"รัมเซย์ ฮันต์ ซินโดรม" หรืออาการอัมพาตหน้าครึ่งซีก กรมการแพทย์เผย สามารถพบได้ทุกวัย แม้ไม่มีโรคประจำตัว
ข่าวที่น่าสนใจ
เมื่อวันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา กรมการแพทย์ โดยสถาบันประสาทวิทยา ออกมาเตือน “รัมเซย์ ฮันต์ ซินโดรม” เชื้อไวรัสทำลายเส้นประสาท อัมพาตหน้าครึ่งซีก สามารถพบได้ทุกช่วงอายุ เน้นย้ำ สังเกตอาการแยกจากโรคหลอดเลือดสมอง
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคนี้เป็นโรคที่เกิดจาก Varizella Zoster Virus ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกันกับที่ทำให้เกิดอาการของโรคอีสุกอีใส ซึ่งคนที่เคยเป็นโรคนี้แล้วตัวไวรัสอาจจะยังอยู่ในร่างกาย โดยไม่ก่อให้เกิดโรคได้หลายปี แต่เมื่อก่อโรคก็จะเป็นสาเหตุให้เกิดการอักเสบ โดยเฉพาะในตำแหน่งที่ทำให้เกิดโรค
อาการของโรค
- จะเริ่มต้นจากอาการอักเสบทั่วไป ซึ่งเกิดขึ้นเฉพาะที่ผู้ป่วยจะมีอาการปวด บวม แดง ร้อน
- ในตำแหน่งบริเวณใบหูของข้างที่เกิดอาการ
- หรืออาจจะมีไข้ต่ำ ๆ รู้สึกไม่สบายตัวร่วมด้วยได้
- หลังจากนั้นจะพบตุ่มน้ำใส ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของไวรัสขนิดนี้ เกิดขึ้นที่บริเวณใบหู
- โดยตุ่มน้ำจะทำให้รู้สึกแสบ ๆ คัน ๆ หรือแสบร้อนมากกว่าตุ่มคันทั่ว ๆ ไป
- การอักเสบติดเชื้อดังกล่าวจะทำให้เส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 ซึ่งทำหน้าที่ในการเลี้ยงกล้ามเนื้อใบหน้า หูชั้นใน และการรับรสบางส่วนเกิดการอักเสบ
- ทำให้ผู้ป่วยมีอาการอัมพาตใบหน้าครึ่งซึก
- หลับตาไม่สนิท ทำให้มีอาการเคืองตา
- หรือล้างหน้าแล้วแสบตา เนื่องจากน้ำสบู่เข้าตา เป็นต้น
นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า การขยับกล้ามเนื้อใบหน้าที่เป็นอัมพาตทำให้การพูด การออกเสียง การดื่มน้ำและรับประทานอาหารมีปัญหา อาการจะคล้ายกับอาการเส้นประสาทใบหน้าอักเสบชนิด Bell’s Palsy ซึ่งเป็นการอักเสบของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 เช่นกัน แต่มักจะไม่พบสาเหตุชัดเจน และไม่มีอาการของผื่นหรือตุ่มน้ำใส เนื่องจาก อาการอัมพาตของใบหน้าที่เกิดขึ้นเพียงครึ่งซึก ส่วนใหญ่จะค่อย ๆ เป็นมากขึ้นในวันนั้นหรือข้ามวัน
แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจจะไม่ได้สังเกตอาการตอนเริ่มต้น ทำให้เข้าใจว่าอาการเกิดขึ้นทันทีทันใด ซึ่งจำเป็นต้องแยกจากอาการของกลุ่มโรคหลอดเลือดสมองด้วย เนื่องจาก เส้นประสาทดังกล่าวมีส่วนในการรับรส ทำให้การรับรสผิดปกติ และส่วนที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อในหูชั้นใน เช่น อาการหูอื้อ มีเสียงดังในหู หรือการได้ยินผิดปกติร่วมด้วยได้
แพทย์วินิจฉัยจากการซักประวัติ ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส ร่วมกับการรักษาตามอาการ และการทำกายภาพบำบัด ซึ่งในกรณีที่มีการอัมพาตของกล้ามเนื้อใบหน้า อาจจะใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟูจนกลับมาใกล้เคียงกับปกติประมาณ 3 เดือน ขึ้นกับระดับความรุนแรงและความเสียหายที่เกิดขึ้น และขึ้นกับความสามารถของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อในการฟื้นตัวด้วย
โรคที่เกิดจากการอักเสบของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 และทำให้เกิดอาการอัมพาตครึ่งซึกของใบหน้า สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย แม้ไม่ได้มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงใด จึงไม่มีแนวทางหรือวิธีในการป้องกันการเกิดโรคที่ชัดเจน การป้องกันจึงมุ่งเน้นไปที่การดูแลสุขภาพโดยรวม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และเมื่อพบว่ามีความผิดปกติ การเข้ารับการตรวจรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้ผลของการรักษาและการฟื้นฟูนั้นมีประสิทธิภาพที่ดีกว่า
ข้อมูล : กรมการแพทย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง