"ภาวะหัวใจล้มเหลว" แพทย์เผย ผู้ป่วยควรทานอาหารอย่างไรให้ปลอดภัยและเหมาะสม เตือน ทานเค็ม โซเดียมสูง อันตรายถึงชีวิต
ข่าวที่น่าสนใจ
กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคทรวงอก เตือน ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีโซเดียมน้อย เค็มน้อย หากทานอาหารที่มีโซเดียมมาก เค็มมาก อาจส่งผลให้เกิดภาวะน้ำคั่ง น้ำท่วมปอด ซึ่งทำให้อาการที่เป็นอยู่เพิ่มความรุนแรงและอาจเสียชีวิตได้
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โซเดียม คือ แร่ธาตุอย่างหนึ่ง มีหน้าที่หลักในการรักษาสมดุลของน้ำและอิเลคโตรไลท์ (electrolyte) ในร่างกาย ควบคุมระดับความดันโลหิต ร่างกายมีการขับน้ำและแร่ธาตุ รวมถึงโซเดียมได้ 3 ทาง ได้แก่
- ปัสสาวะ
- เหงื่อ
- อุจจาระ
ซึ่งใน 1 วัน ความต้องการสูงสุดของโซเดียมที่ร่างกายควรได้รับและไม่ทำให้เกิดอันตรายอยู่ที่ 2,400 มิลลิกรัม หรือประมาณ 1 ช้อนชา โดยโซเดียมมักอยู่ในเกลือ และสารให้ความเค็มต่าง ๆ เช่น น้ำปลา ซีอิ๊ว กะปิ นอกจากนี้ โซเดียมอาจจะอยู่ในอาหารที่ไม่มีรสชาติเค็มอีกด้วย เช่น เบเกอรี่เเละขนมอบ ที่มีส่วนประกอบ อาทิเช่น ผงฟู เป็นสารที่ทำให้ขนมปังขึ้นฟู โซเดียมอัลจิเนต ผลิตภัณฑ์ที่เป็นเนื้อเจลให้ความข้นหนืด ผงกันบูด เพื่อยืดอายุการเก็บรักษา เป็นต้น
นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การรับประทานอาหารรสเค็มมากไปต่อเนื่องเป็นประจำ ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทำให้ความดันโลหิตสูง หัวใจทำงานหนักขึ้น และอาจนำไปสู่ “ภาวะหัวใจล้มเหลว”ภาวะหลอดเลือดในสมองแตกหรืออัมพาตได้ ดังนั้น การจำกัดและควบคุมปริมาณเกลือโซเดียม สามารถช่วยควบคุมและป้องกันความดันโลหิตสูง รวมทั้งป้องกันการเกิดภาวะ หัวใจล้มเหลว ลดภาวะบวมน้ำ ในผู้ป่วยโรคหัวใจและโรคไตได้
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่
- อาหารแปรรูปต่าง ๆ จำพวกอาหารกระป๋องทุกชนิด อาหารหมักดอง อาหารรสเค็ม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป
- ขนมกรุบกรอบ เนื้อเค็ม ไข่เค็ม ปลาเค็ม ปลาร้า ผัก/ผลไม้ดอง
- เค้ก คุกกี้ แพนเค้ก ขนมปัง ที่มีผงฟูเป็นส่วนประกอบในการทำอาหาร
- เครื่องดื่มเกลือแร่ เป็นต้น
สำหรับอาหารที่ควรเลือกรับประทานและส่งผลดีต่อผู้ป่วย ได้แก่
- อาหารที่ผ่านการแปรรูปน้อยที่สุด หรือประกอบอาหารทานเองซึ่งจะสามารถควบคุมปริมาณเครื่องปรุงได้
- อาหารที่มีปริมาณโปแตสเซียมสูง เช่น ผักใบเขียวและผลไม้
- ควรลดความถี่ของการบริโภคอาหารที่ต้องมีเครื่องปรุงน้ำจิ้ม และลดปริมาณน้ำจิ้ม
- นอกจากนี้ การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ ก็ยังเป็นวิธีพื้นฐานที่จะช่วยให้เรามีสุขภาพที่ดีได้
- รวมถึงการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีก็เป็นเรื่องสำคัญที่ควรทำเช่นกัน
ข้อมูล : กรมการแพทย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง