“ดร.สามารถ” เทียบชัด เงื่อนไขสุดหิน เลือกผู้ชนะประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม พิสูจน์ล็อกสเปกหรือไม่ ?

วันที่ 12 มิ.ย. 65 ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้ชำนาญด้านโครงการและแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนและท่าอากาศยาน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ด่านโหด ! ตรวจผู้รับเหมา ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก “ล็อกหรือไม่ ?” การเสนอตัวเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกจะต้องผ่านด่านโหดตรวจคุณสมบัติว่ามีครบหรือไม่ ? การประมูลครั้งที่ 2 หลังล้มประมูลครั้งที่ 1 ด่านนี้ถูกเพิ่มดีกรีจนอาจกลายเป็นล็อกสเปกหรือไม่ ?

1. การประมูลครั้งที่ 1
ในเดือนกรกฎาคม 2563 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดประมูลหาเอกชนมาร่วมลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) และเดินรถตลอดสายทั้งช่วงตะวันตกและตะวันออก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) โดยผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้

1.1 จะต้องมีประสบการณ์ในการบริหารจัดการก่อสร้างงานโยธา “โดยมีผลงานที่แล้วเสร็จภายในช่วงระยะเวลา 20 ปี ครบทั้ง 3 ประเภทตามที่กำหนด” ประสบการณ์ด้านงานโยธา 3 ประเภท มีดังนี้
(1) งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินด้วยหัวเจาะ ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางภายในไม่น้อยกว่า 5 เมตร มูลค่าไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท
(2) งานออกแบบและก่อสร้างสถานีใต้ดินของระบบขนส่งมวลชน มูลค่าไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท และ
(3) งานออกแบบและก่อสร้างทางวิ่ง แบบไม่ใช้หินโรยทาง มูลค่าไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท

1.2 ในกรณีผู้ยื่นข้อเสนอมีประสบการณ์ในการบริหารจัดการก่อสร้างงานโยธาดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ แต่อยู่ระหว่างการดำเนินงาน ผู้ยื่นข้อเสนอสามารถนำเสนอเอกสารซึ่งแสดงคุณสมบัติทางด้านเทคนิค ประสบการณ์ ที่ได้รับการรับรองมูลค่าการเบิกจ่ายในแต่ละงานมาแสดงแทนได้

1.3 ในกรณีผู้ยื่นข้อเสนอขาดประสบการณ์ในการบริหารจัดการก่อสร้างงานโยธาดังกล่าว ผู้ยื่นข้อเสนอสามารถนำประสบการณ์และผลงานของผู้รับจ้าง (ผู้รับเหมา) มาแสดงเพื่อประกอบการยื่นข้อเสนอได้
แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนถึงวันยื่นข้อเสนอ รฟม. ได้เปลี่ยนเกณฑ์ประมูล ทำให้ถูกฟ้อง ในที่สุด รฟม. ได้ล้มประมูลเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ทำให้ต้องเปิดประมูลครั้งที่ 2

 

ข่าวที่น่าสนใจ

2. การประมูลครั้งที่ 2
ขณะนี้ รฟม. กำลังเปิดประมูลครั้งที่ 2 โดยกำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องมีประสบการณ์ในการบริหารจัดการก่อสร้างงานโยธา “โดยมีสัญญาที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานของรัฐบาลไทยที่แล้วเสร็จภายในช่วงระยะเวลา 20 ปี ครบทั้ง 3 ประเภทตามที่กำหนด” ประสบการณ์ด้านงานโยธา 3 ประเภท มีดังนี้
(1) งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินด้วยหัวเจาะ มูลค่าไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท
(2) งานออกแบบและก่อสร้างสถานีใต้ดิน หรือสถานียกระดับของระบบขนส่งมวลชน มูลค่าไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท และ
(3) งานออกแบบและก่อสร้างทางวิ่งพร้อมรางที่ 3 แบบไม่ใช้หินโรยทาง มูลค่าไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท

3. ข้อสังเกตในการเปลี่ยนคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ
จากการเปรียบเทียบคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอในการประมูลครั้งที่ 1 กับครั้งที่ 2 พบว่าครั้งที่ 2 กำหนดคุณสมบัติที่ยากขึ้นดังนี้

(1) การประมูลครั้งที่ 2 รฟม. กำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องมีผลงานด้านโยธาที่เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานของรัฐบาลไทย ครบทั้ง 3 ประเภทตามที่กำหนด แต่การประมูลครั้งที่ 1 ไม่ได้กำหนดให้เป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานของรัฐบาลไทย เพียงแต่ระบุว่า “ถ้าเป็นผลงานและประสบการณ์ในประเทศไทยจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ” เท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ การประมูลครั้งที่ 2 จะทำให้ผู้ยื่นข้อเสนอหาผู้รับเหมาที่มีผลงานด้านโยธาครบทั้ง 3 ประเภทตามที่กำหนดได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นผู้รับเหมาไทยหรือผู้รับเหมาต่างชาติ อาจจะต้องใช้ผู้รับเหมา 2-3 ราย และแม้ว่าจะสามารถหาได้ ก็คงได้คะแนนด้านเทคนิคไม่ผ่านเกณฑ์ที่ถูกปรับให้สูงขึ้น

(2) การประมูลทั้ง 2 ครั้ง กำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีผลงานด้านโยธาที่แล้วเสร็จ แต่การประมูลครั้งที่ 1 อนุโลมให้ผู้ยื่นข้อเสนอที่มีประสบการณ์ในการบริหารจัดการก่อสร้างงานโยธาที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานและยังไม่แล้วเสร็จ สามารถนำเสนอเอกสารซึ่งแสดงคุณสมบัติทางด้านเทคนิค ประสบการณ์ ที่ได้รับการรับรองมูลค่าการเบิกจ่ายในแต่ละงานมายื่นแทนได้ ในขณะที่การประมูลครั้งที่ 2 กำหนดให้ใช้ผลงานที่แล้วเสร็จเท่านั้น ทำให้หาผู้รับเหมามาร่วมยื่นข้อเสนอได้ยาก

(3) การประมูลทั้ง 2 ครั้ง กำหนดให้ผู้ยื่นข้อเสนอที่ขาดประสบการณ์ในการบริหารจัดการก่อสร้างงานโยธาสามารถนำประสบการณ์และผลงานของผู้รับเหมามาแสดงเพื่อประกอบการยื่นข้อเสนอได้ แต่ในครั้งที่ 2 รฟม. กำหนดเพิ่มเติมจากครั้งที่ 1 ว่า “โดยผู้รับเหมาต้องเป็นนิติบุคคลไทยรายเดียว หรือกลุ่มนิติบุคคลที่มีนิติบุคคลไทยถือหุ้นรวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 51%”
การกำหนดให้ “ผู้รับเหมาต้องเป็นนิติบุคคลไทยรายเดียว” นั้น ทำให้บนโลกใบนี้มีผู้รับเหมาเพียง 2 รายเท่านั้นที่มีผลงานด้านโยธาครบทั้ง 3 ประเภทตามที่กำหนด ซึ่งทั้ง 2 รายนี้เป็นผู้รับเหมาไทย ถ้าผู้รับเหมาไทยทั้ง 2 รายนี้มีเป้าหมายแน่ชัดแล้วว่าจะร่วมยื่นข้อเสนอกับผู้เดินรถไฟฟ้ารายใดรายหนึ่ง ก็จะทำให้ผู้เดินรถไฟฟ้ารายอื่นยากที่จะหาผู้รับเหมามาร่วมงานได้ แม้ว่าจะต้องใช้ผู้รับเหมา 2-3 รายรวมกันเป็นกลุ่มนิติบุคคลเพื่อทำให้มีผลงานด้านโยธาครบทั้ง 3 ประเภทก็ตาม เนื่องจาก รฟม. กำหนดว่า “จะต้องเป็นกลุ่มนิติบุคคลที่มีนิติบุคคลไทยถือหุ้นรวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 51%” ทำให้ผู้รับเหมาต่างชาติบางรายไม่สามารถร่วมยื่นข้อเสนอได้

 

4. ใครเสียประโยชน์ ?
จากการที่ รฟม. เปิดขายเอกสารสำหรับคัดเลือกเอกชนตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2565 ถึงวันสุดท้ายคือวันที่ 10 มิถุนายน 2565 พบว่ามีบริษัทซื้อเอกสารฯ จำนวน 14 ราย แบ่งเป็นผู้เดินรถไฟฟ้า 3 ราย ผู้รับเหมา 7 ราย และผู้ผลิต (Supplier)-นักลงทุน (Investor) 4 ราย ในส่วนของผู้รับเหมานั้น แบ่งเป็นผู้รับเหมาไทย 4 ราย และผู้รับเหมาต่างชาติ 3 ราย

การที่มีบริษัทซื้อเอกสารฯ 14 รายนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้มีผู้ยื่นข้อเสนอถึง 14 ราย เนื่องจากแต่ละบริษัทมีคุณสมบัติไม่ครบ จำเป็นต้องหาบริษัทอื่นที่ซื้อเอกสารฯ มาร่วมเพื่อทำให้มีคุณสมบัติครบ เมื่อดูรายชื่อบริษัทที่ซื้อเอกสารฯ แล้ว ก็พอจะคาดการณ์ได้ว่าจะมีผู้ยื่นข้อเสนอดังนี้
(1) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ร่วมกับ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK
(2) ผู้เดินรถไฟฟ้าจากต่างประเทศ (น่าจะเป็น Incheon Transit Corporation จากเกาหลีใต้) ร่วมกับ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD
ส่วนบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ซึ่งเป็นผู้เดินรถไฟฟ้า ผมไม่แน่ใจว่าจะสามารถหาผู้รับเหมามาร่วมยื่นข้อเสนอได้หรือไม่ ?
หากมีผู้ยื่นข้อเสนอน้อย และ/หรือ มีผู้ยื่นข้อเสนอที่สามารถผ่านเกณฑ์เทคนิคได้น้อย อาจทำให้ รฟม. ไม่ได้รับผลตอบแทนสูงสุดที่ควรจะได้

5. สรุป
ผมไม่สามารถพูดได้ว่าการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกครั้งที่ 2 นี้มีการล็อกสเปกหรือไม่ ? ขอให้ท่านผู้อ่านพิจารณาเอาเองก็แล้วกัน

ทั้งหมดนี้ ด้วยความหวังดีที่อยากให้การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกสำเร็จลุล่วงไปด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรม มีการแข่งขันกันอย่างจริงจัง ที่สำคัญ สามารถเปิดให้บริการได้ในอีกไม่นาน
หมายเหตุ : ข้อสงสัยดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นข้อกังขาที่ผมและประชาชนทุกคนชอบที่จะต้องขอคำชี้แจงให้สิ้นสงสัยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นเท่านั้นเอง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

ไทยตอนบนอากาศยังหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 12 องศา ใต้เจอฝนฟ้าคะนองบางแห่ง กทม. มีหมอกบางตอนเช้า ร้อนสุด 31 องศา
ฮีโร่โอลิมปิคเหรียญทองน้องอร “ฉายาสู้โวย” ร่วมแข่งขันกีฬาพื้นบ้าน ในงานกีฬาประจำปีอบต.ไทยสามัคคี พร้อมลงแข่งขันตีกอล์ฟบก สร้างความสนุกสนานเฮฮา
"สธ." ยันพบชาวเมียนมา ป่วยอหิวาฯ รักษาฝั่งไทย 2 ราย อาการไม่รุนแรง
สุดทน "พ่อพิการ" ร้อง "กัน จอมพลัง" หลังถูกลูกทรพี ใช้จอบจามหัว-ทำร้ายร่างกาย จนนอน รพ.นับเดือน
สลด กระบะชนจยย.พลิกคว่ำตก "ดอยโป่งแยง" เชียงใหม่ เจ็บตายรวม 13 ราย
“สมศักดิ์” ยกนวดไทยเป็นมรดกชาติ สร้างมูลค่าเศรษฐกิจสุขภาพ เล็งพาหมอนวดโกอินเตอร์ โชว์ฝีมืองาน เวิลด์เอ็กซ์โปโอซาก้า ญี่ปุ่น
ห่ามาแล้ว! “แม่สอด” พบติดเชื้ออหิวาต์ เผยญาติฝั่งพม่าซื้อข้าวมากินด้วยกัน
ผกก.สภ.รัตนาธิเบศร์ สั่งตั้งคกก.สอบ "ตร.จราจร" รีดเงินแทนเขียนใบสั่ง
สตม. บุกทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ กลางคอนโดหรูห้วยขวาง รวบ 6 คนจีน อึ้งเจอซิมการ์ด 2 แสนซิม
ครูบาอริยชาติ เชิญชวนพุทธศาสนิกชน ฉลองสมโภช 18 ปีวัดแสงแก้วโพธิญาณ และทำบุญฉลองอายุวัฒนมงคล 44 ปี

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น