนามัย
2. การคุมกำเนิดถาวร
- วิธีการคุมกำเนิดไปได้ตลอดชีวิต ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้อีก
- เหมาะสำหรับครอบครัวที่มีลูกเพียงพอแล้วและไม่ต้องการมีลูกอีก
- ทำเพียงครั้งเดียว ได้ผลดีมาก ไม่ต้องเสี่ยงต่อผลข้างเคียงเหมือนกับการใช้วิธีคุมกำเนิดแบบชั่วคราว มี 2 วิธี ดังนี้
– การทำหมันหญิง : มีทั้งการทำหมันแห้งที่เป็นการทำหมันในรายที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ และการทำหมันเปียก เป็นการทำหมันภายใน 6 สัปดาห์แรกหลังการคลอดบุตร นิยมทำในช่วง 48 ชั่วโมงแรกหลังการคลอดบุตร
– การทำหมันชาย : เป็นการทำหมันถาวรโดยการตัดและผูกท่อทางเดินของเชื้ออสุจิ เพื่อไม่เปิดโอกาสให้เชื้ออสุจิเดินทางเข้ามาในช่องคลอดขณะร่วมเพศได้
ล่าสุด สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เผยข้อมูลเกี่ยว “คุมกําเนิด บัตรทอง” ยืนยันคนไทยทุกคนมีสิทธิประโยชน์การวางแผนครอบครัว รวมถึงการคุมกำเนิดทั้งแบบชั่วคราวและถาวร โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยมีบริการให้ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน ยาฉีดคุมกำเนิด ยาฝังคุมกำเนิด การใส่ห่วงอนามัย การทำหมัน แนะนำให้ผู้ที่ต้องการคุมกำเนิดปรึกษาแพทย์ โดยยื่นบัตรประจำตัวประชาชนแจ้งใช้สิทธิ ณ หน่วยบริการ (สถานพยาบาล) ที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
รายละเอียดสิทธิประโยชน์ “คุมกําเนิด บัตรทอง” มีดังนี้
1. ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทาน
- ให้บริการสำหรับหญิงไทยทุกสิทธิ อายุระหว่าง 15 -59 ปี
- จ่ายครั้งละไม่เกิน 3 แผง ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้ให้บริการ (คนละไม่เกิน 13 แผง/ปี)
เลือกรับบริการยาคุมกำเนิดได้ 2 วิธี ดังนี้
1. กรณีรับบริการผ่านสมาร์ทโฟน
- เปิดแอปเป๋าตังไปที่เมนู กระเป๋าสุขภาพ เลือก บริการสร้างเสริมสุขภาพ
- ผู้หญิง 15 -59 ปี จะแสดงสิทธิ ยาเม็ดคุมกำเนิด > ค้นหาหน่วยบริการ และทำการจองสิทธิ
- รับยาคุมกำเนิดภายในวันที่จองสิทธิ ตามเวลาทำการของหน่วยบริการที่เข้าร่วมโครงการ เช่น ร้านขายยา คลินิกเวชกรรม คลินิกการพยาบาลฯ เป็นต้น
2. กรณีไม่มีสมาร์ทโฟน
- ให้แสดงบัตรประชาชน เพื่อรับยาคุมกำเนิด ณ หน่วยบริการ
2. การใส่ห่วงอนามัย 1 ครั้ง/ปี
- เพศหญิง อายุ 10-59 ปี
3. ยาฉีดคุมกำเนิด ไม่เกิน 5 ครั้ง/ปี
- เพศหญิง อายุ 10-59 ปี
4. ยาฝังคุมกำเนิด 1 ครั้ง/3 ปี
- เพศหญิง อายุ 10-20 ปี
- กรณีอายุเกินให้อยู่ในดุลพินิจของแพทย์
5. ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน ไม่เกิน 2 แผง/ปี
- เพศหญิง อายุ 10-24 ปี
การใช้บริการข้อ 2-5 สามารถเข้ารับบริการบริการที่หน่วยบริการหรือสถานพยาบาลตามสิทธิการรักษาหรือสถานพยาบาลในระบบบัตรทองหรือระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ร่วมบริการตามความสะดวกได้ ***เฉพาะพื้นที่ กทม. สามารถจองคิวนัดหมายเพื่อรับบริการได้ที่แอปเป๋าตัง
กรณีตั้งครรภ์ไม่พร้อม
- สปสช. มีการจัดการการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม เพื่อเป็นทางออก ซึ่งจะมีการให้คำปรึกษา แนะนำ เพื่อตัดสินใจ
- กรณีเข้าข่ายตามกฎหมายในการยุติการตั้งครรภ์ จะได้รับบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยจากสถานบริการสุขภาพที่เป็นทางการ
- สิทธิประโยชน์นี้ยังรวมถึงการป้องกันการท้องซ้ำด้วยการฝังยาคุมกำเนิดหรือการใช้ห่วงคุมกำเนิดด้วย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
- สายด่วน สปสช. 1330
- Line สปสช. ไลน์ไอดี @nhso คลิก
- Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ข้อมูล : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง