เมื่อวานที่ผ่านมา(1 ก.ค. 2564) พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผบช.น. พร้อมด้วย พล.ต.ท.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร จตร.ฯ ปฏิบัติราชการ บช.น. พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ ผบก.น.5 และ นางพอฤทัย ณรงค์เดช ผู้แทนจากมูลนิธิ บุณยะจินดา ได้เดินทางมายัง สน.ลุมพินี เพื่อให้กำลังใจข้าราชการตำรวจ สน.ลุมพินี พร้อมทั้งมอบถุงยังชีพแก่ตำรวจ สน.ลุมพินี และครอบครัว ในช่วงการปฏิบัติหน้าที่สนับสนุนมาตรการควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Buble and Seal) แคมป์คนงานก่อสร้าง ซึ่งในพื้นที่ สน.ลุมพินี มีแคมป์คนงาน จำนวน 7 แห่ง คนงานกว่า 2,680 คน
ขณะเดียวกันได้ร่วมประชุมระหว่าง บช.น. มูลนิธิบุณยะจินดา ผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างในเขตพื้นที่สนลุมพินี สำนักงานเขต เจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับฟังข้อปัญหาและชี้แจงแนวทางการปฏิบัติ ในกรณีมีการสั่งปิดแคมป์คนงาน เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ซึ่งจากการสอบถามทุกแคมป์ พบว่ามีความตั้งใจในการปฏิบัติตามมาตรการที่ภาครัฐกำหนด และประสานไปยังเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิด
โดยผู้ประกอบการที่เข้าร่วมประชุมทุกคน ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายได้เข้ามาช่วยกันควบคุม แก้ไขปัญหา ซึ่งมีความตั้งใจในการปฏิบัติงาน ทาง ผบช.น. จึงเน้นย้ำในที่ประชุมว่า หากพบว่ามีเจ้าหน้าที่คนใดที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ซ้ำเติมผู้ประกอบการในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ขอให้แจ้งได้ที่ ผกก. ทุก สน. เพื่อที่ทาง บช.น. จะได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ทันที
ส่วนเรื่องการจัดอาหาร น้ำดื่ม สิ่งของจำเป็นในการใช้ชีวิตให้กับคนงาน ที่ยังอาจไม่เพียงพอในบางจุด ทางมูลนิธิบุณยะจินดาได้ร่วมมือกับ บช.น. เพื่อทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการนำสิ่งของจำเป็น อาทิ อาหาร น้ำดื่ม ฯลฯ ไปมอบให้กับแคมป์คนงานต่าง ๆ รวมทั้งให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจและครอบครัว ซึ่งต้องปฏิบัติหน้าที่เพื่อควบคุมและเฝ้าระวัง ตลอด 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ บช.น. มีภารกิจในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หลังจาก ศบค. มีข้อกำหนด ฉบับที่ 25 มีผลตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย.64 แบ่งออกเป็น 5 ส่วน คือ
- จัดกำลังสนับสนุนมาตรการควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Buble and Seal) แคมป์คนงานก่อสร้าง ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหาร สำนักงานเขต โดยจัดกำลังเฝ้าระวังพื้นที่แคมป์คนงานก่อสร้าง ตลอด 24 ชม. แคมป์ละ 2 นาย/ผลัด (แบ่งการปฏิบัติเป็น 4 ผลัด ผลัดละ 2 นาย) ซึ่งผลการสำรวจแคมป์คนงานก่อสร้างในพื้นที่ กทม. มีจำนวน 264 แคมป์ รวมใช้กำลังพล จำนวน 2,112 นาย โดยเป็นการบูรณาการกำลังจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น ฝ่ายป้องกันปราบปราม จราจร สืบสวน ธุรการ สับเปลี่ยนหมุนเวียนมาทำหน้าที่ดังกล่าว ตามาตรการควบคุมและเฝ้าระวังที่กำหนดโดย ศบค. อย่างเคร่งครัด
- จัดกำลังสนับสนุนมาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามจังหวัด ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหาร กทม. โดยจัดกำลังประจำจุดตรวจ จำนวน 6 จุด ในเส้นทางรอยต่อสำคัญเข้า-ออก กทม. จุดละ 4 นาย/ผลัด (แบ่งการปฏิบัติเป็น 4 ผลัด ผลัดละ 4 นาย) รวมใช้กำลัง 96 นาย โดยมอบหมายให้ บก.จร. สนับสนุนกำลังประจำจุดตรวจ จุดละ 3 นาย/ผลัด และให้ สวป. พื้นที่เป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติในภาพรวม โดยกำชับเรื่องการตรวจป้องกันยานพาหนะที่ใช้ในการขนย้ายแรงงานออกนอกพื้นที่ กทม. เพื่อหลบเลี่ยงกรณีการปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง
- การเปิดศูนย์ 191 เป็นศูนย์เพิ่มช่องทางในการรับแจ้งเหตุผู้ป่วยโควิด-19 ส่งต่อข้อมูลให้หน่วยงานทางการแพทย์ ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โดยได้เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 เม.ย.64 ซึ่งมีการโทรเข้ามาขอรถพยาบาล/เตียงผู้ป่วย จำนวน 860 ราย ได้รับการนำส่ง รพ. แล้ว จำนวน 725 ราย และเป็นการโทรมาขอคำปรึกษาอื่น ๆ จำนวน 2,063 ราย
- การจัดชุดสายตรวจร่วมประจำ สน. เพื่อร่วมตรวจสถานที่เสี่ยง/มีคำสั่งปิดตามประกาศ กทม. ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับสำนักงานเขต อย่างน้อย สน. ละ 2 นาย ซึ่งมีการออกตรวจเป็นประจำอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การระบาดรอบที่ 3 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา
- การจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว สำหรับแก้ปัญหา ช่วยเหลือประชาชน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีเกิดเหตุเร่งด่วนเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ โดยเป็นกำลังที่ปฏิบัติหน้าที่ปกติภายใน สน./บก. เตรียมพร้อมวันละประมาณ 409 นาย อยู่ประจำแต่ละ สน./บก. พร้อมสนับสนุนการปฏิบัติดังกล่าวเมื่อได้รับการร้องขอ
ทั้งนี้ บช.น. และ มูลนิธิบุณยะจินดา ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกภาคส่วน ในการต่อสู้กับโรคโควิด-19 และพร้อมเป็นสื่อกลางในการรับการช่วยเหลือจากพี่น้องประชาชนผู้มีจิตศรัทธา ที่ต้องการนำสิ่งของจำเป็น อาหาร น้ำดื่ม มอบให้กับคนงานที่อยู่ตามแคมป์ต่างๆ โดยสามารถติดต่อได้ที่ บช.น. หรือมูลนิธิบุณยะจินดา (ถนนวิภาวดีรังสิต) หรือสถานีตำรวจนครบาลทุกแห่งที่มีแคมป์คนงาน เพื่อนำส่งให้กับผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนต่อไป