“ไทยพีบีเอสมีอะไรอีกเยอะต้องทบทวน พล.อ.ประยุทธ์กล้ามั้ย ระวังรื้อไปจะเจอจอมปลวกแล้วกัน “
คำกล่าวของ แก้วสรร อติโพธิ อดีตกรรมการธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส เคยให้ความเห็น ท็อปนิวส์ ถึงสารพันปัญหาที่เกิดขึ้นภายในสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสที่ใช้งบประมาณจากภาษีบาปสองพันกว่าล้านบาทคุ้มค่าหรือไม่
การสื่อสัญญาณของแก้วสรร มีนัยยะสำคัญยิ่ง เพราะไทยพีบีเอสตอนนี้ไม่ต่างอะไรกับอาณาจักรที่ถูกก่อร่างสร้างตัวของกลุ่มคนที่มาจากสสส.ผ่องถ่ายมายังไทยพีบีเอส
ครั้งหนึ่ง การเปิดข้อมูลความสัมพันธ์ ระหว่างสสส.กับไทยพีบีเอส ได้สร้างความไม่พอใจให้กลุ่มคนเหล่านั้นถึงกับฟ้องร้องดำเนินคดีบุคคลที่รับรู้สร้อยสนกลในความสัมพันธ์
“พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา คือหนึ่งผู้หาญกล้าตรวจสอบเรื่องนี้ จนต้องตกเป็นจำเลย”
ชนวนเหตุของเรื่อง เริ่มต้นเมื่อปี 2559 ในช่วงที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ออกคำสั่งที่ 1 / 2559 ปลดกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จำนวน 7 คน หนึ่งในนั้นมี นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ เมื่อนพ.ยงยุทธถูกปลดออกจากตำแหน่ง เขาได้มาเป็นประธานมูลนิธิไทยพีบีเอส ท่ามกลางข้อครหามูลนิธิไทยพีบีเอสและมูลนิธิอื่นๆที่เขาดูแล ได้รับเงินสนับสนุนจาก สสส. จึงเอื้อประโยชน์ให้กับผู้บริหารสสส.ได้เข้ามาเป็นผู้บริหารในไทยพีบีเอส
ต่อมา พนักงานไทยพีบีเอสได้ทำหนังสือร้องเรียนผ่านสื่อมวลชน รวมถึงส่งจดหมายร้องเรียนมายัง พญ.เชิดชู ที่กำลังตรวจสอบองค์กรสสส.อยู่ขณะนั้นด้วย แต่ในที่สุด พญ.เชิดชู โดนนพ.ยงยุทธ ฟ้องร้องในข้อหาหมิ่นประมาท
“ ตอนที่ คสช.ปลดกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสสส. 7 คน นพ.ยงยุทธ มาเป็นประธานมูลนิธิไทยพีบีเอส ขณะที่ ทพ.กฤษฎา เรืองอารีย์รัชต์ อดีตผู้จัดการสสส.อีกท่านได้ยื่นใบลาออกจากสสส. โดยมีเหตุผลให้คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ตรวจสอบ ว่าตัวเขาสุจริตหรือทุจริตหรือไม่ แต่หลังจาก ทพ.กฤษฎาลาออกไม่นาน ตอนนั้นมีการสรรหา ผอ.ไทยพีบีเอส ปรากฎว่า ทพ.กฤษฎาซึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้จัดการ สสส. ก็ได้มาเป็นผอ.ไทยพีบีเอส”
“ ดิฉันตั้งข้อสงสัย ทำไม ทพ.กฤษฎาลาออกจากสสส.ปุ๊บ อ้างว่าให้ตรวจสอบ แต่จู่ๆได้มาเป็นผอ.ไทยพีบีเอสเลย ทั้งที่ไม่มีคุณสมบัติการทำงานด้านสื่อ ขณะนั้นพนักงานไทยพีบีเอสออกมาแสดงความสงสัยว่า บุคคลนี้มีคุณสมบัติไม่ถูกต้องตามพ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งประเทศไทย ซึ่งดิฉันก็เขียนบทความโดยมีสื่อมวลชนนำไปตีพิมพ์ ทั้งที่ข้อเท็จจริงดิฉันวิจารณ์ทพ.กฤษฏา แต่นพ.ยงยุทธ กลับฟ้องดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาท”
พญ.เชิดชู อธิบายต่อไปว่า เหตุที่นพ.ยงยุทธ ฟ้องเพราะตนไปสงสัยว่า มูลนิธิไทยพีบีเอสรับเงินจากสสส. 10 ล้านกว่าบาท
“เราสงสัยว่าเกี่ยวพันแน่เลย ผู้จัดการสสส.มอบเงินให้มูลนิธิไทยพีบีเอสซึ่งมีนพ.ยงยุทธ เป็นประธาน จึงตอบแทนผู้จัดการสสส.ในช่วงเวลายากลำบาก ด้วยการมอบตำแหน่ง ผอ. ไทยพีบีเอส ทำให้นพ.ยงยุทธเป็นโจทย์ยื่นฟ้องดิฉัน “
นอกจาก สสส.ให้การสนับสนุนมูลนิธิไทยพีบีเอส 10 ล้านบาท พญ.เชิดชู ยังพบว่า สสส.ให้การสนับสนุนโครงการในมูลนิธิที่อยู่ในความดูแลของนพ.ยงยุทธ 3 -4 มูลนิธิ รวมกันเกือบ 300 ล้านบาท ข้อมูลเหล่านี้สื่อมวลชนนำมาจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) โดยสื่อไปเป็นพยานให้พญ.เชิดชูในชั้นศาลยืนยันข่าวนี้เป็นข่าวจริงไม่ได้ใส่ความ
ขณะเดียวกัน จากการที่นพ.ยงยุทธ ฟ้องร้องพญ.เชิดชู ทำให้สาธารณะชนได้รับรู้ความสัมพันธ์ ระหว่าง สสส.กับไทยพีบีเอสมากยิ่งขึ้น
“เมื่อเราถูกฟ้องจึงได้รับทราบข้อมูลหลายๆอย่างที่เรียกมาในชั้นศาล เช่น การสรรหา ผอ.ไทยพีบีเอส ซึ่งมีคณะกรรมการสรรหาที่แต่งตั้งขึ้น ตามพ.ร.บ. องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ตอนนั้นมีการ เสนอชื่อทพ.กฤษฎา แต่เมื่อเข้าสู่กระบวนการคัดเลือก กรรมการไม่ได้เลือกทพ.กฤษฏาด้วยเสียงสองในสาม แต่ในกรรมการสรรหาให้ประชุมกันถึงห้าครั้งกว่าจะได้ทพ.กฤษฏา เป็นผอ.ไทยพีบีเอส ”
“และตอนนั้น ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ซึ่งเป็นผู้จัดการสสส.ต่อจาก ทพ.กฤษฏา พอได้รับเลือกเป็นผู้จัดการสสส. เขาพูดเองในชั้นศาลว่า รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล เป็นภรรยา เมื่อก่อนทำงานที่ขอนแก่น ต่อมาย้ายมาทำงานกับ ดร.สุปรีดาที่สสส. โดยดร.สุปรีดามีความรู้สึกว่า ถ้าสามีภรรยาทำงานในองค์กรเดียวกัน เกรงข้อครหามีผลประโยชน์ทับซ้อน จึงให้ภรรยาลาออกจากสสส. และมาสมัครงานไทยพีบีเอส ต่อมา รศ.ดร.วิลาสินี ได้รับเลือกแต่งตั้งเป็นพนักงานไทยพีบีเอส แต่อยู่ไม่นาน เพราะขณะที่ทพ.กฤษฎาเป็นผอ.ไทยพีบีเอสเลือก รศ.ดร.วิสาสินีเป็นรองผอ. มาเจอข้อหาซื้อหุ้นกู้ซีพีเอฟ ทำให้ ทพ.กฤษกฎาและรศ.ดร.วิลาสินี ลาออก ”
พญ.เชิดชู กล่าวถึงกรณี ทพ.กฤษฎา และรศ.ดร.วิลาสินี ร่วมลงนามซื้อหุ้นกู้ซีพีเอฟจนต้องลาออก โดยนพ.ยงยุทธ ยื่นเอกสารในชั้นศาลว่า ไทยพีบีเอสสั่งตั้งกรรมการสอบสวนแล้ว พบว่า ทพ.กฤษฎาและรศ.ดร.วิลาสินีไม่มีความผิดซื้อหุ้นกู้ได้ แต่จริงๆเป็นที่น่าสงสัยว่า กองทุนไทยพีบีเอสได้มาจากภาษีบาปสองพันกว่าล้าน แล้วจำเป็นหรือเปล่าที่ซื้อหุ้นกู้เหมือนทำธุรกิจ ซึ่งเราไม่รู้ว่าคำตอบคืออะไร
“แต่ที่แน่ๆ ทันทีที่ทพ.กฤษฎาลาออก รศ.ดร.วิลาสินี ก็ได้รับสรรหาเป็นผอ.ไทยพีบีเอส เพราะฉะนั้นพนักงานไทยพีบีเอสคงรับรู้เรื่องว่า พญ.เชิดชู มีประเด็นอยู่กับ นพ.ยงยุทธ ทำให้พนักงานไทยพีบีเอสเขียนจม.มาถึงหมอว่า เป็นประโยชน์ทับซ้อนหรือเปล่า
“การที่ดร.สุปรีดาเป็นสามีของรศ.ดร.วิลาสินี แล้วมาเป็นกรรมการสรรหาเลือกรศ.ดร.วิลาสินี ซึ่งมีจม.ไทยพีบีเอสร้องเรียนมาถึงสำนักข่าวต่างๆและมาถึงหมอด้วย ซึ่งเรารับทราบและไม่รู้จะทำอย่างไรได้ ฉะนั้น มีความเกี่ยวพันระหว่างสสส.กับไทยพีบีเอส และปัจจุบันนี้ ผอ.ไทยพีบีเอสเป็นภรรยาของผู้จัดการ สสส.เลือกกันไปเลือกกันมา”
พญ.เชิดชู ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า อย่าลืมว่าสสส.ให้งบประมาณสนับสนุนองค์กรสื่อเยอะมาก เช่น มีการจัดตั้งสถาบันอิศรา ตั้งมูลนิธิอิศรา เคยมีการออกรายการ “เถียงกันให้รู้เรื่อง ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ” วันนั้นมีคนแย้งว่าสถาบันอิศราไม่สามารถรับเงินสสส.ได้ แต่มูลนิธิรับได้ เคยเป็นข่าวแต่ตอนนี้ถูกลบไปแล้ว มูลนิธิอิศรารับเงินสสส.ไปแล้วเกือบร้อยล้านมีชื่อผู้บริหารสื่อที่มาเป็นกรรมการสรรหาผอ.ไทยพีบีเอส
“ทั้งผู้บริหารองค์กรสื่อ ทั้งผู้จัดการสสส. ตรงนี้เป็นความสัมพันธ์ทางกฎหมาย สามีเลือกภรรยาได้ ซึ่งตรงนี้ ก็คือผลประโยชน์ทับซ้อนเอื้อประโยชน์ระหว่างสสส.กับไทยพีบีเอสหรือไม่
พญ.เชิดชู ใช้เวลาต่อสู้คดีนี้ถึงห้าปี ด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์ที่ต้องการรักษาผลประโยชน์องค์กรสื่อสาธารณะที่กินภาษีบาป สองพันกว่าล้านบาท ในที่สุด ศาลฏีกายกคำร้องให้เธอชนะคดี
พญ.เชิดชู เห็นพ้องกับอดีตกรรมการนโยบายไทยพีบีเอสหลายท่านว่า ไทยพีบีเอสสมควรต้องได้รับการทบทวนแก้ไขกฎหมาย ขจัดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน ผลิตรายการให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ชม
“ที่ผ่านมามีการตรวจสอบหรือไม่ว่า มีคนดูไทยพีบีเอสกี่คน บางคนบอกไม่มีคนดูเลย ดิฉันไม่เคยดู” พญ.เชิดชู กล่าวทิ้งท้ายเพื่อหวังให้มีการรื้ออาณาจักรไทยพีบีเอสกันสักที